เอเอฟพี - ตั้งแต่หัวปียันท้ายปีไม่มีใครไม่พูดถึงภาวะโลกร้อนและเหตุเภทภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สังเกตเห็นชัดเจน หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่สามารถสัมผัสได้ เรียกได้ว่าขณะที่ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งก็เปลี่ยนตาม
หิมะตก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น พายุไต้ฝุ่นรุนแรง ภัยแล้งที่เพิ่มทวีคูณ หรือแม้แต่เส้นทางเดินเรือผ่านขั้วโลกเหนือที่หลับใหลใต้ทานน้ำแข็งมายาวนานก็ปรากฏให้ชาวโลกเห็น เหล่านี้เป็นผลอันเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนที่ควรจะเป็น ก่อให้สิ่งอื่นๆ ต้องเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ จำนวนประชากรที่อดอยาก ไร้แหล่งพักพิงเพิ่มมากขึ้น และโรคภัยไข้เจ็บที่แพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า แถมยังจุดประกายให้เกิดแฟชั่นใหม่ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมืองกับแฟชั่น "กระเป๋าผ้า" ลดโลกร้อน
คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักให้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับสภาพการของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อันก่อให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่วโลก จนได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2550 เป็นสิ่งตอบแทน ร่วมกับอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อัล กอร์ (Al Gore)
ย้อนกลับไปช่วงกลางปี ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่มจี 8 (G8) เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และร่วมกับประเทศร่ำรวยอีกหลายประเทศในยุโรปให้คำปฏิญาณว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งในปี 2593
พอเข้าสู่เดือน ก.ค. นักร้องนักแสดงชั้นนำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างร่วมทำกิจกรรมไลฟ์เอิร์ธคอนเสิร์ต (Live Earth concert) เพื่อโลกสีเขียวของเรา ถัดมาเดือน ก.ย. บัน คี-มุน (Ban Ki-moon) เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ประกาศว่าตอนนี้หมดเวลาสงสัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งมือทำคือการรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงเดิมไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานสืบไป
และที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ กับการประชุมสหประชาชาติภายใต้กรอบอนุสัญญาแม่บทว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก เพื่อเตรียมการบรรเทาภาวะโลกร้อนภายหลังพีธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) หมดอายุลงในปี 2555
ประชาชนต่างเข้าใจดีว่าปัญหาภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดผลอย่างไรบ้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างเป็นห่วงกันว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงและมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในไม่ช้า
การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลกเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ภูมิอากาศผิดเพี้ยน นอกจากจะเป็นการจุดประกายให้หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาหันหน้าหาแหล่งพลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีข้อตกลงให้ประเทศร่ำรวยที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลเสียที่เกิดขึ้นด้วย
หลังจากนี้อีก 2 ปี ขณะที่เวลาของการเจรจาเรื่องภูมิอากาศโลกถึงคราวหยุดชะงักเพื่อที่จะเดินหน้าต่อ เจ้าหน้าที่ของประเทศต่างๆ จะต้องออกมาเจรจาต่อรองผลประโยชน์และหลักปฏิบัติในการลดภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจังอีกครั้ง และอาจมองไม่เห็นทางสว่างในการแก้ปัญหาได้เลยหากบุชคัดค้านข้อตกลงลักษณะเดียวกับพิธีสารเกียวโตของนานาประเทศ
ประชากรโลกต่างสงสัยและตั้งคำถามขึ้นมาว่า หากเกิดเหตุลอบวางเพลิงในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้เวลาถึง 2 ปี เพื่อหาวิธีควบคุมเพลิงเชียวหรือ
"เราคงต้องพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาชีวิตรอดจากเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว ทว่าช่องว่างระหว่างความจำเป็นของสิ่งที่ต้องกระทำกับผลประโยชน์ทางการเมืองกำลังขยายวงกว้างขึ้นทุกขณะ" บิล แฮร์ (Bill Hare) นักวิชาการของสถาบันวิจัยภูมิอากาศพอตสดัม (Potsdam Institute for Climate Research) เยอรมนี เป็นผู้ให้คำตอบ
เขายังแสดงความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า หากสหประชาชาติเคลื่อนไหวช้าราวกับเต่าคลานเพียงเพราะต้องรอให้นานาประเทศเห็นเป็นเสียงเดียวกัน อาจไม่สามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนอย่างภาวะโลกร้อนที่คุกคามไปทั่วโลกขณะนี้ได้เลย และอาจไม่มีอนาคตสำหรับพวกเราทุกคนอีกต่อไปก็ได้