เยาวชนตัวน้อยตระหนักโลกร้อน หันศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในไทย พบเพิ่งเริ่มได้รับผลจากโลกร้อนไม่นาน ทั้งยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต เตือนให้เร่งรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมกันเสียแต่วันนี้ เพื่อบรรเทาผลร้ายในวันหน้า
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ หรือลีซา (LESA) สนับสนุนให้เด็กไทยฝึกฝนทำงานวิจัย หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยเกี่ยวกับผลของภาวะโลกร้อนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในประเทศไทย ซึ่งเยาวชนที่ศึกษาเรื่องนี้พบว่า ประเทศไทยเพิ่งเริ่มได้รับผลจากภาวะโลกร้อนเพียงไม่กี่ปีมานี้เอง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ด.ช.ไพบูลย์ พงษ์อัคคศิรา ชั้น ม.2 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย เปิดเผยผลการวิจัยจากการศึกษาอุณหภูมิอากาศ ระหว่างปี 2519 – 2549 ด้วยข้อมูลจากสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงราย แล้วนำมาเขียนกราฟ พบว่า ช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของ จ.เชียงราย มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีต่ำสุดในปี 2534 คือ 24.2 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยมากที่สุดในปี 2549 เท่ากับ 25.9 องศาเซลเซียส ซึ่งต่างกันถึง 1.7 องศาเซลเซียส โดยตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละปีเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างจริงจัง และคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไปด้วย
ส่วน ด.ญ.ณัฏฐ์วดา กาศลังกา ชั้น ป.5 โรงเรียนอนุบาลแพร่ ได้ศึกษาสภาพอากาศของ จ.แพร่ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนในช่วงปี 2546 – 2549 โดยรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิของจังหวัดจากสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.แพร่ แล้วนำมาเขียนกราฟ ศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี พบว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละปีอยู่ในช่วง 35.60 – 36.57 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่แตกต่างกันมากนัก แต่อาจมีแนวโน้มสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
“สภาพอากาศของ จ.แพร่ เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว สังเกตได้จากอุณหภูมิสูงสุดเริ่มสูงขึ้นจากปกติ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจยังไม่ชัดเจนนัก เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของอากาศในแต่ละปี ซึ่งมีค่าอยู่ที่ราว 26 องศาเซลเซียสกว่าๆ เช่นเดียวกันทุกปี” ด.ญ.ณัฏฐ์วดา ชี้แจง
ขณะที่ ด.ช.จีรชัย ทองพาน ชั้น ม.2 โรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ ที่ศึกษาข้อมูลอุณหภูมิจากกรมอุตุนิยมวิทยา จ.แพร่ เช่นเดียวกัน แต่ศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี ตั้งแต่ปี 2519 – 2549 พบว่าในปี 2534 มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดที่ 27.8 องศาเซลเซียส และปี 2528 มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดที่ 25.4 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ด.ช.จีรชัย ยังได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิใน จ.แพร่ แยกออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ระหว่างปี 2519 – 2529, 2530 – 2539 และ 2540 – 2549 ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของแต่ละปีในช่วงสองทศวรรษแรกมีแนวโน้มลดต่ำลง แต่ในช่วง 10 ปีหลังมีแนวโน้มสูงขึ้น
ด้าน ด.ช.ฟิกรี กีไร ชั้น ม.2 โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา เห็นว่าสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันของแต่ละภูมิภาค น่าจะมีผลทำให้อุณหภูมิต่างกันด้วย จึงศึกษาเปรียบเทียบอุณหภูมิของ จ.แพร่ และ จ.ยะลา ตั้งแต่ปี 2541 – 2549
“ในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงสุดในแต่ละปีของทั้ง 2 จังหวัด อยู่ในเดือน เม.ย. ส่วนอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ในช่วงเดือน ธ.ค. โดยในแต่ละปียะลามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าแพร่ ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะยะลาอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่าแพร่ มากกว่าจะเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน” ด.ช.ฟิกรี อธิบาย
ทั้งนี้ เหล่ายุววิจัยให้ข้อสรุปว่า ภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่นั้น เพิ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้เอง สังเกตได้จากอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละปีของแต่ละจังหวัดที่ศึกษามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีหลังๆ และยังแตกต่างกันไม่มากเท่าไหร่ ทว่าการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเสียแต่ตอนนี้จะสามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าการรณรงค์และปฏิบัติตนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของคนไทยนั้นมีมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง