เอเยนซี - นาซาเผยบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ซึ่งเป็นที่หมายสำหรับส่งคนและหุ่นยนต์ไปสำรวจดวงจันทร์นั้นขรุขระกว่าที่เคยคิด และเต็มไปด้วยผาสูงชันและหลุมลึก
ทั้งนี้องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ส่งสัญญาณเรดาร์จากสถานีโกล์ดสโตน (Goldstone Solar System Radar) ที่ตั้งอยู่บนพื้นโลกในทะเลทรายโมฮาวี แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ซึ่งแม่นยำและมีหลายละเอียดสูงกว่าเดิม โดยได้สำรวจยังรอบๆ บริเวณหลุมอุกกาบาต "ชัคเกิลตัน" (Shackleton) ซึ่งบางบริเวณมืดมิดตลอดและบางบริเวณก็ได้รับแสงแดดเกือบตลอดเวลา ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยบันทึกภาพบริเวณดังกล่าวมาก่อนแล้วแต่ไม่มีภาพไหนที่เหมือนกับภาพล่าสุดเลย
บริเวณขอบหลุมอุกกาบาตดังกล่าวเป็นทางเลือกหนึ่งของนาซาที่จะส่งมนุษย์ไปลงจอดในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ โดยก่อนหน้านี้มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาจมีน้ำแข็งตัวในบริเวณที่เป็นส่วนมืดของหลุมอุกกาบาต แม้ว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
นาซาเผยว่าในบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่ซึ่งเป็นผาสูงประมาณ 6 กิโลเมตรซึ่งสูสีกับภูเขาแมคคินลีย์ (Mount McKinley) ในอลาสกาอันเป็นภูเขาสูงที่สุดของอเมริกาเหนือ ส่วนหลุมก็ลึกลงไปประมาณ 4 กิโลเมตร และนักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวอีกว่าสามารถนำภูเขาไฟที่ใหญ่สุดในโลกอย่างมัวนาโลอา (Mauna Loa) ในฮาวายไปใส่ในหลุมดังกล่าวได้อย่างสบาย
"บริเวณดังกล่าวยังเป็นบริเวณที่มีความน่าสนใจอย่างมากสำหรับให้มนุษย์นำยานไปลงจอด และข้อมูลที่ได้นี้ก็เป็นวิกฤติสำหรับเราในการเข้าใจว่าเรากำลังเข้าไปสู่อะไรหากเราเลือกบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลงจอด" ดัก คูค (Doug Cooke) ผู้อำนวยการปฏิบัติการระบบสำรวจของนาซากล่าว พร้อมตอบคำถามว่าพื้นที่ซึ่งไม่ราบเรียบจะให้นาซาหยุดที่จะเลือกบริเวณดังกล่าวหรือไม่ว่าบริเวณดังกล่าวไม่ได้มีความน่าสนใจลดลงเลย
ส่วนเคลลี สนูก (Kelly Snook) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการสำรวจดวงจันทร์ของนาซาเสริมว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นกลับเพิ่มความท้าทายให้นาซาต้องไปให้ถึงมากกว่าที่จะถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดทางวิศวกรรม
คูคได้ย้ำถึงความสำคัญของความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำแข็งปรากฏในบริเวณที่จะปฏิบัติภาพภารกิจสำรวจดวงจันทร์ว่า การมีน้ำแข็งตัวในบริเวณดังกล่าวจะเป็นกลายเป็นแหล่งน้ำสำหรับผลิตไฮโดรเจนและออกซิเจนเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ อีกทั้งหนึ่งในความสนใจที่นาซาทำการสำรวจดวงจันทร์หรือแม้แต่ดาวอังคารก็คือการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในบริเวณแหล่งสำรวจ เพื่อปรับปรุงภารกิจและลดการใช้ทรัพยากรและการขนส่งจากโลก
ด้านสก็อตต์ เฮนสลีย์ (Scott Hensley) จากทีมบันทึกภาพดวงจันทร์ของห้องปฏิบัติการจรวดความดัน ( Jet Propulsion Laboratory: JPL) ของนาซา กล่าวว่าข้อมูลจากสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้มีค่าสำหรับการเลือกบริเวณที่ดีที่สุดสำหรับทั้งการส่งหุ่นยนต์ไปสำรวจดวงจันทร์และปฏิบัติการที่อาศัยมนุษย์
ด้วยการส่งสัญญาณเรดาร์ 3 ครั้งภายใน 6 เดือนเมื่อปี 2549 ทีมนักวิทยาศาสตร์อาศัยจานเรดาร์โกล์ดสโตนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 เมตรเพื่อส่งสัญญาณที่มีความแรง 500 กิโลวัตต์ไปยังดวงจันทร์ที่ระยะทางกว่า 373,000 กิโลเมตร จากนั้นสัญญาณเรดาร์ได้กระเด้งไปบนผิวดวงจันทร์เป็นพื้นที่ 640 x 400 กิโลเมตร แล้วสะท้อนกลับมาเสารับสัญญาณบนโลกภายในเวลา 2.5 วินาที