xs
xsm
sm
md
lg

ฟอลซิลปิศาจ "กบยักษ์โบราณ" กินลูกไดโนเสาร์เป็นอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์/เอพี/เอเยนซี - นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ-สหรัฐฯ เผยฟอสซิลที่พบในมาดากัสการ์เป็นของกบยักษ์ที่มีชีวิตเมื่อกว่า 70 ล้านปีมาแล้ว ตัวใหญ่เท่าลูกบอล หนักถึง 4 กิโลกรัม สันนิษฐานกินได้แม้กระทั่งลูกไดโนเสาร์เกิดใหม่ ตั้งชื่อให้เป็น "กบนรก"

ฟอสซิลกบที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London: UCL) แห่งอังกฤษและมหาวิทยาลัยสโตนีบรูก (Stony Brook University) แห่งสหรัฐอเมริกาค้นพบในมาดากัสการ์เมื่อปี 2536 นั้น ได้ข้อสรุปแล้วว่าเป็นฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 65-70 ล้านปีมาแล้ว โดยมีความยาวลำตัว 40 เซนติเมตร ขนาดพอๆ กับลูกโบว์ลิง และหนักถึง 4 กิโลกรัม นับเป็นกบใหญ่ที่สุดที่เคยพบ

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อให้กบนี้ว่า "บีลซีบูโฟ" (Beelzebofo) ซึ่งหมายถึง "กบที่มาจากนรก" โดยเป็นการผสมคำระหว่าง "บีลซีบุบ" (Beelzebub) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่มีความหมายว่า "ปีศาจ" และคำว่า "บูโฟ" (bufo) ซึ่งหมายถึงสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกบ คางคก จิ้งเหลนซึ่งกินแมลงเป็นอาหาร

ทั้งนี้กบดึกดำบรรพ์ดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับกบปัจจุบันที่อาศัยในบริเวณที่พบฟอลซิล

ตามข้อมูลจากเดวิด เคราส์ (David Krause) นักบรรพชีวินวิทยาจากสหรัฐฯ ที่ร่วมค้นพบฟอสซิลกบชนิดนี้ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างปากของกบโบราณนี้แสดงถึงปากที่กว้างและขากรรไกรที่ทรงพลัง รวมทั้งยังมีฟัน และยังมีลักษณะทางกายภาพที่มีกะโหลกค่อนข้างหนา ดังนั้นสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์นี้อาจไม่ได้กินอาหารอย่างพร่ำเพรื่อ และสันนิษฐานว่ากบชนิดนี้กินลูกไดโนเสาร์เกิดใหม่เป็นอาหาร

"เป็นไปได้ว่ากบปิศาจนี้จะสามารถฉีกกินกิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กบตัวเล็กๆ และด้วยขนาดของมันเป็นไปได้ว่ามันอาจกินได้แม้กระทั่งไดโนเสาร์ที่เพิ่งฟักตัวออกจากไข่" เคราส์กล่าว

ด้านซูซาน อีวานส์ (Susan Evans) นักวิจัยจากภาควิชาเซลล์และชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เสริมว่ากบโบราณนี้ค่อนข้างมีพฤติกรรมโหดร้ายและมีความสัมพันธ์กับกบมีเขา (Horned frog) ในปัจจุบันซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "เซราโทไฟร์ส" (Ceratophys) โดยกบยุคไดโนเสาร์นั้นมีขาสั้นและปากใหญ่ ซึ่งหากกบชนิดนี้มีลักษณะร่วมเช่นเดียวกับกบพันธุ์ปัจจุบันคือมีความก้าวร้าวและพฤติกรรมซุ่มโจมตีเหยื่อแล้ว กบนรกนี้ก็นับเป็นนักล่าที่น่าเกรงขามสำหรับสัตว์เล็กๆ

เคราส์เพิ่มเติมว่าความใกล้เคียงกับกบมีเขาในอเมริกาใต้และความเชื่อมโยงในวงศ์ (family) ของกบโบราณกับกบปัจจุบันช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาต่อจิ๊กซอว์ทฤษฎีการแยกกันของแผ่นทวีปซึ่งทำให้มาดากัสการ์แยกออกจากอเมริกาใต้ในช่วงที่กบบีลซีบูโฟมีชีวิตอยู่ ซึ่งการแยกแผ่นดินในครั้งนั้นทำให้กบโบราณไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางน้ำเค็ม ความเชื่อมโยงนี้ยังบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่ามาดากัสการ์เชื่อมโยงกับแอนตาร์กติการ์ซึ่งน่าจะมีอากาศอบอุ่นมากกว่าทุกวันนี้

กบใหญ่ที่สุดในปัจจุบันพบในแอฟริกาตะวันตกเป็นกบยักษ์ (giliath frog) ซึ่งมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรและหนัก 3.3 กิโลกรัมแต่กบชนิดนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับกบบีลซีบูโฟ

ทั้งนี้มีกบอยู่บนโลกเมื่อ 180 ล้านปีมาแล้วและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของสัตว์ชนิดก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนกบปีศาจที่ทีมวิจัยพบนี้มีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียส (Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่ออุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว

กบบีลซีบูโฟไม่ได้ใช้ชีวิตยุ่งเกี่ยวกับน้ำหรือกระโดดท่ามกลางพรมหญ้า หากแต่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กึ่งแห้งแล้ง ส่วนรูปแบบการล่าเหยื่ออาจคล้ายกับกบในปัจจุบันคืออำพรางตัวแล้วกระโดดเข้าหาเหยื่อ

อย่างไรก็ดีแม้ว่ามันจะเป็นราชาแห่งกบแต่บูลซีบูโฟก็ไม่ได้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ใหญ่ที่สุด โดย "ไพรโอโนซูชัส" (Prionosuchus) ซึ่งมีลักษณะคล้ายจรเข้และมีความยาวถึง 9 เมตร คือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ครองตำแหน่งใหญ่สุดและมีชีวิตอยู่ในยุคเพอร์เมียน (Permian Period) ที่สิ้นสุดไปเมื่อ 250 ล้านปีมาแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น