xs
xsm
sm
md
lg

มาได้ไง ?! ทั้งฟ้าคะนองทั้งลูกเห็บกลางหน้าร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พายุลูกเห็บในโคลัมเบียเมื่อเดือน มี.ค. 2549 (ภาพจาก en.wikipedia.org)
เพิ่งจะเข้าสู่หน้าร้อนไปหมาดๆ แต่พระพิรุณบันดาลให้น้ำฟ้าเทกระหน่ำลงมาแบบไม่เกรงใจใครหน้าไหน ยิ่งในเมืองหลวงที่การจราจรติดขัดอยู่เป็นนิจ พอเจอฝนฟ้าคะนองทีไรต้องกลายเป็นอัมพาตทุกที ไปอย่างไม่มีทางเลี่ยง และเดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีลูกเห็บตกเป็นของแถมให้คนกรุงอีกด้วย ทั้งที่เมื่อก่อนลูกเห็บจะแถมให้เฉพาะในต่างจังหวัดทั้งนั้น แล้วทราบกันไหมว่า "ลูกเห็บ" เกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อช่วงหลังสงกรานต์เกิดพายุฝนฟ้าคะนองถล่มเมืองกรุง จนการจราจรเป็นอัมพาต และยังมีรายงานว่าเกิดลูกเห็บตกในพื้นที่บางเขตด้วย ทำเอาหลายคนที่ทราบข่าวพากันตื่นเต้น เพราะไม่เคยได้ยินว่ามีลูกเห็บตกในกรุงเทพมหานครมาก่อน

บางคนก็ชักสงสัยเพิ่มขึ้นอีกว่า เจ้าลูกเห็บที่ว่านี้เป็นอย่างไร? ซึ่งบางคนพอจะรู้มาบ้างว่ามันก็คือก้อนน้ำแข็งนั่นเอง แต่เหตุไฉนจึงตกลงมาจากฟากฟ้าได้เล่า? ทำไมไม่ตกลงมาเป็นน้ำเหมือนน้ำฝนทั่วไป

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุไว้ว่า "ลูกเห็บ คือ หยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาในลักษณะเป็นก้อน" ราวกลับว่าก้อนน้ำแข็งตกลงมาจากฟากฟ้า ขนาดของลูกเห็บแต่ละก้อนเล็กใหญ่ต่างกัน โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดตั้งแต่ 0.5 - 5 เซนติเมตร หรืออาจใหญ่กว่านั้น ซึ่งมักตกลงมาเป็นก้อน หรือเกาะรวมกันเป็นก้อนขรุขระก็ได้

หากจะบอกว่าลูกเห็บเป็นน้ำฝนที่แข็งตัวก็คงไม่ถูกต้องนัก ทางกรมอุตุฯ จึงชี้ชัดและแจกแจงว่า ฝน คือหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาในรูปของเหลว

ส่วนลูกเห็บ คือ หยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาในรูปของแข็งหรือเป็นน้ำแข็งนั่นเอง
และหยาดน้ำฟ้าหรือน้ำฟ้านั่นก็คือ ปรากฏการณ์ของไอน้ำที่กลั่นตัวเป็นละอองเม็ดน้ำ ตกลงมาจากเมฆถึงพื้นดินในรูปลักษณะต่าง ๆ อาจจะเป็นของเหลว เช่น ฝน หรือของแข็ง เช่น หิมะ, ลูกเห็บ นั่นเอง

ในประเทศไทยช่วงเวลาที่เกิดลูกเห็บมักเป็นช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในฤดูร้อน ระหว่างเดือน ก.พ.- พ.ค. และมักเกิดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคอื่นเช่นกัน

เอ! ช่วงเดือน ก.พ. - พ.ค. เป็นช่วงฤดูร้อนอยู่นี่นา แล้วทำไมจึงเกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าฝนสักหน่อย

ตามรายงานของศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติ กรมอุตุฯ ได้บอกไว้ว่า ฤดูร้อนในประเทศไทยจะเริ่มต้นประมาณกลางเดือน ก.พ. ไปจนถึงกลางเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นระยะที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ ส่งผลให้เวลาเที่ยงวันในช่วงเดือน เม.ย. ของไทย เป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงศรีษะพอดี

ดังนั้นเราจึงได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์กันอย่างเต็มที่ ชนิดที่ฝรั่งผมทองต้องอิจฉา และด้วยสภาพดังกล่าวทำให้อากาศทั่วไปร้อนอบอ้าวมาก ซึ่งอากาศร้อนแค่ไหนวัดได้ด้วยอุณหภูมิ หากมีอุณหภูมิระหว่าง 35.0 - 39.9 องศาเซลเซียส เรียกได้ว่า อากาศร้อน หากอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40.0 องศาเซลเซียสขึ้นไป เรียกว่า อากาศร้อนจัด

อากาศที่ร้อนระอุถึงขั้นทะลุปรอทในช่วงฤดูร้อนนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องที่ไม่ปกติอย่างพายุฝนฟ้าคะนองในช่วงนี้ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ขณะที่เกิดอากาศร้อนอบอ้าวและอุณหภูมิสูงในประเทศไทย มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนก็แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็น กับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว จึงก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หรืออาจมีพายุลูกเห็บตกตามมาก็ได้ ซึ่งการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงในฤดูร้อนแบบนี้เองจึงเรียกว่า พายุฤดูร้อน

พายุฤดูร้อน ส่วนมากจะเกิดระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. โดยจะเกิดบ่อยครั้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก จะมีเกิดน้อยครั้งกว่า

ส่วนภาคใต้ก็สามารถเกิดได้แต่ไม่บ่อยนัก โดยพายุฤดูร้อนจะเกิดใน ช่วงที่มีลักษณะอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน แล้วมีกระแสอากาศเย็นจากความกดอากาศสูงในประเทศจีนพัดมาปะทะกัน เกิดฝนฟ้าคะนอง พายุลมแรง และอาจมีลูกเห็บตกได้

ส่วนพายุลูกเห็บนั้น ลูกเห็บจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสภาพอากาศที่ปั่นป่วนรุนแรง มักจะเกิดขึ้นจากพายุฝนฟ้าคะนองที่มีเมฆก่อตัวสูงมาก กระแสอากาศที่เคลื่อนที่ขึ้นไปในระดับสูงมาก ทำให้หยดน้ำเริ่มแข็งตัวเป็นหยดน้ำแข็ง มีหยดน้ำอื่น ๆ รวมเข้าด้วยกันสะสมจนมีขนาดโตขึ้น และในที่สุดเมื่อกระแสอากาศพยุงและรับหน้าที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว ก็จะตกลงมาเป็นลูกเห็บ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เบื้องล่างๆ ได้

อย่างไรก็ดี พายุฤดูร้อนที่ก่อให้เกิดฝนตก ฟ้าคะนอง และพายุลูกเห็บ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้

ฉะนั้นขณะเกิดฝนตกฟ้าร้องก็ควรหลบเข้าไปอยู่ในที่ร่ม ไม่ควรอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่โดดเดี่ยว และอยู่ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งงดใช้อุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือลิฟต์ และควรดูแลบ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ให้แข็งแรงปลอดภัยอยู่เสมอ เช่น หลังคาบ้าน หรือต้นไม้ใกล้บ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของพวกเราทุกคน.
ลูกเห็บที่ดูราวกับก้อนน้ำแข็ง (ภาพจาก www.bbc.co.uk)
ลูกเห็บที่ตกลงมาจนมองดูคล้ายกับพรมน้ำแข็งที่ปูเต็มสนามหญ้า (ภาพจาก www.umsu.de)
ถ้าบ้านเรือนไม่แข็งแรง เมื่อต้องเจอกับพายุฤดูร้อนและพายุลูกเห็บอาจต้องมีสภาพเป็นเช่นนี้ได้ (ภาพจากแฟ้ม)
พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดในหน้าร้อนหรือพายุฤดูร้อนมักนำพาให้เกิดพายุลูกเห็บร่วมด้วย (ภาพจากแฟ้ม)
สนามหญ้าที่เต็มไปด้วยลูกเห็บที่ดูเหมือนก้อนสำลี แต่ลูกเห็บเหล่านี้หาได้เบาและนุ่มนวลดุจสำลีไม่ (ภาพโดย Soon Chun Siong)
กำลังโหลดความคิดเห็น