xs
xsm
sm
md
lg

"สว่านเจาะปาล์ม" โค่นปาล์มผลผลิตน้อยใน 20 วินาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สว่านเจาะปาล์ม ผลงานเจ้าของรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 50 โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ
"ปาล์ม" พืชเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเกษตรกร เป็นทั้งอาหารและให้พลังงาน แต่ปาล์มที่ให้ผลผลิตไม่ดีอย่างปาล์มอายุมาก ปาล์มตัวผู้ หรือปาล์มพื้นเมือง กลายเป็นปัญหาที่ยากต่อการกำจัด เนื่องจากโค่นถอนได้ยาก อดีตข้าราชการจากเมืองคอนจึงคิดค้น "สว่านเจาะปาล์ม" ขึ้น

นายฉกาจ ชัยภัทรกุล อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผู้คิดค้น "สว่านเจาะปาล์ม" เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การเจาะโคนปาล์มและหยอดยาจะเป็นวิธีทำลายปาล์มได้ดีที่สุด เขาจึงพัฒนาสว่านเจาะปาล์มขึ้น โดยใช้เครื่องยนต์ขนาด 5.5 แรงม้า สว่าน และรถเข็นสองล้อ ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งหลังจากลองผิดลองถูกประมาณ 1 ปี สิ่งประดิษฐ์นี้ก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ดูง่ายแต่ใช้การได้ดี ด้วยต้นทุนเพียง 1.5 หมื่นบาท

เจ้าของผลงานประดิษฐ์ เผยว่า การทำลายปาล์มด้วยวิธีดังกล่าวจะใช้สว่านเจาะปาล์มเจาะโคนปาล์มที่ความสูง 1 เมตร เพื่อให้เกิดรูที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และมีความลึกประมาณ 60 ซม. แล้วต่อสายยางหยอดสารพาราควอตหรือไกลโฟเซตเข้มข้นประมาณ 100 ซี.ซี. เข้าไปทำลายท่อน้ำและท่ออาหารของต้นปาล์มทั้งหมด

"วิธีนี้จะทำให้ต้นปาล์มยืนต้นตายใน 2 สัปดาห์ และค่อยๆ ผุพัง และหักพับจากด้านบนสู่ด้านล่าง จนกลายเป็นปุ๋ยพืชทั้งหมดในเวลา 2 ปี ขณะที่สารเคมีที่ใช้จะสลายตัวไปเองตามธรรมชาติ และระหว่างนั้น เกษตรกรยังสามาถนำปาล์มต้นใหม่หรือพืชอื่นๆ มาปลูกแซมได้ทันที" นายฉกาจเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นอกจากนั้น สว่านเจาะปาล์มจะช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนโค่นปาล์มเหลือเพียงต้นละประมาณ 30-50 บาท จากเดิมที่ต้องใช้เลื่อยยนต์ รถแบกโฮหรือรถแทรกเตอร์ซึ่งมีต้นทุนถึง 150-200 บาท นอกจากนี้ยังใช้เวลาน้อย ไม่ถึง 20 วินาทีในการกำจัดปาล์มแต่ละต้น ในหนึ่งวันจึงทำลายต้นปาล์มได้ถึง 25-30 ไร่ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของสว่านเจาะปาล์มในการรับจ้างทำลายปาล์มได้มาก

ทั้งนี้สิ่งประดิษฐ์ของอดีตอาจารย์เมืองคอนยังคว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2550 ทางด้านการเกษตร ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ พร้อมกันนี้เขาได้จดสิทธิบัตรคุ้มครองไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้สนใจต่อไป.
นายฉกาจ ซึ่งเขารับโล่รางวัลจากนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น