xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.สมเกียรติ" ระบุ "นักข่าว-นักวิทย์" หากเอาแต่ใจข่าวก็ผิดพลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ดร.สมเกียรติ" ปาฐกถาเปิดตัว "ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์" ระบุข่าววิทยาศาสตร์สำหรับไทยเพิ่งเริ่มต้น ระบุนักข่าววิทย์ต้องรักวิทยาศาสตร์เป็นอันดับแรกและเห็นความสวยงามของวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับนักวิทย์ พร้อมชี้ปัญหาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ว่านักวิทย์มักไม่ตอบหากไม่มั่นใจและไม่อยากดังเป็นเหตุให้สื่อทำข่าวได้ช้า ด้านนักข่าวก็ต้องการข่าวเร็ว ตื่นเต้นและโดดเด่น หากต่างฝ่ายเอาแต่ใจข่าววิทยาศาสตร์ก็ผิดพลาด

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักจัดรายงานโทรทัศน์และประธานกรรมการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย (Thai Science Media Center) ภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "บทบาทของสื่อมวลชนและฝ่ายประชาสัมพันธ์ต่อการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชน" ภายในงานเปิดตัวศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อวันที่ 10 มี.ค.51 ณ โรงแรมเซนจูรีปาร์ค

ทั้งนี้สื่อมวลชนอาวุโสออกตัวว่าไม่ใช่ตัวแทนผู้สื่อสารวิทยาศาสตร์และส่วนตัวเป็นนักข่าวซึ่งทำรายการวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งบางครั้งต้องทำข่าววิทยาศาสตร์ที่เป็นข่าวสำคัญในวันนั้นๆ อาทิ ข่าวเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ซึ่งก็เจอปัญหาในการเขียนบทและไม่ทราบว่าจะค้นจากที่ไหนหรือจะถามใคร

สำหรับงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยนั้นยังไม่ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันมากพอและสถานการณ์ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ซึ่งการเปิดตัวของศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์นับเป็นการเริ่มต้นอย่างจริงของข่าวสายนี้ แม้ว่าปัจจุบันมีข่าววิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมากมายแต่ไทยยังไม่สนใจมากไปกว่าข่าวการเมือง อีกทั้งเมื่อเจอปัญหาที่อธิบายไม่ได้ก็มักจะหลบเลี่ยงไปทางไสยศาสตร์ พร้อมยกตัวอย่างผลมะม่วงประหลาดที่คล้ายกับมือโอบอุ้มที่อยู่ข้างพระพุทธรูปเก่าแก่ 4 องค์

อย่างไรก็ดี ดร.สมเกียรติกล่าวว่าไม่ใช่แค่เมืองไทยที่เป็นอย่างนี้ ยังมีประเทศอื่นอีกเช่นกันที่มีเรื่องลึกลับและอธิบายไม่ได้ หากแต่ไม่ได้ลงท้ายด้วยการ "ขอหวย" เหมือนคนไทย เช่นกรณีมีภาพคล้ายใบหน้าคนอยู่บนดาวอังคารซึ่งก็มีการวิพากษ์-วิจารณ์ไปต่างๆ นานาและคิดว่ามีอารยธรรมอยู่บนดาวเคราะห์ดังกล่าว ซึ่งตื่นเต้นกันมาตลอดแต่ที่สุดวิทยาศาสตร์ก็มีคำอธิบายว่าเป็นเพียงเงาของโขดเขาธรรมดาบนดาวอังคาร

"ตอนนี้ยังไม่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์อธิบายได้หมดและปัญหาของไทยคือต้องใช้วิทยาศาสตร์อธิบายให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ฝันและไม่ยอมเชื่อคำอธิบาย วิทยาศาสตร์เป็นการหาคำตอบในสิ่งที่เราไม่เข้าใจและมีความสำคัญที่สุดในกระบวนการกระจายข่าวสารทั้งหลาย ซึ่งสื่อต้องทำงานหนักกว่านักวิทยาศาสตร์ในการพยายามสื่องานที่นักวิทยาศาสตร์ทำและต้องรับผิดชอบในการสื่อมาก" ดร.สมเกียรติกล่าว

ส่วนคุณสมบัติของนักข่าววิทยาศาสตร์ที่ดีนั้น ดร.สมเกียรติกล่าวว่าจะต้องรักวิทยาศาสตร์ให้เต็มที่และคิดค้นหรือหาทางถ่ายทอดให้เต็มที่ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์คือชนชั้นสูงกลุ่มน้อยที่อยู่เหนือเรื่องราวอย่างมะม่วงออกลูกเป็นมือ อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ก็รักวิทยาศาสตร์และเห็นเป็นพลัง วิยาศาสตร์เป็นวิชาการที่มองไปข้างหน้า เป็นเรื่องของอนาคตที่มองอะไรเป็นบวกและเป็นเรื่องของความก้าวหน้า วิทยาศาสตร์เป็นความใหม่จึงทำให้น่าสนใจ แต่ทำอย่างไรนักข่าวจะเข้าถึงความสวยงามที่นักวิทยาศาสตร์มองเห็น

พร้อมกันนี้ประธานกรรมการของศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ยังได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำข่าวว่า ในส่วนของนักวิทยาศาสตร์นั้นถ้าไม่มั่นใจจะไม่ตอบคำถามและนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากดัง แต่สิ่งที่ต้องการคือความเคารพจากเพื่อนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเอง อันเป็นปัญหาที่ทำให้นักข่าวทำข่าวได้ช้า และในส่วนของนักข่าวคือนักข่าวต้องการความเร็ว ความตื่นเต้นและความโดดเด่น ถ้าเรื่องจืดๆ ก็จะไม่ทำ ซึ่งถ้าต่างฝ่ายต่างเอาแต่ใจก็ทำให้ข่าวผิดพลาด

กำลังโหลดความคิดเห็น