สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ แถลงข่าวเปิดตัว “จำปีช้าง” พืชชนิดใหม่ของโลกที่หายาก เร่งขยายพันธุ์และหาวิธีเพาะเมล็ด พร้อมส่งเสริมประชาชนปลูกเป็นไม้ประดับ เตรียมวิจัยสาระสำคัญที่เปลือกเมล็ดและการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คลองห้า จ.ปทุมธานี แถลงข่าวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยพร้อมเปิดตัว “จำปีช้าง” พันธุ์ไม้หายากในวงศ์จำปา เมื่อวันที่ 17 มี.ค.51 ด้านนักวิจัยขยายพันธุ์ได้แล้วด้วยวิธีทาบกิ่ง แต่เดินหน้าเร่งหาวิธีเพาะเมล็ด กระตุ้นกระตุ้นการออกดอก ทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเป็นไม้ประดับเพื่อร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2541 เขาและคณะในโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปา ได้ออกสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และได้พบกับต้น “จำปีช้าง” ขนาดใหญ่ราว 3 คนโอบ สูงราว 30-35 เมตร จำนวน 2 ต้น ที่ระดับความสูง 1,200 เมตร ซึ่งมีลักษณะเดียวกับตัวอย่างแห้งของพันธุ์ไม้วงศ์จำปาที่เก็บรักษาอยู่ในหอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เก็บไว้โดย ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.33 และยังได้รับการยืนยันจากคนในพื้นที่ว่าเป็นต้นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี หลังจากที่คณะนักวิจัยได้เดินทางไปสำรวจ เก็บตัวอย่าง และศึกษาต้นจำปีดังกล่าวอย่างละเอียด พบว่าจำปีชนิดนี้ต่างไปจากจำปีชนิดอื่นที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง และยังไม่เคยมีการตีพิมพ์หรือรายงานในหนังสือชื่อพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย
พวกเขาจึงได้ส่งตัวอย่างแห้งที่สมบูรณ์ไปตรวจสอบที่หอพรรณไม้ประเทศจีนพบว่าจำปีช้างนี้ต่างไปจากจำปีที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศจีน และส่งไปให้ ศ.ดร.ฮัน พี นูตีบูม ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ในวงศ์จำปา หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอแลนด์ ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง ก็ได้รับการยืนยันว่าไม่เหมือนจำปีชนิดอื่นๆ
ทั้งนี้จากการตรวจสอบดังกล่าวระบุว่าไม้ต้นนี้เป็น "จำปีชนิดใหม่ของโลก" และตั้งชื่อว่า แมกโนเลีย ซิตราต้า นูต แอนด์ เฉลิมกลิ่น (Magnolia citrate Noot. & Chaoermglin) และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติ บลูเมีย (BLUMEA) ของหอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอแลนด์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50
ดร.ปิยะ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า จำปีช้างเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว (endemic) ที่พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น พบขึ้นตามป่าดิบเขาที่มีอากาศเย็น ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 1,200 เมตร เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 20-35 เมตร เปลือกลำต้นหนา มีกลิ่นฉุน ใบขนาดใหญ่ รูปใบรีจนถึงเกือบกลม แผ่นใบหนาและเหนียว คล้ายใบกระท้อน ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลิ่นหอม ออกดอกปีละครั้งช่วงเดือน เม.ย.
ผลกลมรียาว 5-7.5 เซนติเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในพวกจำปีจำปา จึงเป็นลักษณะเด่นและเป็นที่มาของชื่อ “จำปีช้าง” และมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง มีกลิ่นคล้ายตะไคร้ แต่กลิ่นแรงและฉุนกว่า
“ปัจจุบันพบจำปีช้างในป่าธรรมชาติเพียงไม่กี่ต้นในจังหวัดเชียงใหม่ เลย และน่าน คาดว่าไม่ถึง 10 ต้นด้วยซ้ำ และบริเวณใต้ต้นแม่ก็ไม่พบต้นกล้าหรือต้นขนาดเล็กของจำปีช้าง แสดงว้าไม่มีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมานานกว่า 50 ปีแล้ว” ดร.ปิยะแจง
จากการตรวจสอบเมล็ดของจำปีช้าง นักวิจัยพบว่า เมล็ดแก่จะสร้างสารเคมีที่มีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นตะไคร้ ซึ่งเป็นตัวล่อแมลง โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อให้มากัดกินเมล็ด ทำให้เมล็ดถูกทำลายจนไม่สามารถงอกได้ตามธรรมชาติ
แต่ในที่สุดนักวิจัยสามารถขยายพันธุ์จำปีช้างได้ด้วยการทาบกิ่งโดยใช้จำปาเป็นต้นตอ และได้นำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ก็พบว่าเจริญเติบโตได้ดี เช่น นครสวรรค์ กาญจนบุรี พิษณุโลก นครศรีธรรมชาติ สงขลา พังงา และกระบี่ เป็นต้น ยกเว้นในที่ที่มีน้ำเฉอะแฉะจะไม่สามารถปลูกได้
ดร.ปิยะ กล่าวว่า อาจเป็นเพราะป่าถูกทำลายลงไปมาก สภาพแวดล้อมสูญเสียสมดุล แมลงศัตรูของจำปีช้างมีมากขึ้น และยังถูกมนุษย์ลักลอบตัดนำไม้ไปใช้ประโยชน์ เลยทำให้จำปีช้างขยายพันธุ์เองไม่ได้ในธรรมชาติมานานกว่า 50 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น วว. ได้เร่งขยายพันธุ์จำปีช้างด้วยวิธีทาบกิ่ง และส่งเสริมเกษตรกรและประชาชนทั่วไปปลูกเป็นไม้ประดับเพื่ออนุรักษ์ไว้ และได้ปลูกไว้ที่ วว. คลองห้า จำนวน 2 ต้น อายุได้ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะออกดอก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในสภาพธรรมชาติที่มีอากาศเย็นเหมือนถิ่นกำเนิดเดิม จึงต้องหาวิธีกระตุ้นให้ออกดอก ซึ่งขณะนี้กำลังทดลองใช้ฮอร์โมนกระตุ้น รวมทั้งกำลังดำเนินการวิจัยเพื่อหาวิธีเพาะเมล็ดของจำปีช้าง ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ และสารเคมีที่สร้างขึ้นในเยื่อหุ้มเมล็ด
หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำปีช้าง หรือมีความประสงค์ที่จะนำไปปลูกหรือขยายพันธุ์ สามารถติดต่อได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทรศัพท์ 0-2577-9000 โทรสาร 0-2577-9009
(*ภาพประกอบจาก วว.)