หากอยากจำข้อมูลจากบทความนี้ได้ให้คุณงีบหลับ ทั้งนี้ "ไลฟ์ไซน์" ได้รายงานการวิจัยของนักวิจัยด้านสมองจากอิสราเอลที่สำรวจพบว่า การงีบอาจช่วยล็อกความจำระยะยาวที่บางครั้งหายไปอย่างรวดเร็ว โดยงีบหลับ 90 นาทีอาจช่วยรักษาความจำได้ดีที่สุด
อาวี คาร์นี (Avi Karni) นักวิจัยด้านสมองจากมหาวิทยาลัยไฮฟา (University of Haifa) อิสราเอล และคณะสำรวจพบว่าการงีบหลับโดยเฉพาะการงีบนาน 90 นาทีนั้นอาจช่วยกักเก็บความจำระยะยาวซึ่งในบางกรณีจะหายไปย่างไปรวดเร็วได้ แต่เขายอมรับว่ายังไม่เข้าใจกลไกที่แท้จริงของกระบวนการสร้างความจำที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ หากแต่งานวิจัยของเขานั้นแสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะรวบรวมความทรงจำได้เร็วขึ้น
ความจำระยะยาวหมายถึงความจำที่คงอยู่กับเราได้หลายปี อย่างความจำประเภท "อะไร" (what) เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน หรือความจำประเภท "ทำอย่างไร" (how to) อย่างความสามารถในการเรียนรู้ที่จะเล่นกลองชุดหรือทักษะวิ่งในการแข่งขันฟุตบอล เป็นต้น
ทั้งนี้คาร์นีได้จัดกลุ่มอาสาสมัครให้เรียนรู้ลำดับการขยับหัวแม่มือที่ซับซ้อน และแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มหนึ่งงีบหลับเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ส่วนอีกกลุ่มไม่ให้หลับ พบว่ากลุ่มคนที่ได้งีบหลับในช่วงบ่ายนั้นแสดงให้ถึงการปรับปรุงในการเรียนรู้ดังกล่าวได้ในจำนวนมาก
"หลังการนอนหลับตอนกลางคืนความสามารถของทั้งสองกลุ่มอยู่ในระดับเดียวกัน แต่กลุ่มที่ได้หลับในช่วงบ่ายมีการปรับปรุงที่เร็วกว่ากลุ่มที่ตื่นอยู่ตลอดกลางวัน" คาร์นีกล่าว และการศึกษาที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งแสดงให้เห็นว่าการงีบหลับ 90 นาทีนั้นช่วยให้เก็บความจำระยะยาวได้เร็วขึ้นอย่างไร
"การหลับระหว่างวันช่วยย่นเวลาของการบันทึกความจำประเภท "ทำอย่างไร" กลายเป็นการป้องกันการแทกแซงความจำและกันลืม แทนที่จะนอน 6-8 ชั่วโมง สมองรวบรวมความจำระหว่างการงีบหลับ 90 นาที" คาร์นีกล่าว