เอเอฟพี - ฝันกันมาหลายสิบปีที่จะค้นพบวิธีรักษาโรคต่างๆ ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ให้ผู้ป่วยสร้างอวัยวะใหม่ได้อย่างไร้ข้อจำกัด ในที่สุดสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ใฝ่ฝันและที่ผู้ป่วยทั่วโลกรอคอยก็ใกล้เป็นความจริงขึ้นมาทุกขณะเมื่อองค์ความรู้และวิทยาการด้านเซลล์ต้นกำเนิดพัฒนาขึ้นจนสามารถเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้เป็นเซลล์ตัวอ่อนได้ราวกับย้อนเวลาด้วยไทม์แมชชีน
สำนักข่าวเอเอฟพียกให้ปี 2007 เป็นปีทองของนักวิทยาศาสตร์ด้านเซลล์ต้นกำเนิดเลยก็ว่าได้ หลังจากที่รอคอยกันมานานหลายสิบปี มาวันนี้ความใฝ่ฝันที่จะทำให้มนุษย์สร้างเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ขึ้นมาซ่อมแซมของเดิมที่ถูกทำลายไปเดินมาถึงจุดหนึ่งที่อยู่ห่างจากเส้นชัยเพียงไม่กี่ก้าว
สืบเนื่องมาจากเมื่อนักวิทยาศาสตร์แดนซากุระประกาศความสำเร็จของเขาที่สามารถเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้เป็นเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนได้เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และตามติดมาด้วยผลสำเร็จของนักวิจัยสหรัฐฯ ที่สามารถรักษาโรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์ (Sickle cell anemia) ในหนูได้โดยใช้สเต็มเซลล์จากเซลล์ผิวหนังของหนู
นักวิทยาศาสตร์ทราบกันดีว่าเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (stemcell) มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ทั่วร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน จึงต้องการนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค ทว่างานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ตลอดหลายปีที่ผ่านมาถูกหลายฝ่ายคัดค้านเพราะไม่เห็นด้วยที่ต้องฆ่าตัวอ่อนเพื่องานวิจัย ซึ่งก็มีตัวอ่อนมากมายนับไม่ถ้วนถูกทำลายไปแล้วส่วนหนึ่ง
ทว่า จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ไม่เห็นด้วยกับงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งการประกาศห้ามทำวิจัยสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนในสหรัฐฯ ทั้งหมด ก็กระทบต่องานวิจัยระดับโลก ขณะที่ประเทศต่างๆ แม้ไม่มีกฎหมายห้ามอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นไปอย่างลำบากเพราะเซลล์ไข่ที่นำมาใช้ในงานวิจัยนั้นต้องได้มาจากการบริจาคอย่างสมัครใจ
อย่างไรก็ดี ในวันนี้นักวิจัยสามารถผลิตเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนได้แล้วโดยที่ไม่ต้องใช้ตัวอ่อนแต่ใช้เซลล์ผิวหนังแทน ซึ่งมีปริมาณมากมายแถมยังไม่ต้องทำลายตัวอ่อนอย่างที่ถูกคัดค้านมาแต่เดิมว่าเป็นเรื่องผิดจริยธรรม
เดิมนักวิจัยจะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมาจากตัวอ่อนที่เหลือจากการปฏิสนธินอกมดลูก หรือได้จากการโคลนนิง แต่วิธีใหม่ที่เพิ่งค้นพบโดยทีมนักวิจัยของญี่ปุ่นคือการนำเซลล์ผิวหนังของผู้ใหญ่มาใส่ยีนสำคัญที่ควบคุมความเป็นสเต็มเซลล์ของตัวอ่อน แล้วเพาะเลี้ยงจนได้เซลล์ที่มีลักษณะคล้ายกับเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากตัวอ่อน ซึ่งวิธีนี้ไม่ยุ่งยากและต้นทุนต่ำกว่าการโคลนนิงเพื่อให้ได้ตัวอ่อน อีกทั้งยังทำได้ในห้องปฏิบัติการชีววิทยาทั่วไป แม้แต่เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) ผู้ให้กำเนิดแกะดอลลี่จนกลายเป็นตำนานแห่งการโคลนนิงยังสนับสนุนผลสำเร็จครั้งนี้
ก่อนหน้านี้นักวิจัยต่างพยายามศึกษาการพัฒนาของโรคต่างๆ และการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งต้องทดลองในสัตว์หรือในอวัยวะที่ได้รับบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่สเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่ได้จากเซลล์ผิวหนังนั้นสามารถเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ได้ ทำให้ง่ายต่อการศึกษาพันธุกรรมของเซลล์ที่เป็นโรค และง่ายต่อการทดลองคุณสมบัติของยารักษาโรค
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือนักวิจัยสามารถสร้างสเต็มเซลล์ที่มีรหัสพันธุกรรมอย่างจำเพาะกับผู้ป่วยได้ ช่วยลดโอกาสที่ร่างกายผู้ป่วยจะปฏิเสธเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ปลูกถ่ายขึ้นมาใหม่ ซึ่งเห็นได้จากความสำเร็จในการรักษาโรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์ในหนูได้ด้วยเซลล์ผิวหนังส่วนหางของหนูตัวที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว
ทีมวิจัยได้สกัดเซลล์ส่วนหนึ่งจากหางของหนูตัวดังกล่าวมาผ่านกระบวนการต่างๆ จนได้เป็นเซลล์ต้นกำเนิด จากนั้นฉีดกลับเข้าไปในเซลล์ไขกระดูกแล้วถ่ายให้กับหนู โดยที่ไม่ต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันกับหนูตัวนั้นร่วมด้วยเลย แต่ร่างกายของหนูก็ไม่เกิดการต่อต้านแต่อย่างไดและให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
กระนั้นแล้วก็ยังมีนักวิจัยบางส่วนที่ออกโรงเตือนว่า การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวยังเป็นวิธีที่ใหม่อยู่มากและอาจไม่ได้ผลตามที่คาด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าด้านสเต็มเซลล์บางรายเห็นว่า การนำเซลล์ผิวหนังมาทำให้เป็นเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนยังไม่เพียงพอที่จะรักษาอาการป่วยต่างๆ ได้ และในอนาคตอาจไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะนำมาใช้แทนสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของแท้
"งานวิจัยนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เรายังไม่เข้าใจถ่องแท้ว่าเซลล์เหล่านั้นทำงานกันอย่างไร และนี่ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะหยุดงานวิจัยไว้เพียงเท่านี้ เพราะสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนยังคงเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักวิจัย" เจมส์ ธอมสัน (James Thomson) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) เมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา แสดงความเห็น ซึ่งธอมสันเป็นหัวหน้าทีมวิจัยที่ค้นพบองค์ความรู้เกี่ยวกับสเต็มเซลล์มาแล้วไม่น้อย
อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่าปี 2549 มีหลายหน่วยงานวิจัยได้ประกาศเดินหน้าศึกษาพัฒนาเกี่ยวกับเสต็มเซลล์ แต่จนกระทั่งสิ้นปี 2550 นี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าและผลงานที่เป็นรูปธรรมมากเท่าใดนัก