xs
xsm
sm
md
lg

"มหิดล" ใช้เม็ดพลาสติกจากท้องตลาดพัฒนาเสื้อเกราะช่วยทหารใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท. หนุนมหิดล 5.5 ล้านพัฒนาเสื้อเกราะหนัก 9 กิโลจากเม็ดพลาสติกช่วยทหารใต้ 100 ชุด นักวิจัยแจงเน้นใช้วัสดุในประเทศนำเม็ดพลาสติกที่ขายในท้องตลาดมายืดเป็นเส้นเล็กๆ ได้เส้นใย 30 เท่าแต่ตั้งเป้ายืดให้ได้ถึง 50 เท่าเพื่อเพิ่มความแข็งแรงมากขึ้นสำหรับเป็นวัสดุดูดซับแรงในชุดเกราะ

จากปัญหาจำนวนเสื้อเกราะกันกระสุนสำหรับทหารที่ประจำการฏิบัติภารกิจอยู่ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เพียงพอ อีกทั้งที่มีใช้อยู่นั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง รูปทรงไม่เหมาะสมกับคนไทย และอายุการใช้งานสั้น นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการบริษัทพีทีที โพลิเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (พีทีทีพีเอ็ม) ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางบริษัทจึงให้การสนับสนุนนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมีงานวิจัยเส้นใยจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทีลีนชนิดความหนาแน่นสูงด้วยจำนวนเงิน 5.5 ล้านบาทเป็นเวลา 18 เดือนเพื่อผลิตเสื้อเกราะ 100 ชุดเพื่อส่งมอบให้หน่วยงานราชการต่อไป

ทั้งนี้ต้องการให้เป็นเสื้อเกราะที่ผลิตขึ้นจากงานวิจัยและวัสดุภายในประเทศ 100% โดยเบื้องต้นตั้งเป้าผลิตชุดเกราะหนัก 9 กิโลกรัมและต่อไปอยากจะสนับสนุนให้ผลิตชุดที่เบาขึ้นเหลือ 6 กิโลกรัม

ทางด้าน รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำวิจัยกล่าวว่า ได้พัฒนาเส้นใยสำหรับเสื้อเกราะกันกระสุนโดยนำเม็ดพลาสติกโพลีเอทีลีนที่มีขายในท้องตลาดมายืดออกซึ่งทำให้โมเลกุลยืดออกเป็นเส้นตรงและมีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นแผ่นพลาสติกสำหรับใส่เป็นแผ่นดูดซับแรงกระแทกจากกระสุนในชั้นในของเสื้อเกราะ

ชุดเกราะที่ผลิตได้นี้จะมีความสามารถกันกระสุนปืนยาวหรือไรเฟิลนับเป็นการป้องกันภัยบุคคลระดับ 3 ตามมาตรฐานของเอ็นไอเจ (National Institute of Justice) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระดับที่รับแรงกระแทกจากกระสุนเอ็ม 16 ได้

"ชุดเกราะจะประกอบด้วยแผ่นเซรามิกส์ซึ่งมีความแข็งและกระจายแรงจากหัวกระสุนที่พุ่งเข้ามาแบบหมุนควงได้ดี ส่วนแผ่นพลาสติกจะช่วยดูดซับแรงกระแทก" รศ.ดร.ทวีชัยกล่าวถึงส่วนประกอบของชุดเกราะ พร้อมแจงว่าปัจจุบันสามารถยืดเส้นใยพลาสติกได้ 30 เท่าและตั้งเป้ายืดให้ได้ถึง 50 เท่า

อย่างไรก็ดีกำลังการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการที่ทำได้คือผลิตได้ครั้งละเส้นด้วยความเร็วในการผลิต 30 เมตรต่อนาที ซึ่งทุนสนับสนุนจากพีทีทีพีเอ็มจะนำไปขยายโรงงานผลิตที่วิทยาเขตศาลายา และชุดเกราะ 1 ชุดนั้นใช้พลาสติก 2 กิโลกรัมซึ่งกำลังการผลิตในปัจจุบันต้องใช้เวลา 3-4 เดือน แต่สำหรับเครื่องจักรใหม่นั้นคาดว่าจะผลิตได้วันละ 3 กิโลกรัม

ทั้งนี้คณะวิทยาศาสตร์ มหิดลได้ลงนามร่วมมือกับพีทีทีพีเอ็มพร้อมด้วยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งวิจัยและพัฒนาเซรามิกส์สำหรับชุดเกราะกันกระสุน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหดิล เมื่อวันที่ 12 ก.พ.51

กำลังโหลดความคิดเห็น