xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู "ทูตไบเออร์" ปลูกข้าวแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ "บ้านควาย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดำนา ขั้นตอนการปลูกข้าวที่ทำให้ข้าวเติบโตอย่างเป็นระเบียบและเก็บเกี่ยวได้ง่าย
"ฉันขี่ไอ้ทุยวิ่งลุยท้องนา ฉันคนบ้านป่าหน้าตาเหมือนโจร แต่งตัวก็เชยหนักหนา ดูหน้าดูตาก็มีแต่โคลน ต่อให้ตะโกนเธอก็ไม่มา..."

บรรยากาศที่เต็มไปด้วยกลิ่นโคลนสาบควายในแบบบทเพลงลูกทุ่งอมตะนี้ดูจะหาดูได้ยากเต็มที ด้วยรูปแบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปส่งผลให้วิถีชาวนาที่พึ่งพิงแรงงานและปุ๋ยบำรุงดินจากเจ้าทุยเพื่อนยากต้องเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งพาเครื่องจักร ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตสู่การส่งออกมากกว่าอยู่อย่างพอเพียง

แต่ก่อนที่วิถีชาวนาแบบไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมจะหายไปจากผืนนาไทย "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ก็มีโอกาสได้ไปสัมผัสชีวิตแบบลูกทุ่งใกล้ๆ กรุง ณ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับเยาวชนกว่า 40 ชีวิตจากโครงการทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อมของ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ภายในค่าย "อนุรักษ์วิถีชาวนาไทยเพื่อความเป็นอยู่อย่างพอเพียง" เมื่อวันที่ 26-27 เม.ย.51 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกๆ หน้าร้อนเยาวชนจำนวนหนึ่งในโครงการทูตไบเออร์ทุกรุ่นจะรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมสำหรับสิ่งแวดล้อม

หลายคนอาจไม่รู้ว่าควายซึ่งเคยเป็นแรงงานหลักประจำท้องทุ่ง แทนที่จะเป็นอาหารในชามก๋วยเตี๋ยวอย่างทุกวันนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ "ควายปลัก" หรือควายไทยที่ชอบแช่ปลัก-แช่โคลน กับ "ควายแม่น้ำ" หรือควายแขกซึ่งเป็นควายสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในแถบประเทศอินเดียเพื่อไว้รีดนมมากกว่าใช้แรงงานและชอบแช่อยู่ในน้ำสะอาด

ในควายสายพันธุ์หลักๆ นี้เรายังอาจพบควายลักษณะแปลกๆ อาทิ ควายด่อนหรือควายเผือกซึ่งเป็นควายที่ตลอดทั้งตัวเป็นสีขาวค่อนชมพู ควายแคระซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้มีรูปร่างๆ เล็กกว่าควายทั่วๆ ไป เป็นต้น

ภายในหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยได้ไถ่ชีวิตควายจากโรงฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเลี้ยงไว้กว่า 300 ตัวแล้ว ในจำนวนนั้นมี "ควายดารา" ที่คอยแสดงความสามารถให้ชม ณ ลานแสดงควาย ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นว่าควายที่นี่ "ยิ้มได้" สามารถยกขาซ้าย-ขวาได้ตามคำสั่งครูฝึก หรือแม้กระทั่งแกล้งตายก็ยังได้

นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เห็น "พญาควาย" ที่มีลักษณะเด่นๆ คือมีสีขาวเป็นรูปโพธิอยู่ตรงกลางหน้า หางเป็นพวงสีขาว กีบด่าง ขาทั้งสี่ด่างเหมือนสวมถุงเท้าขาว

"คนโบราณเชื่อกันว่าหากบ้านไหนมีพญาควายมีไว้ครอบครองจะเป็นสิริมงคลแก่บ้านหลังนั้น จะพบแต่ความเจริญ" วิทยากรภาคสนามประจำลานแสดงควายให้ความรู้

"พญาควายเมื่อโตเต็มที่จะสูงได้ถึง 180 เซนติเมตร มีอายุยืนถึง 45 ปี พญาควายจะคอยเป็นจ่าฝูงดูแลควายตัวอื่นๆ แต่ถ้าหากใครนำพญาควายไปฆ่ากินก็จะพบแต่ภัยพิบัติต่างๆ นานา" วิทยากรคนเดิมอธิบายต่อ ซึ่งในหมู่บ้านควายนี้มีพญาควายอยู่ 1 ตัวชื่อ "โพธิทอง" ซึ่งมีอายุได้ 8 ปีแล้ว

หลังจากเรียนรู้เกี่ยวกับควายแล้วก็ถึงเวลาที่เยาวชนทั้งหลายจะได้ลุยโคลน "ดำนา" เพื่อให้เข้าถึงวิถีแห่งชาวนา ซึ่งกว่าจะดำนาได้ชาวนาต้องเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวโดยการ "ไถดะ" คือไถดินลงไปให้ลึกที่สุดเพื่อผลิกหน้าดินและทำลายวัชพืช

จากนั้น "ไถแปร" เพื่อพรวนให้ดินเล็กลงซึ่งจะไถตัดฉากกับการไถดะ จากนั้นใช้ "คราด" กวาดเอาวัชพืชทั้งหลายออกจากแปลงนา ซึ่งกระบวนการเตรียมดินเหล่านี้มี "เจ้าทุย" เป็นพระเอกตั้งแต่ต้นจนจบ

ส่วนการเตรียมต้นกล้าชาวนาจะนำเมล็ดพันธุ์ใส่กระสอบไปแช่น้ำไว้คืนหนึ่งเพื่อให้ยอดอ่อนแทงจมูกข้าวออกมา จากนั้นก็นำไปหว่านเพื่อให้กล้าเติบโตเป็นเวลา 1 เดือน และถอนกล้าเหล่านั้นออกมา "ดำ" ให้ต้นข้าวเติบโตอย่างเป็นระเบียบ งานนี้จึงได้เห็นเยาวชนทั้งหลายตั้งแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งค่อยๆ ถอยหลังคนละก้าวพร้อมๆ กับการปักต้นกล้าลงผืนนาที่มีน้ำขังอยู่เต็ม

หนึ่งในทูตไบเออร์ซึ่งเป็นหนุ่มน้อยจากเมืองคนดี "สุราษฎร์ธานี" อย่าง "กฤดา เอื้อกฤดาธิการ" ที่ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเขาไม่เคยได้เห็นควายตัวเป็นๆ อย่างใกล้ชิดมาก่อน

ปกติจะเห็นอยู่ตามข้างทางกลางทุ่งหน้าเป็นจุดดำๆ เล็ก ครั้งนี้เขาได้ลองสัมผัสควายและรู้สึกคล้ายกับ "กระเป๋าหนังมีขนและอุ่นๆ" นอกจากนี้ยังได้เปิดมุมมองชีวิต มีเวลาที่เดินช้าลง ต่างจากในเมืองที่เร่งรีบและนึกถึงแต่จุดหมาย

"บางครั้งเราลืมนึกถึงสิ่งที่เราใช้ มาที่นี้เราใช้ควาย ต้องถนอมจะใช้งานหนักไม่ได้ เมื่อก่อนเราใช้ควาย ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน ให้กินฟาง กินหญ้า ตอนนี้เราใช้รถไถถึงจะได้ข้าวเยอะกว่าแต่ก็เกิดคาร์บอนสู่บรรยากาศ อีกทั้งชาวนาผลิตน้ำมันเองไม่ได้ ต้องนำเข้า เมื่อน้ำมันแพงขึ้นก็ส่งผลกระทบ แนวทางการทำเกษตรต่อไปน่าจะเป็นแบบผสมผสานคือใช้ควายส่วนหนึ่งและใช้เครื่องยนต์ส่วนหนึ่ง" กฤดากล่าว

ส่วนว่าที่สถาปนิกสาวจากเมืองนนท์อย่าง "ธนพร วงษ์ดนตรี" นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นอีกคนที่ไม่เคยเห็นควายในระยะใกล้ๆ แต่เมื่อได้สัมผัสก็รู้สึกว่าเป็นสัตว์โลกที่น่ารักชนิดหนึ่ง ไม่ได้น่ากลัว และอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับควายเพราะเป็นสัตว์คู่บ้าน-คู่เมืองที่ช่วยผลิตข้าวให้เรากิน นอกจากนี้ยังดีใจที่ได้เห็น "พญาควาย" ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีควายแบบนี้อยู่ รวมถึง "ควายแคระ" ที่ไม่เคยเจอด้วย

"วิถีชีวิตแบบเดิมนั้นเข้าทำนา เย็นก็อยู่พร้อมหน้าครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้ชีวิตมีแต่ความเร่งด่วน เมื่อก่อนครอบครัวมีปู่ย่าตายายอยู่กันพร้อมหน้า หาเลี้ยงชีพกันแบบพอกิน ไม่ได้คิดถึงกำไรมาก เดี๋ยวนี้คิดถึงแต่กำไร เน้นใช้เทคโนโลยี ขยะก็มากขึ้น ต่างจากวิถีชาวนาที่มีความผูกพันกับธรรมชาติมากกว่า อยู่กับควาย ใช้ควายทำนา เดี๋ยวนี้มีรถแทรคเตอร์ซึ่งมีดีตรงที่ทำงานเร็วแต่ก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ทั้งยังกินน้ำมันและก่อสารพิษ กลับไปใช้ควายอย่างเดิมผสมผสานการใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียงดีกว่า" ธนพรกล่าว

ด้าน วีระยุทธ โพธิ์ศรี หนุ่มอีสานเมืองขอนแก่นซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัยมหามงกุฎวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน บอกเล่าว่าเขาเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เป็นทุ่งนาและเต็มไปด้วยควาย จึงได้เห็นสัตว์มีเขานี้เป็นปกติ แต่ก็ให้ความเห็นถึงการทำนาในปัจจุบันว่ามีการใช้เทคโนโลยีในการปลูกข้าวมากขึ้น ทำให้เกิดควันพิษออกมามากเช่นกัน

"จากเดิมที่ใช้ควายและมีความสามัคคีกัน โดยเมื่อก่อนในการทำนานั้นเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวก็เรียกเพื่อนบ้านข้างเคียงมาช่วยกัน แต่เดี๋ยวนี้คนเราเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น มีการเก็บค่าแรง และก็มีรถรับจ้างเกี่ยวข้าว กลายเป็นการตัดงานแรงงานคน ชาวบ้านจึงต้องย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมือง"

"หากใช้ควายก็จะเกิดความสามัคคีในชุมชนมากขึ้น มีพืชสีเขียวไว้เป็นอาหารควาย มูลควายก็เป็นปุ๋ยให้นาได้ ควายเป็นแรงงานสำคัญและเป็นแหล่งปุ๋ยธรรมชาติ เป็นแหล่งให้แมลงกุดจี่ชอนไชมูลควาย ช่วยพรสนดินและทำให้ดินดี ขณะที่รถไถมีแต่สร้างมลพิษ" วีระยุทธกล่าว

ขณะที่หนุ่มใต้แห่งจังหวัดกระบี่อย่าง "สราวุธ ทองหนูนุ้ย" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิน วิทยาเขตพัทลุง เสริมว่าการทำนาวิถีไทยนั้นสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

เมื่อก่อนแม้เศรษฐกิจไม่เติบโตมากแต่ธรรมชาติก็ไม่ได้ย่ำแย่และคนก็ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากนัก พร้อมเล่าประสบการณ์ว่าตอนเด็กๆ นั้นที่บ้านเคยทำนาแต่ทำได้กระทั่งเขาอายุ 5 ขวบก็หยุดไปเนื่องจากสู้ปัญหาดินเค็มไม่ไหว แล้วหันมาทำประมงแทน แต่เป็นการทำประมงแบบไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทำให้สัตว์น้ำลดลงไปมาก

"เมื่อโตขึ้นได้รับเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงได้จัดกิจกรรมสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนที่ไม่ได้รับการศึกษาเพื่อให้ทำประมงแบบยั่งยืนและช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ ปัจจุบันในพื้นที่เคยหากุ้ง หาปลาไม่ได้ ก็เริ่มหาได้แล้ว" สราวุธกล่าว พร้อมย้อนความหลังให้ฟังอีกว่าเมื่อตอนเด้กๆ ที่พ่อแม่ทำนานั้นก็พาไปทุ่งนาด้วย ทำให้เขาได้สัมผัสกลิ่นไอดิน กลิ่นข้าวยามออกรวง เมื่อตกเย็นก็ได้พร้อมหน้าพ่อแม่อยู่กันประสาครอบครัวเล็กๆ

แม้ว่าเราไม่อาจเรียกวิถีชีวิตบนหลังทุยให้กลับคืนมาเฟื่องฟูได้เหมือนเก่า แต่อย่างน้อยการกินข้าวให้หมดจานก็น่าจะเป็นวิธีที่เราจะแสดงความเคารพต่อวิถีชาวนาไทยที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษได้ อีกทั้งยังเป็นวิธีรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดปริมาณขยะในชีวิตประจำวันได้ง่ายที่สุด.
พญาควายชื่อ โพธิทอง ของหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย เป็นควายลักษณะดีเชื่อกันว่าใครมีไว้ในครอบครองจะเป็นสิริมงคล
ควายเผือก หรือควายด่อนมีสีขาวออกชมพูตลอดทั้งตัว
ดูกันชัดๆ หน้าตาของควายเผือก
ควายแคระที่หาดูได้ยาก
ลานแสดงควาย ซึ่งจะมีนักเรียนมาแสดงการละเล่นพื้นบ้านและร้องเพลงอีแซวก่อนการแสดงควายจะเริ่มขึ้น
ทูตไบเออร์ (ซ้ายไปขวา) กฤดา เอื้อกฤดาธิการ, สราวุธ ทองหนูนุ้ย,วีระยุทธ โพธิ์ศรี, ธนพร วงษ์ดนตรี
ต้นกล้าที่เตรียมไว้ให้เหล่า ทูตไบเออร์ ได้ดำนา
กำลังโหลดความคิดเห็น