xs
xsm
sm
md
lg

ส่ง "บูราน" ยานอวกาศรัสเซียล่องแม่น้ำสู่พิพิธภัณฑ์เมืองเบียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยกบูรานจากเรือเดินทะเล สู่แพขนานยนต์ที่ท่าเมืองรอตเตอร์ดัม
เอเยนซี/ดีพีเอ/สเปเยอร์เทคนิคอลมิวเซียม - ช่วงนี้ใครที่ผ่านไปมาแถวแม่น้ำไรน์ ในประเทศเยอรมนี อาจจะมีโอกาสได้เห็นยานอวกาศสีขาวดำรูปร่างหน้าตามเหมือนยานของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะละม้ายคล้ายกัน แต่หาใช่เป็นญาติสนิทกันไม่ เพราะนั่นคือ "บูราน" ยานอวกาศไร้มนุษย์ของอดีตสหภาพโซเวียตที่ปลดระวางไปแล้วหลายสิบปี



ยานขนส่งอวกาศ "บูราน" (BURAN) ของอดีตสหภาพโซเวียตกำลังเดินทางสู่ "เทคนิคอล มิวเซียม" (Technical Museum) พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับยานยนต์และอากาศยานในเมืองสเปเยอร์ (Speyer) ของเยอรมนี หลังล่องถึงท่าเรือปากอ่าวในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

จากนั้นก็ถูกลากด้วยแพขนานยนต์ 3 ลำ ไปตามแม่น้ำไรน์ สายที่ยาวที่สุดของเมืองเบียร์ ด้วยระยะทางน้ำกว่า 600 กิโลเมตร สู่เมืองสเปเยอร์ทางตะวันตกของเยอรมนี ทางตอนใต้ของแฟรงเฟิร์ต เมื่อวันที่ 7 เม.ย.51 ที่ผ่านมา



ทั้งนี้บูรานที่เคยลอยในอวกาศต้องมาลอยน้ำอย่างนี้ เพราะลักษณะรูปร่างที่มีความยาว 36 เมตร สูง 17 เมตรและหนัก 105 ตัน ทำให้ไม่สามารถขนส่งได้ด้วยพาหนะทางบกหรืออากาศได้ นอกจากเครื่องบินที่อดีตสหภาพโซเวียตสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งเคยเป็นเครืองบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เครื่องบินดังกล่าวปลดระวางไปแล้ว จึงทำให้ต้องขนส่งโดยการลากแพขนานยนต์แทน

"เราจะเดินทางด้วยแม่น้ำเส้นนี้ทั้งสัปดาห์ และจะถึงเมืองสเปเยอร์ในวันเสาร์นี้ (12 เม.ย.)" แฮร์มันน์ เลย์เฮอร์ (Hermann Layher) ผอ.พิพิธภัณฑ์เผย ซึ่งบูรานถูกเรือลากเดินทางด้วยความเร็ว 12-16 ก.ม.ต่อชั่วโมง



อย่างไรก็ดี เหล่าผู้บริหารต่างเป็นกังวลว่ายานอวกาศขนาดใหญ่นี้จะไม่สามารถเดินทางผ่านแม่น้ำไรน์ได้สะดวกนัก เพราะบางช่วงก็แคบ ขณะที่บางช่วงคดเคี้ยว ทั้งสภาพการเดินทางทวนน้ำ รวมถึงต้องลอดสะพานเตี้ยๆ บางแห่งอาจเป็นปัญหาได้

"บูราน" เป็นชื่อในภาษารัสเซียที่แปลว่า "พายุหิมะ" (Blizzard) เป็นโครงการอวกาศที่รัสเซียตั้งใจสร้างฝูงยานขนส่งแบบไร้มนุษย์ขึ้นขนส่งอวกาศช่วงปี 1980 (พ.ศ. 2523) แต่บูรานก็บินได้แค่ 2 ครั้งโครงการดังกล่าวก็ถูกล้มเลิกไปในปี 2531 เพราะไร้ทุนสนับสนุน อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และนำไปสู่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต

หลักการทำงานของบูรานก็เหมือนกับเครื่องบินเร็วกว่าเสียง (supersonic) ทั้งของรัสเซียอย่างทูโพเลฟ 144 (Tupolev 144) และคองคอร์ด (Concorde) ของฝรั่งเศส ซึ่งใช้หลักอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) สร้างขึ้นมา

อีกทั้งยานบูรานแม้ว่าจะมีรูปลักษณะเหมือนกับดิสคัฟเวอรีหรือเอนเดฟเวอร์ของนาซาที่เราคุ้นเคย แต่ยานของหมีขาวมีขนาดใหญ่กว่านัก พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์รัสเซียตั้งแต่ปี 2519

ในปี 2531 บูรานออกเดินทางสู่วงโคจรโลก และปฏิบัติภารกิจสำเร็จ 2 ครั้ง โดยลงจอดอย่างปลอดภัยในไบโคนัวร์ ประเทศคาซันสถานในปัจจุบัน สร้างความภาคภูมิใจให้แก่องค์การอวกาศโซเวียตเป็นอย่างยิ่ง ที่ใช้ยานอวกาศแบบมีปีกบินได้โดยไม่ต้องอาศัยนักบินอวกาศขึ้นไปเสี่ยงภัย เพียงแค่ควบคุมด้วยสัญาณวิทยุจากภาคพื้นดิน

ทว่างบประมาณในการพัฒนายานอวกาศนั้นมหาศาล นอกจากการขนส่งอวกาศเพื่อจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องส่งอุปกรณ์ข้าวของที่จำเป็นสู่สถานีอวกาศมีร์แล้ว ทางการทหารของโซเวียตเองยังต้องการใช้ประโยชน์ด้วย โดยมีโครงการติดอุปกรณ์ให้บูรานสามารถตรวจจับดาวเทียมของฝ่ายศัตรูได้

ส่วนบูรานที่กำลังเดินทางสู่เทคนิคอลมิวเซียมในสเปเยอร์นั้น เป็น "บูราน 002" (BURAN 002) ที่พัฒนาเป็นเครื่องทดสอบโดยเอ็นพีโอ โมลนิยา (NPO Molniya) บริษัทด้านอวกาศของรัสเซีย ซึ่งบินผ่านชั้นบรรยากาศโลก 25 ครั้งในช่วงระหว่างปี 2527-2531



บูรานลำนี้เคยจัดแสดงสู่สาธารณชนไปแล้วในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างกีฬาโอลิมปิกปี 2000 (พ.ศ.2543) จากนั้นเดินทางสู่บาห์เรน และถูกเก็บไว้ที่นั่นเพราะติดปัญหาการอ้างความเป็นเจ้าของ

"พวกเราพยายามอยู่กว่า 7 ปีเพื่อจะให้ได้บูรานมาจัดแสดง" ผอ.พิพิธภัณฑ์เผย เพราะต้องต่อสู้ทางกฎหมายกับนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของยานอวกาศลำดังกล่าว ซึ่งตอนนี้บูรานเป็นกรรมสิทธิ์ของพิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งนี้เรียบร้อย

เมื่อเคลียร์ข้อกฎหมายกันได้บูรานก็ถูกจับบรรทุกลงเรือสู่ทะเลอาหรับ ผ่านอ่าวอาเดน (Gulf of Aden) และจากทะเลแดงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยผ่านคลองสุเอซ จากนั้นก็เดินทางสู่ช่องแคบยิบรอลตาร์ (Straits of Gibraltar) ผ่านชายฝั่งโปรตุเกสและฝรั่งเศส เข้าช่องแคบอังกฤษก่อนจะถึงท่าที่เมืองรอตเตอร์ดัม

ทางพิพิธภัณฑ์คาดว่าจะจัดแสดงบูรานได้ภายในช่วงเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ โดยเตรียมสถานที่พร้อมนิทรรศการไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีสิ่งของเกี่ยวข้องกับอวกาศอีกมากมาย ทั้งชุดอวกาศ แบบจำลองดาวเทียม อาหารอวกาศ เป็นต้น.
การเดินทางด้วยความเร็ว 12-16 ก.ม.ต่อชั่วโมงตามลุ่มน้ำไรน์
ผ่านทุ่งหญ้า หนองน้ำ






ข้างแม่น้ำไรน์ที่เต็มไปด้วยต้นไม้



ผ่านโรงไฟฟ้า และเขตอุตสาหกรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น