เรียกได้ว่ากระแสตื่นตัวต่อภาวะ "โลกร้อน" ที่เด่นชัดในปี 2550 นี้ได้จุดประกายแฟชันหิ้ว "กระเป๋าผ้า" ขึ้นในหลายวงการ มาดูกันว่ามีกระเป๋ามากมายหลายแบบอะไรบ้าง ลองก้าวเท้าสำรวจตลาดนัดจตุจักรแหล่งรวมสินค้าทุกรูปแบบและเป็นอีกแหล่งชอปยอดฮิตของวัยรุ่นและผู้คนหลากหลายวัยจะพบกระเป๋าผ้าอินเทรนด์ละลานตา
ร้าน "ซิมพลีไท" (Simply Tai) ที่ขายสินค้าประเภทเสื้อผ้า-กระเป๋าแนวไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าแนวพื้นเมืองเหนือ ย่าม มา 6-7 ปี พอมีกระแสโลกร้อนที่แฟชันกระเป๋ากลายเป็นที่นิยม "ภูเบศวร์ เพชรภู่" เจ้าของร้านจึงขอร่วมวงผลิตกระเป๋าผ้าตอบสนองความต้องการตลาดหลังจากเห็นว่ามีการรณรงค์กันมาก โดยใส่ดีไซน์การ์ตูนชาวเขาลงบนผ้าฝ้ายดิบพร้อมคำขวัญที่บ่งให้รู้ว่าผลิตมาใช้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมระบุว่าช่วงนี้กระเป๋าขายดี
"กลายเป็นเทรนด์ สะพายแล้วทันสมัย วัยรุ่นก็ใช้แต่ไม่รู้เขาคิดยังไง อยากตามกระแสหรือช่วยลดภาวะโลกร้อน" ภูเบศวร์กล่าว และเพิ่มเติมว่าเดี๋ยวนี้ใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้าลดลงถึง 30% เพราะลูกค้าบางคนก็ปฏิเสธไม่เอาถุง แต่ถ้าจะให้ดีอยากให้ลดการใช้ถุงพลาสติกเหลือสักครึ่งหนึ่ง
มาถึงร้านค้าเปิดใหม่ยังไม่มีป้ายชื่อแถวโครงการ 7 มีกระเป๋าผ้ามากมายหลายแบบและหลายเนื้อผ้า ทั้งกระเป๋าผ้ากระสอบ ผ้าดิบแบบหนาและแบบบาง รวมทั้งกระเป๋าหนัง ออกแบบเอง ตัดเอง เย็บเอง "ไมเคิล ซิมเมน" (Michael Simmen) พนักงานร้านบอกว่าปกติก็ขายกระเป๋าอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับกระแสโลกร้อนแต่ก็มีบางลวดลายที่เข้ากับกระแส สนนราคาขึ้นอยู่กับแบบและเนื้อผ้า
อีกร้านที่ยอมรับว่าผลิตกระเป๋าเพื่อรับกับกระแสโดยตรงเป็นของ "สุพัตรา แถมมนตรี" ที่มีอาชีพหลักผลิตสินค้าพรีเมียมตามคำสั่งลูกค้าและใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์มาตั้งของขายหน้าร้านเพื่อนได้ราว 1 เดือน เธอเผยว่าแรกๆ ก็ขายดีแต่ช่วงนี้คนขายกันเยอะก็ต้องลดราคาลงมา ส่วนลักษณะสินค้าก็ต่างไปจากร้านอื่นๆ เน้นผลิตขึ้นมาจำกัด ตัดเอง เย็บเอง เพ้นท์เอง พร้อมใส่กุ๊นให้ดูแตกต่าง และตอนนี้ก็มีลูกค้าจ้างให้ผลิตเป็นของชำร่วยงานแต่งซึ่งกำลังอยู่ระหว่างออกแบบ สำหรับเนื้อผ้าที่ใช้ก็เป็นผ้าดิบที่รับซื้อมาจากตลาดผ้า
ด้านร้านสไตล์จีนๆ อย่าง "กากี่นั้ง" ที่ขายทั้งเสื้อผ้าและกระเป๋าผ้ามาเกือบ 10 ปี "ประไพ รังสิตพานิช" เจ้าของร้านระบุพอมีกระแสโลกร้อนก็ขายกระเป๋าได้ดีขึ้นเยอะและยังรับผลิตตามสั่ง 100 ใบขึ้นไปด้วย โดยใช้ผ้าดิบในการตัดเย็บซึ่งมีหลายแบบ ทั้งแบบกระดาษ A4 ที่ได้รับคำสั่งผลิตสำหรับแจกในงานสัมมนา และแบบชอปปิงแบก (Shopping) ที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อีกทั้งลูกค้าก็ให้ความร่วมมือในการไม่รับถุงพลาสติก
ส่วนกระเป๋าผ้าสไตล์เก๋ไก๋ไม่ซ้ำใครในร้าน "ลูกลิง" นั้น "เกล็ดดาว บุตรตรี" เจ้าของร้านระบุขายเสื้อ-กางเกงที่ใช้ผ้าไทยมาได้ 5 ปีและขายกระเป๋าผ้ามาได้ 3 ปีตั้งแต่ยังไม่เป็นที่นิยมความน่ารัก เมื่อมีกระแสโลกร้อนยอดขายก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมจากวันละประมาณ 30 ใบก็ขายได้วันละกว่า 100 ใบ วัตถุดิบใช้ผ้าไทยผสมผ้าดิบและออกแบบลายสัตว์น่ารักๆ ตามลายเสื้อผ้า ซึ่งก็มีลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ โดยต่างชาติจะนิยมซื้อเป็นของฝาก
สำหรับร้านที่มีกระเป๋าผ้าแบบเรียบง่ายขนาดเดียวทั้งร้านอย่าง "บายแฮนด์ บายฮาร์ท" (By Hand By Heart) "ภาวินี คำภิรมย์" เผยขายกระเป๋าผ้ามาได้ 2 ปีแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแม่บ้านและนักท่องเที่ยว รูปแบบของกระเป๋าเน้นความเรียบง่ายและใช้วัสถุที่ย่อยสลายง่าย ไม่ใช่ทั้งกระดุมและซิป พิมพ์ลวดลายเป็นตัวหนังสือ โดยก่อนหน้านี้จะพิมพ์คำว่า On Tour เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งค่อนข้างขายดี พอมีกระแสโลกร้อนจึงเพิ่มคำว่า Save Earth แต่ก็มีคำอื่นๆ และชื่อแหล่งท่องเที่ยวของไทยด้วย ส่วนการใช้ถุงพลาสติกในร้านลดลงหรือไม่เธอตอบทันควันว่าไม่ลดสักเท่าไหร่ พร้อมยืนยันด้วยลูกค้าที่มาซื้อกระเป๋าและขอใส่ถุงพลาสติก
"พอมีกระแสโลกร้อนก็ขายได้เพิ่มเท่าตัว จากเดิมวันละ 10 ใบเป็นวันละ 30 ใบ เมื่อก่อนขายแม่บ้านและนักท่องเที่ยว แต่เดี๋ยวนี้มีวัยรุ่นและเด็กนักเรียนมาซื้อกันเยอะ แต่การใช้ถุงก็ไม่ลดเท่าไหร่ มีบ้างที่บางครั้งซื้อกระเป๋าเอาไปใส่ของโดยไม่ขอถุงพลาสติก บางคนก็ให้ใส่ในถุงที่มีอยู่แล้ว พี่ก็จะบอกว่า OK ค่ะ Save Earth" ภาวินีกล่าว
นอกจากกระเป๋าผ้าที่วางจำหน่ายตามร้านค้าแล้ว ยังมีกระเป๋าผ้ามีหลายแบบที่แจกกันทั้งในงานสัมมนา เทศกาลภาพยนตร์ หรือแม้แต่เป็นสินค้าสมนาคุณลูกค้า แม้กระทั่งงานดนตรีอินดี้อย่าง "แฟท เฟสติวัล" (FAT Festival) ก็รับกระแสโลกร้อนด้วยการผลิตกระเป๋าลวดลายเฉพาะตัวมาจำหน่าย
ทางด้านคนใช้กระเป๋าผ้าอย่าง "เดช คงประสพ" ช่างศิลป์ของกรุงเทพมหานคร เผยว่าได้รับแจกกระเป๋าจากที่ทำงานและจะใช้เวลาที่ต้องซื้อของหรือบรรจุของจำนวนมาก บางวันก็ใส่กล่องข้าว อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเสื้อและกางเกง ซึ่งหลังจากหันมาใช้กระเป๋าผ้าก็ไม่ค่อยได้ใช้ถุงพลาสติก และเพื่อนๆ ที่ทำงานซึ่งได้รับแจกกระเป๋าผ้าเช่นเดียวกันก็ใช้กันเยอะ
ก็หวังว่าความนิยมใช้กระเป๋าผ้าจะไม่เป็นกระแค่แฟชันที่ผ่านมาแล้วผ่านไป หากทุกคนตระหนักที่จะประหยัดและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า