บีบีซีนิวส์/เอเอฟพี/สวนพฤกษศาสตร์คิว - นักพฤษศาสตร์ต้องประหลาดใจเมื่อปาล์มใหญ่ 100 ปีที่มองเห็นได้จากอวกาศ มีลักษณะอันประหลาดที่ต้นไม้ยักษ์ทำลายตัวเองหลังจากผลิดอกสืบพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญพิสูจน์ดีเอ็นเอพบปาล์มยักษ์เป็นสกุลใหม่ ร่วมเผ่า "ปาล์มหลังขาว" ของไทย
เมื่อ 2 ปีก่อน ครอบครัวชาวฝรั่งเศสซาเวียร์และนาตาลี เมตซ์ (Xavier and Nathalie Metz) ซึ่งทำฟาร์มมะม่วงหิมพานต์ในมาดากัสการ์ ได้สังเกตเห็นต้นไม้ประหลาดขณะเดินชมพืชพันธุ์ที่ผุดจากหินปูน บริเวณเนินในเขตอนาลาลาวา (Analalava district) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาดากัสการ์
ปาล์มยักษ์ต้นนี้สูงประมาณ 18 เมตร และใบนั้นไม่ธรรมดามีความยาวถึง 5 เมตร ทำให้ครอบครัวเมตซ์ติดใจ และบันทึกภาพต้นไม้ใหญ่ยักษ์เบิ้มทรงปิรามิดที่พบ จากนั้นก็โพสต์ภาพดังกล่าวลงในเว็บ
ต้นไม้ยักษ์นี้ทางมาดากัสการ์ระบุว่าเป็นต้นปาล์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนปาล์มชนิดอื่นๆ บนเกาะแต่อย่างใด อีกทั้งสามารถมองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมที่บันทึกไว้ในกูเกิลเอิร์ธ
ที่สำคัญแม้ชาวบ้านแถบนั้นจะเห็นว่ามีต้นไม้ยักษ์ยืนอยู่ในละแวก แต่ก็หามีใครสังเกตได้ว่าไม้ต้นนั้นเป็นไม้ดอก กระทั่งปลายปีก่อน นักพฤกษศาสตร์พบว่าต้นไม้ดังกล่าวใช้พลังอย่างมากในการเบ่ง "ดอก" จากนั้นก็ล้มตาย
โชคดีที่ ดร.จอห์น แดรนส์ฟีลด์ (John Dransfield) ผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มมาดากัสการ์ นักวิจัยแห่งคิว สวนพฤกษศาสตร์ชั้นนำของโลก (Britain's Royal Botanic Gardens at Kew, London) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้พบภาพนี้เข้า และเห็นว่าปาล์มอายุเกือบ 100 ปีหน้าตาแบบนี้น่าจะอยู่แต่ในเฉพาะศรีลังกา ไม่น่าจะพบบนเกาะมาดากัสการ์ได้ จึงให้นักวิจัยท้องถิ่นช่วยส่งตัวอย่างของต้นไม้มาให้
ทีมของสวนคิวได้ศึกษาลักษณะและสังเกตต้นไม้จนพบว่า ปาล์มยักษ์ต้นนี้เมื่อเติบโตจนสูงสุด จะผลิดอกเล็กๆ นับร้อยๆ ตามกิ่งก้านที่อยู่ตรงเรือนยอดส่วนปลายของลำต้น
ทั้งนี้ ดอกไม้แต่ละดอกมีละอองเกสร สามารถผสมพันธุ์และพัฒนาสู่ผล ซึ่งเมื่อดอกผลิออกมาในไม่ช้าก็จะเกิดน้ำหวานหยดลงมาเชิญชวนแมลงและนกมาจิกชิม
ที่สำคัญสารอาหารหรือธาตุต่างๆ ที่ต้นไม้เก็บสะสมไว้ดูแลตัวเอง ก็ถูกดึงออกมาใช้ขณะผลิดอก และเมื่อดอกเปลี่ยนเป็นผล ลำตันจะส่งแร่ธาตุทั้งหมดให้ผล จากนั้นไม้ใหญ่ก็ตายลง
การค้นพบปาล์มยักษ์สายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ เมื่อนำไปจัดลำดับแล้ว ทำให้เห็นว่านี่ไม่ใช่แค่ปาล์มชนิดใหม่ (species) แต่เป็นสกุลใหม่ (genus) ตามคำนิยามอนุกรมวิธาน (taxonomy) นับว่าเป็นสปีชีส์ร่วมกัน ทว่าตามความรับรู้ของคนทั่วไปจะแยกว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากต้นปาล์มอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิสูจน์ทางรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอแล้ว แดรนส์ฟีลด์ฟันธงได้ว่าน่าจะเป็นปาล์มใบพัดสกุลใหม่ที่อยู่ในเผ่า (tribe) ชูนิโอโฟเอนิซีเอ (Chuniophoeniceae) ร่วมกับอีก 3 สกุลที่ยังปรากฎให้เห็นในคาบสมุทรอาหรับ (นันนอร์รอฟ : Mazari Palm : Nannorrhops ritchiana ) จีน, เวียดนาม (Chuniophoenix hainanensis) และไทย (ชิงหลังขาวหรือปาล์มเจ้าเมืองถลาง : White Elephant Palm : Kerriodoxa elegans)
ทั้งนี้ ปาล์มยักษ์ที่ระบุว่าเป็นสกุลใหม่นี้ ได้ชื่อว่า ทาฮินา สเปกทาบิลิส (Tahina spectabilis) ตามที่อังเน-ทาฮินา เมตซ์ (Anne-Tahina Metz) ลูกสาวของซาเวียร์ครอบครัวผู้ค้นพบเสนอไว้ ซึ่ง "ทาฮินา" ในมาลากาซี (Malagasy) ภาษาราชการของมาดากัสการ์ แปลว่า ได้รับการบูชาหรือปกป้อง ส่วน "สเปกทาบิลิส" เป็นภาษาละตินแปลว่า น่าตื่นเต้น หรือน่าประทับใจ
ปาล์มร่วมเผ่าอีก 3 สกุลนั้นทั้งหมดอยู่ในทวีปเอเชีย ทำให้ ดร.แดรนส์ฟีลด์สันนิษฐานว่า ปาล์มทาฮินาที่พบห่างจากเอเชียถึง 6,000 ก.ม.นั้น น่าจะเป็นผลมาจากการที่มาดากัสการ์ได้แยกออกจากอินเดีย จนกลายมาเป็นเกาะตั้งแต่ 80 ล้านปีก่อน
รายงานผลการค้นพบครั้งนี้ตีพิมพ์ลงในวารสารพฤกษศาสตร์ ของสมาคมลินเนียส (Botanical Journal of the Linnean Society) ซึ่งเป็นองค์กรในระดับสากลสำหรับนักธรรมชาติวิทยาที่มาร่วมกันจัดลำดับสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน
ทั้งนี้ มาดากัสการ์เป็นเกาะที่ยังอุดมสมบูรณ์ พบต้นไม้มากกว่า 10,000 ชนิด และกว่า 90% เป็นต้นไม้เฉพาะถิ่น ไม่พบที่ใดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาล์มบนเกาะมาดากัสการ์ที่ตอนนี้นักพฤกษศาสตร์ระบุได้มากกว่า 170 ชนิด และใน 6 ชนิดมีเฉพาะที่มาดากัสการ์เท่านั้น ทว่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะมีปาล์มเฉพาะของมาดากัสการ์มากถึง 100 ชนิด
อย่างไรก็ดี ดร.แดรนส์ฟีลด์ได้พูดคุยกับชาวบ้านในแถบที่พบต้นปาล์มยักษ์ถึงวิธีการอนุรักษ์พืชพรรณเฉพาะถิ่นชนิดนี้ โดยได้ตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นเพื่อพิทักษ์ต้นปาล์ม มีการลาดตระเวนตรวจตราในพื้นที่ดังกล่าวไม่ให้ใครตัดต้นไม้ อีกทั้งยังร่วมมือกับสวนคิวและธนาคารพันธุ์พืช (Millennium Seed Bank) เพื่อเพิ่มเมล็ดพันธุ์ของปาล์มยักษ์ปลูกขยายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว และนำส่งให้สวนพฤกษศาสตร์ทั่วโลก.