ค่ำคืนหนึ่งกลางเดือนสุดท้ายแห่งปี ท่ามกลางอากาศหนาวน้ำค้างพราวเหนือยอดเนินเขาใต้ผืนฟ้าเมืองกาญจน์ ยังมีเยาวชนจำนวนหนึ่งกำลังนอนนับดาวตก และอีกจำนวนหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการบันทึกภาพท้องฟ้าขณะเกิดฝนดาวตก อย่างไม่พรั่นพรึงกับความหนาวเย็นที่ยิ่งดึกยิ่งบาดลึกบนผิวหนัง เป็นเวลาเดียวกันกับที่ใครหลายคนกำลังหลับใหลอยู่ใต้ผ้าห่มในห้องนอนอุ่นๆ
ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าชื่นชมใช่ว่าจะมีให้เห็นกันบ่อยๆ หรือที่มีบ่อยครั้งอย่างฝนดาวตกที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน ก็ใช่ว่าเราจะได้เชยชมกันครบทั้ง 12 ครั้งในรอบ 1 ปี เพราะหากสถานที่และท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย ปรากฏการณ์สวยงามเช่นนั้นก็คงพลาดจากสายตาเราไปอย่างน่าเสียดาย
แต่เมื่อค่ำคืนวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมานี้นับเป็นโอกาสดีที่คนไทยเกือบทั่วทั้งประเทศได้ยลฝนดาวตกเจมินิดส์ รวมทั้งเยาวชนกว่า 30 ชีวิต จาก 4 โรงเรียน ที่นัดรวมพลนับฝนดาวตกปิดท้ายปี 2550 กลางหอดูเกิดแก้ว อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี โดยมีคุณครูพี่เลี้ยงจากโรงเรียนต้นสังกัดและศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ หรือลีซา (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมสังเกตการณ์
ในบรรดาฝนดาวตกทั้ง 12 ชุดที่เกิดขึ้นใน 12 เดือนของทุกปี ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteor Shower) นับเป็นฝนดาวที่มีปริมาณการตกและสวยงามมากที่สุด อีกทั้งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกลางฤดูหนาวของเดือน ธ.ค. ที่อากาศเย็นสบาย ท้องฟ้าโปร่งใส เหมาะอย่างยิ่งแก่การชมฟ้ายามค่ำคืนที่พร่างพราวไปด้วยกลุ่มดาวนับล้านดวงที่อยู่ไกลออกไปจนสุดขอบจักรวาล
น.อ.ฐากูร หรือที่เด็กๆ เรียกว่า อ.ฐากูร ให้รายละเอียดว่า น้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นยุววิจัยที่ร่วมทำวิจัยในโครงการของลีซาอยู่ก่อนแล้ว และส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการเป็นครั้งแรก ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้เองที่ลีซาเตรียมดันเข้าสู่วงการนักวิจัยรุ่นเยาว์ โดยให้ชิมลางการทำวิจัยทางดาราศาสตร์จากปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เป็นงานแรก และให้ยุววิจัยรุ่นพี่คอยชี้แนะ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโลกและดาราศาสตร์ด้วย
ช่วงบ่ายเหล่าเยาวชนต่างทำกิจกรรมตามที่ได้วางแผนไว้แล้ว กลุ่มยุววิจัยหน้าใหม่จากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.เชียงราย ฝึกการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว เลย์แมนน์ ไซส์โมกราฟ (Laymann Seismograph) บางส่วนศึกษาเรื่องการวัดปริมาณรังสียูวี (UV) ร่วมกับยุววิจัยจากโรงเรียนศึกษานารี
ส่วนยุววิจัยจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เตรียมติดตั้งกล้องดูดาว กล้องถ่ายรูป และกล้องวีดิโอดิจิตอลความไวแสงสูงสำหรับบันทึกอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญ พร้อมทั้งวางแผนเก็บข้อมูลฝนดาวตก
สังเกตท้องฟ้าเตรียมพร้อมนับฝนดาว
หลังอาหารมื้อเย็นสิ้นสุดลง ทุกคนก็พร้อมเพรียงกันที่ลานกว้างด้านทิศตะวันออกของหอดูดาวที่ตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นเวลา 1 ทุ่มกว่า ยังเหลือเวลาอีกหลายชั่วโมงที่จะเริ่มต้นเก็บข้อมูลฝนดาวตกอย่างจริงจัง ซึ่งกำนดไว้ว่าเริ่มตั้งแต่ 22.00 น. เป็นต้นไป
ระหว่างรอปรากฏการณ์เป้าหมายก็มีฝนดาวตกเกิดขึ้นบ้างแล้วประปราย ชาวค่ายทุกคนได้เรียนรู้การสังเกตดวงดาวและตำนานของกลุ่มดาวบนท้องฟ้า โดยมีแผนที่ดาวที่แต่ละคนทำขึ้นเองเมื่อตอนกลางวันเป็นอุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ กิจกรรมส่องกล้องสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ดาวหางโฮล์มส (17P/Holmes) และดาวอังคาร ซึ่งปีนี้เป็นอีกปีกหนึ่งที่โลกของเรากำลังโคจรแซงหน้าดาวเพื่อนบ้านครบอีกรอบหนึ่งแล้ว เราจึงสังเกตเห็นดาวอังคารสว่างไสวอยู่ใกล้กลุ่มดาวคนคู่หรือเจมิไน (Gemini)
ยุววิจัยจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจากโรงเรียนศึกษานารีเตรียมพร้อมนับฝนดาวด้วยตาเปล่า ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน ต้องอยู่ในท่านอนโดยหันศีรษะเข้าหากัน หันปลายเท้ายื่นไปทาง 4 ทิศหลัก เพื่อแบ่งทิศทางการสังเกตจำนวนฝนดาวของแต่ละคนแล้วค่อยมาผนวกรวมกันภายหลัง ส่วนเยาวชนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนก็พร้อมกันนับฝนดาวอยู่ที่หน้าคอมพิวเตอร์ที่ต่อเชื่อมกับกล้องวีดิโอ
เมฆมาฟ้าปิด เมฆลาฟ้าเปิด
ทุกคนที่ร่วมสังเกตการณ์ก็มีส่วนร่วมในการนับฝนดาว ซึ่งหากใครพบเห็นฝนดาวปรากฏขึ้นทางทิศใด เวลาใด ก็ส่งเสียงบอกได้ทันที โดยดาวตกที่เกิดขึ้นนั้นต้องลากเส้นสมมติย้อนกลับเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ได้จึงนับรวมเป็นฝนดาวตกเจมินิดส์ และการนับฝนดาวจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งที่เข้าสู่ชั่วโมงใหม่ เพื่อไม่ให้สับสนและสะดวกต่อการนับเลข
หลัง 22.00 น. ผ่านไปแล้วเกือบครบชั่วโมงกับดาวตกกว่า 30 ดวง เมฆบางเบาเริ่มเคลื่อนเข้ามาบดบังหมู่ดาว คาราวานลีซาเริ่มถอดใจบ้างเล็กน้อย แต่แสงดาวเลือนลางจางลงทุกขณะ ชาวคณะจึงยุติกิจกรรมไว้เพียงเท่านี้ก่อน แล้วแยกย้ายกันไปคลายหนาวด้วยกระเพาะปลาร้อนๆ และกระเพาะปลาหม้อโตก็หมดลงพร้อมกับกลุ่มเมฆที่เคลื่อนตัวจากไปในเวลา 5 ทุ่มกว่า
ดาวตกจากกลุ่มดาวเจมิไนทยอยฉายแสงพาดผ่านท้องฟ้าทั่วทุกทิศทั้งชนิดแสงเลือนลาง สว่างแบบลูกไฟ (Fire Ball) ดวงโตก่อนดับวูบลง หรือคล้ายร่องรอยของไอพ่น (Train) สร้างความยินดีแก่ทุกคนที่เฝ้ามองอย่างตื่นเต้น แต่กระนั้นก็ยังมีเมฆหมอกมาคั่นกลางให้เสียอรรถรสเป็นครั้งคราวหลายต่อหลายครั้ง จนเวลาล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่ หลายคนเผลอหลับไปบ้าง บางคนทนง่วงไม่ไหวต้องกลับเข้าแคปซูลที่พัก ส่วนคณะนับดาวตกยืนหยัดอยู่จนถึงตี 3 จึงปิดภารกิจของค่ำคืนนั้น
ฝนดาวน้อยกว่าที่คิด
ช่วงสายของวันใหม่ นายเลิศชนม์ ธนสุกาญจน์ ชั้น ม.6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม สรุปให้ฟังว่า จากการณ์สังเกตจำนวนฝนดาวตกตั้งแต่เวลา 22.00 - 03.00 น. นับฝนดาวตกได้ทั้งสิ้น 230 ดวง มีอัตราเร็วของการตกเฉลี่ย 46 ดวงต่อชั่วโมง โดยมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 95 ดวงต่อชั่วโมง ในช่วง 00.00 - 01.00 น. ต่ำสุดที่ 14 ดวงต่อชั่วโมงในเวลา 02.00 - 03.00 น. ซึ่งที่จริงแล้วอัตราเร็วการตกเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณเกือบ 100 ดวงต่อชั่วโมง แต่ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีเมฆมาบดบังทำให้ท้องฟ้าปิดช่วง ทำให้พลาดเห็นดาวตกไปหลายดวงอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ดี เลิศชนม์ รู้สึกประทับใจกับความสวยงามของฝนดาวตกครั้งนี้มาก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาได้มาร่วมกิจกรรมกับลีซาและได้เห็นฝนดาวตกจำนวนมาก แม้ก่อนหน้านี้จะเคยเห็นดาวตกมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ตื่นเต้นเท่าครั้งนี้ ซึ่งเขาชอบศึกษาเรื่องดวงดาวและกลุ่มดาวกับตำนานเทพเจ้ากรีกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การมาร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์ครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งครั้งที่เขาจะไม่มีวันลืม
ส่วน ด.ช.ปรเมศวร์ (ปอ) วัชราวานิชย์วงศ์ ม.1 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่ากลุ่มของเขาที่เฝ้าดูปรากฏการณ์และนับจำนวนฝนดาวตกด้านทิศเหนือที่ผ่านหน้ากล้องวีดิโออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ 20.00 - 03.00 น. มีดาวตกผ่านรัศมีของหน้ากล้องวีดิโอไปกว่า 10 ดวง เป็นลูกไฟเสีย 3 ดวง จากประสบการณ์ครั้งนี้ปอบอกว่าช่วยฝึกให้เขาอดทนกับความเหนื่อยและความง่วงนอน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์ต้องทำให้ได้
ฝนดาวตกเจมินิดส์ ความประทับใจไม่รู้ลืม
ด้าน 4 สาวน้อยชั้น ม. 2 จากรั้วโรงเรียนศึกษานารี ด.ญ.รังสิมา คาทวีกุล, ด.ญ.บุณยานุช แซ่ตั้ง, ด.ญ.จิรัศยา ด่านก้าวหน้า และ ด.ญ.อัจจิมา ธนกรวิทย์ ที่มาออกค่ายดาราศาสตร์ครั้งแรก และเตรียมพร้อมเป็นยุววิจัยรุ่นต่อไปของลีซา และรวมกลุ่มกันทำหน้าที่นับดาวตก กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุกและตื่นเต้นมาก ได้ชื่นชมฝนดาวตกที่สวยงาม
"ได้ส่องกล้องโทรทัศน์มองเห็นหลุมมากมายบนดวงจันทร์แทนที่จะเห็นกระต่ายอย่างที่เคยจินตนาการไว้ และได้เห็นฝุ่นสีส้มบนดาวอังคาร และวงแหวนของดาวเสาร์ด้วย" ทั้ง 4 คน ตอบพร้อมกันอย่างไม่ต้องคิดมากเลยว่า หัวข้องานวิจัยของพวกเธอต้องเป็นเรื่องของดวงดาวอย่างแน่นอน
ส่วน 3 หนุ่มน้อย ชั้น ป.5 จาก โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ที่ประกอบไปด้วย ด.ช.ภคิน (พีส) อัศวภาณุวัฒน์, ด.ช.ชุษณะ (ณัช) พันธุ์เจริญ และ ด.ช.อริยผล (ผล) ตึกดี บอกว่าก่อนหน้านี้เคยเห็นดาวตก เคยดูดาวที่ท้องฟ้าจำลองหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับดวงดาวมาบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นฝนดาวตกมากมาย รู้สึกตื่นเต้นประทับใจมาก และจะนำประสบการณ์ครั้งนี้กลับไปเล่าให้เพื่อนที่ไม่ได้มาฟัง
ในครั้งนี้น้องๆ ทั้ง 3 คน มีส่วนช่วยโครงการวิจัยฝนดาวตกเจมินิดส์ร่วมกับพี่ๆ โดยการส่องกล้องโทรทัศน์วัดองศาของกลุ่มดาวคนคู่ที่ปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ หากครั้งหน้ามีโอกาสก็จะมาร่วมกิจกรรมอย่างนี้อีก และอยากทำวิจัยตามรอยยุววิจัยรุ่นพี่ด้วย ซึ่งน้องณัชชอบดาวพุธ เพราะอุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและไม่เหมือนดาวดวงอื่นๆ น้องผลชอบดวงอาทิตย์มากที่สุด เพราะให้ความอบอุ่นและเป็นศูนย์กลาง ส่วนน้องพีสชอบดาวยูเรนัสเพราะองศาการหมุนรอบตัวเองที่เอียงไม่เหมือนใคร
ยุววิจัยที่เก๋าเกมอย่างน้องหงส์ ด.ญ.เปมิกา จิรกาลนกุล ม.2 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ที่ร่วมกิจกรรมกับลีซามาหลายครั้งแล้ว ล่าสุดกำลังศึกษากลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี บอกว่าดาราศาสตร์มีเสน่ห์ที่น่าหลงใหลและมีเรื่องราวให้ค้นคว้าไม่มีที่สิ้นสุด ตำนานของดวงดาวช่วยสร้างจินตนาการและต่อยอดความคิดของเราต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์ช่วยให้เราค้นหาดาวอื่นๆ หรือดาวที่มีลักษณะคล้ายกับโลกได้
ไม่ว่าใครจะชอบดาวดวงไหน หรือประทับใจสิ่งใดบนท้องฟ้าในค่ำคืนที่ผ่านมา แต่ทุกคนมีความมุ่งหวังเหมือนกันที่จะค้นหาความลับของจักรวาลต่อไป และเก็บความประทับใจของฝนดาวตกเจมินิดส์ครั้งนี้ไว้ไม่รู้ลืม
--------------------------------------------------------
ชมคลิปที่บันทึกฝนดาวตกเจมินิดส์จากการสังเกตการณ์ของเยาวชนตัวน้อย