วช. เผยผลรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปีนี้ มี 6 นักวิจัยจาก 6 สาขา คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี 50 ไปครอง พร้อมด้วยรางวัลผลงานวิจัยและรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกอีกเกือบ 40 ผลงาน แพทย์ศิริราชควบ 2 รางวัล ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนักวิจัยดีเด่นและผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากงานวิจัยเรื่องไข้เลือดออก
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงข่าวผลการประกาศรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2550 ซึ่งประกอบไปด้วยรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ, รางวัลผลงานวิจัย และรางวัลวิทยานิพนธ์ (ปริญญาเอก) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550
ศ.นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ จากหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็น 1 ใน 6 นักวิจัยที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ประจำปีนี้ พร้อมด้วยรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมอีกหนึ่งรางวัล จากงานวิจัยโรคไข้เลือดออกและไวรัสเดงกี่
"โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยมาหลายสิบปี แต่ละปีมีผู้ป่วยเกือบ 1 แสนราย และขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งวัคซีนที่ดีนั้นต้องป้องกันเชื้อไข้เลือดออกได้ครบทั้ง 4 ชนิด และการจะผลิตวัคซีนได้ต้องเข้าใจกลไกและธรรมชาติของเชื้อไวรัสเดงกี่ และต้องมีเชื้อต้นแบบหลายชนิดสำหรับผลิตวัคซีน" ศ.นพ.ปรีดา กล่าว ซึ่งจากการวิจัยมากว่า 30 ปี ศ.นพ.ปรีดา และคณะสามารถสร้างเชื้อไวรัสเดงกี่เป็นต้นแบบผลิตวัคซีนได้แล้วกว่า 10 ชนิด ทว่ายังต้องใช้เวลาอีกนับ 10 ปี กว่าจะได้วัคซีนที่ใช้กับคนได้จริง
ศ.นพ.ปรีดา ยังบอกด้วยว่า ประเทศไทยสามารถใช้วิกฤตปัญหาเรื่องไข้เลือดออกระบาดเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีอัตราการตายจากไข้เลือดออกต่ำกว่าอีกหลายประเทศที่มีการระบาดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผลงานเด่นที่ผ่านมาได้แก่ การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก และการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody) ต่อไวรัสเดงกี่ เป็นต้น ซึ่งโมโนโคลนอลแอนติบอดีนี้จะมีความจำเพาะเจาะจงกับโปรตีนของเชื้อไวรัส มีประโยชน์ในการตรวจหาปริมาณเชื้อเดงกี่ในผู้ป่วย และลดการนำเข้าโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ นพ.ปรีดา และคณะวัจัยเรื่องไข้เลือดออก ได้รับรางวัลมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปี 2550 ไปก่อนหน้าแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย ตันฑุลานิ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานการสร้างตัวตรวจวัดหรือเซ็นเซอร์ที่ใช้งานทางด้านสิ่งแวดล้อมและการแพทย์ โดยใช้เวลาพัฒนาวัจัยอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ได้เซ็นเซอร์ตรวจวัดที่จำเพาะและแม่นยำ โดยใช้เทคนิคทางเคมีไฟฟ้า ซึ่งมีความไวสูงและเสียค่าใช้จ่ายน้อย เช่น การตรวจวัดปริมาณไนเตรท (Nitrate) ที่ปนเปื้อนในน้ำที่ใช้ในการเกษตร และการวินิจฉัยโรคโดยตรวจวัดปริมาณของโลหะโซเดียมในเลือด
ส่วน ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ นักวิจัยดีเด่นสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ที่ทุ่มเทเวลาเกือบ 30 ปี ศึกษาพันธุกรรมและการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำให้ได้ลักษณะดีตามที่ต้องการโดยใช้เครื่องหมายพันธุกรรม เช่น ปลาดุกอุย ปลาบึก หอยเชลล์ และโดยเฉพาะกุ้งก้ามกรามที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างมาก ซึ่ง ดร.อุทัยรัตน์ มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงอย่างถูกวิธีให้แก่เกษตรกร
นอกจากนี้ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติอีก 3 สาขา เป็นนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสิ้น สาขาปรัชญา ได้แก่ รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ จากคณะอักษรศาสตร์, สาขานิติศาสตร์ ได้แก่ ศ.วีระพงษ์ บุญโญภาส จากคณะนิติศาสตร์ และสาขาการศึกษา ได้แก่ ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช จากคณะครุศาสตร์
ส่วนรางวัลผลงานวิจัย มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม 4 เรื่อง, ผลงานวิจัยชมเชย 9 เรื่อง, วิทยานิพนธ์ดีเยี่ยม 8 เรื่อง และวิทยานิพนธ์ชมเชย 18 เรื่อง
ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลแก่นักวิจัยที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้นรวม 45 รางวัล จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 2551 ระหว่างการจัดงานวันนักประดิษฐ์ ครั้งที่ 13 และวันนักประดิษฐ์โลก ครั้งที่ 1 ณ อิมแพค เมืองทองธานี