การก่อสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” มีความจำเป็นและคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน? ยังเป็นคำถามค้างคาใจคนไทยทุกทีที่หยิบยกขึ้นมากล่าวถึง สำหรับโครงการลงทุนนับพัน -นับหมื่นล้านบาทนี้ และอาจจะยังคงเป็นคำถามอยู่เรื่อยไป หากไม่มีคำตอบที่น่าพึงพอใจออกมา... เรื่องนี้จึงมีค่าควรแก่การไขความกระจ่างแก่สังคม
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของคนไทย ด้วยงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 7,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 140,000 ตร.ม. ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ใช้สอย 58,000 ตร.ม.เปิดทำการครั้งแรกเมื่อปี 2545 ขณะนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
ทั้งนี้ นิยามของอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park: ไซน์ปาร์ค) ของทีเอ็มซี คือ “นิคมวิจัย” ที่ซึ่งเอกชนจะเข้ามาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ ของตัวเอง บนฐานของเทคโนโลยีระดับสูง และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจชุมชนตามมา โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างสำนักงานให้เช่า ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือวิจัย ตลอดจนมีนักวิจัยคอยให้คำปรึกษา พร้อมทั้งสิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนจากภาครัฐ เพื่อเป้าหมายขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีระดับเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น จากปัจจุบันที่การวิจัยพัฒนา 2 ใน 3 ภาครัฐเป็นผู้ลงทุน ซึ่งจะขาดความยั่งยืนในระยะยาว
คำถามหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่แรกว่าอุทยานวิทยาศาสตร์สำคัญอย่างไร? ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผอ.ทีเอ็มซี และประธานสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์นานาชาติ (ไอเอเอสพี) ได้กล่าวไว้โดยยกกรณีของไอเอเอสพีให้ฟัง ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยพยว่า ไอเอเอสพีมีอุทยานวิทยาศาสตร์ที่เป็นสมาชิกถึงกว่า 359 แห่งใน 74 ประเทศทั่วโลก และมีเอกชนเข้าลงทุนมากถึง 150,000 ราย
จีนเป็นประเทศที่มีอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งแรกตามนิยามนี้เมื่อราว 20 ปีก่อน แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 30 แห่งในไม่กี่ปี ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ก็ย่อมจะมีอุทยานวิทยาศาสตร์ไม่ต่ำกว่า 100 แห่งทีเดียว
ส่วนไทย ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวว่า เป็นสมาชิกไอเอเอสพีเมื่อปี 2537 และได้เรียนรู้จุดดี –จุดเสียของอุทยานวิทยาศาสตร์แต่ละแห่งทั่วโลก เพื่อนำไปสู่อุทยานวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งความจำเป็นที่ชัดเจนที่สุดคือ เอกชนสามารถเริ่มต้นได้เร็วและลงทุนต่ำ เอกชนอยากทำวิจัยก็สามารถใช้สถานที่ที่ภาครัฐจัดรองรับไว้ได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงข้อเดียวคือ ต้องเป็นงานวิจัยพัฒนา หรือสนับสนุนงานวิจัยพัฒนา และในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี
“สวทช.แบ่งการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกคือ การสร้างแรงดึงดูดให้คนมาอยู่ เอาคนจาก สวทช.กว่า 2,000 ชีวิตมาอยู่ที่นี่ และมีมากกว่า 60 งานวิจัย โดย สวทช.เป็นผู้ใช้งานหลักเพื่อให้บริษัทต่างๆ ได้เข้ามาใช้ร่วม เข้าถึงเครื่องมือ ห้องทดลอง และนักวิจัย เรามีท็อปกันอยู่ในมือ เราทำตึกให้ 7 หน่วยงาน ส่วนระยะที่ 2 จะนำเอกชนเข้ามาใช้งาน และระยะที่ 3 จะเติบโตไปเป็นชุมชนการวิจัย” ศ.ดร.ชัชนาถว่า ซึ่งเป้าหมายของระยะที่ 3 ที่กล่าวถึงกันมานาน คือ การผลักดันให้ จ.ปทุมธานี เป็นเมืองวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศ
ความคืบหน้าล่าสุดที่จะเกิดขึ้นกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยในปี 2553 คือการก่อสร้างกลุ่มอาคารนวัตกรรมแห่งที่ 2 จำนวน 4 หลัง พื้นที่รวม 127,000 ตร.ม.มีพื้นที่ใช้สอย 73,000 ตร.ม. มูลค่า 1,800 ล้านบาทก็จะแล้วเสร็จ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยสำหรับภาคเอกชน 56% และ สวทช.44% สนองเป้าหมายการเป็นนิคมวิจัยสำหรับภาคเอกชน 200 ราย จากปัจจุบันกลุ่มอาคารนวัตกรรม 1 มีเอกชนใช้งานเกือบเต็มความจุกว่า 50 ราย และมากกว่า 75% เป็นการลงทุนของคนไทย
ข้อมูลยังเผยด้วยว่า ภาคเอกชนภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้ก่อให้เกิดการจ้างงานและมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วราว 3,000 ล้านบาท/ปี พร้อมการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีอีก 10 แห่ง
นอกจากนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ภายใต้การนำของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ อดีต ผอ.คนแรกของ สวทช. ยังผลักดันให้มีการก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคตามแนวคิดนี้เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในคราวเดียวกัน คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ด้วยตัวเลขงบประมาณที่ตั้งไว้ 4,000 ล้านบาท และ 3,700 ล้านบาทตามลำดับ
ต่อแนวคิดนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกับกรอบการทำงานระยะ 3 ปีแรกแล้ว โดยเป็นการลงสำรวจปัญหาความต้องการของเอกชนในท้องถิ่น พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีอยู่ด้วยงบประมาณ 350 ล้านสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 230 ล้านสำหรับภาคใต้ ขณะที่การทำงานในระยะต่อไป ซึ่งเน้นไปยังการก่อสร้างอาคารสถานที่ และจัดหาอุปกรณ์วิจัยต่างๆ ด้วยงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท/แห่ง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อหาความเหมาะสมอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ต่อโครงการลงทุนในโครงการนี้ของ ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์ นักวิจัยชั้นหัวกะทิชาวไทยที่ทำงานอยู่ในองค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง “นาซา” (องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ) ก็สั่นคลอนความเชื่อมั่นอย่างมาก
ร้อนไปถึงผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ต้องออกมาแก้ข่าวกันเป็นพัลวัน ทว่าก็ไม่อาจลดความคลางแคลงใจของมวลชนได้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนด้อยของการทำงานด้านการสื่อสารสาธารณะอย่างมาก และการรอคอยกับการตั้งคำถามมากกว่าการทำงานเชิงรุก -มุ่งสะท้อนผลงานและความคืบหน้าแถลงต่อสาธารณชนได้ทราบเอง
"ถ้าคุณสร้างวังนะ เงินมันก็ทะลักเข้าไปตรงนั้น นักวิจัยที่จะสร้างงานก็น้อยลงเพราะคุณเอาเงินไปสร้างราชวังหมด แต่ละปีต้องจ้างคนเช็ดถู ค่าคนงาน ค่าน้ำ ค่าไฟอีก กวาดเข้าไปอีกหลายร้อยล้าน แล้วจะเหลือเงินอะไรมาทำงาน ไปรังสิตก็สร้างวังใหญ่เบ้อเร่อ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาทำแบบนั้น” ดร.ธวัชวิพากษ์และตั้งคำถามถึงความคุ้มทุนของกลุ่มอาคารนวัตกรรม 2 ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ หลังลงบทความวิพากษ์อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมาก่อนหน้านี้แล้ว
“ถ้าคุณอยากจะทำเอาเงิน 40 -50 ล้าน สร้างขนาดเล็กๆ ก่อน แล้วเอาเงินพันล้านมาทำงานดีกว่า สร้างโครงการได้นับพัน" ดร.ธวัชแนะไว้อย่างน่ารับฟัง สะท้อนข้อกังวลและทัดทานเกี่ยวกับงบประมาณที่อาจใช้จับจ่ายไปกับการก่อสร้างอาคารสถานที่เป็นหลัก ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา งบประมาณสำหรับการวิจัยพัฒนาเป็นตัวเลขหนึ่งที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงหลายต่อหลายครั้งว่าน้อยเกินไป คือที่ 0.26% ของจีดีพี หรือ 15,000 -16,000 ล้านบาท/ปี เทียบกับญี่ปุ่นที่ 3.2 % หรือแม้แต่มาเลเซียที่ 0.63%
ไม่เพียงเท่านี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีโครงการจัดสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งมีรูปแบบการทำงานค่อนข้างต่างออกไป ด้วยงบประมาณกว่า 2,900 ล้านบาทอีกแห่งหนึ่ง รวมถึงแนวคิดที่จะขยายไปสู่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกภายใต้การดูแลของ วว.อีกแห่งในอนาคตด้วย ทว่าทั้ง 2 โครงการกลับไม่เป็นที่กล่าวถึงกันนัก
แนวคิดหนึ่งที่มีการเสนอและอาจรวมอยู่ในการทบทวนครั้งต่อไป โดยสอดคล้องกับ ดร.ธวัช จึงเป็นการย่นย่อขนาดของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคลง ลดการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ที่ซ้ำซ้อน เกินความจำเป็น จากนั้นจึงฝังตัวเข้ากับหน่วยวิจัยท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยหลักของแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะด้านที่เป็นจุดแข็งของท้องถิ่นอยู่แล้ว ตลอดจนมีห้องปฏิบัติการและเครื่องมือวิจัยพร้อมในระดับหนึ่ง
เวลาเดียวกันมีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นสำนักงานกลาง มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างตึกหรืออาคารเท่าที่จำเป็น พร้อมทั้งสนับสนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือและนักวิจัย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
ข้อดีของวิธีดังกล่าว จึงน่าจะช่วยลดเม็ดเงินการลงทุนได้มาก ใช้เวลาเตรียมความพร้อมสั้นลง มีการขยายตัวที่สอดคล้องกับความต้องการ ณ เวลานั้นๆ ลดการเกิดกำแพงระหว่างหน่วยงานเดิมและหน่วยงานใหม่ในพื้นที่ พร้อมกับเป็นกลไกสร้างความเป็นเลิศให้แก่มหาวิทยาลัยภูมิภาคได้ยืนบนขาตัวเองและเป็นหลักพึ่งพิงแก่ชุมชน ที่สำคัญไม่เป็นการเบียดเบียนงบประมาณที่ใช้ไปกับการวิจัยพัฒนาเกินจำเป็นในยุคเศรษฐกิจเช่นนี้...
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของอุทยานวิทยาศาสตร์ของไทยจะเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ไม่อาจชี้ชัดไปได้ในเวลานี้ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะพิสูจน์ตัวเองได้หรือไม่ หรือแม้แต่ข้อเสนอที่ว่า ผู้บริหารจะยังทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งรับคำถาม -คำวิจารณ์จากสังคมแล้วแก้ต่าง หรือจะเดินหน้าไขความจริงสู่สังคมเป็นระยะๆ เพื่อลดแรงต้านทานซะเอง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเลือกทางใด?
โครงการ | ผลการทำงาน | ความคืบหน้า | แผนงานอนาคต |
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย | สามารถเปิดดำเนินการได้จริงในปี 2545 หลังดำเนินโครงการด้วยงบประมาณก่อสร้างโครงงานพื้นฐานกว่า 7,000 ล้านบาท | ปี 2550 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารนวัตกรรม 2 พื้นที่ใช้สอย 73,000 ตร.ม. ด้วยงบประมาณราว 1,800 ล้านบาท | ปี 2551 สร้างกลไกเพื่อร่วมงานกับบีโอไอในการดึงดูดการลงทุนฐานความรู้เข้าประเทศอย่างเป็นระบบ |
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ (บีโอไอ) ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในอุทยานวิทยาศาสตร์และผู้เช่าพื้นที่เทียบเท่าสิทธิประโยชน์ของเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 ในปี 2547 | ปี 2551 เริ่มขยายสู่พื้นที่ข้างเคียงเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น | ||
พื้นที่ซึ่งจัดไว้ให้กับเอกชนมีการใช้งานแล้ว 91.5% (อยู่ในระหว่างการประเมินและทำสัญญาอีก 6.5%) | ปี 2552 เริ่มมีผู้เช่าซึ่งสำเร็จจากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี | ||
มีเอกชนอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น 51 ราย (ไทย 75% ต่างประเทศ 25%; เป็นขนาดเล็ก 70% ขนาดกลาง 14% และขนาดใหญ่ 16%) | ปี 2553 อาคารนวัตกรรม 2 มูลค่า 1,800 ล้านบาทสามารถเปิดดำเนินการปี 2555 เกิดเค้าโครงเมืองวิทยาศาสตร์ปทุมธานี (ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานอาทิ จังหวัด, บีโอไอ, การนิคมฯ เป็นต้น) / | ||
เอกชนมีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ดำเนินการในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยราว 3,000 ล้านบาทต่อปี (ประมาณการ) | |||
มีผู้เข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 23 ราย ( 8 ราย เป็นผู้เช่าพื้นที่ด้วย) | |||
มีบริการวิเคราะห์ทดสอบเกิดขึ้นในพื้นที่ 212,000 รายการ/ปี | |||
เกิดการจ้างงานประมาณ 500 อัตรา โดย 300 อัตรา เป็นนักวิจัย วิศวกร และช่างเทคนิคชั้นสูง | |||
นอกจากนี้ สวทช. ซึ่งเข้าใช้พื้นที่ระยะที่ 1 ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีผลการดำเนินงานในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี อาทิ โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมของภาคเอกชน (CD), โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (iTAP), โครงการวิจัยและพัฒนา (RDC) ,สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) | |||
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ | - | ปี 2550 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมูลค่า 4,000 ล้านบาท และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มูลค่า 3,700 ล้านบาท ดำเนินการโดย สวทช.เบื้องต้นด้วยการสำรวจปัญหาความต้องการของเอกชนในพื้นที่ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีอยู่สู่ภาคการผลิตด้วยงบประมาณ 3 ปีแรก 350 ล้านบาท และ 230 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกแห่งละกว่า 3,000 ล้านบาทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม | ปี 2552 ประเมินผลการดำเนินงานหน่วยบ่มเพาะฯ และจัดทำแผนธุรกิจของอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค |
ปี 2550 มหาวิทยาลัยหลักเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง (มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม) และภาคใต้ 6 แห่ง (เบื้องต้นคือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่) เริ่มทยอยเปิดหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย | ปี 2552 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติดำเนินการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ในระยะถัดไป | ||
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ | บ่มเพาะและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่น อาทิ เชื้อเพลิงซังข้าวโพด เครกเกอร์ผสมเกสรดอกไม้ และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร รวม 20 โครงการ ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร 2 ชิ้น และอยู่ระหว่างการเจรจาขายสิทธิบัตร 1 ชิ้น และอยู่ระหว่างการผลักดันไปสู่ความเป็นองค์การมหาชน | มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 ธ.ค.2546 อนุมัติให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินการจัดตั้งขึ้นด้วยงบประมาณกว่า 2,900 ล้านบาท โดยแบ่งการดำเนินการ 2 ระยะ ระยะแรก (2547 -2549) ใช้งบประมาณเพื่อการศึกษา เตรียมความพร้อม และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วปีละ 150 ล้านบาท รวม 450 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 (2549 -2551) เป็นการลงทุนก่อสร้างอาคาร 1,200 ล้านบาท และงบประมาณค่าอุปกรณ์ต่างๆ อีก 1,200 ล้านบาท โดยตามแผนการตั้งแต่แรกคาดว่าอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนี้จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2550 ทว่ามีความล่าช้าเกิดขึ้น ในปี 2550 จึงได้รับงบประมาณทั้งหมดเพียง 29 ล้านบาท | จะมีการดำเนินการก่อสร้างในปลายปี 2550 ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี จึงแล้วเสร็จ และภายใน 3 ปีจะดำเนินการเต็มรูปแบบ |
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก | - | กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดทำข้อมูลโครงการและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว | - |
=============================
*ทีมข่าว "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ขอนำเสนอรายงานส่งท้ายปี ในชื่อชุด "หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย" โดยนำประเด็นเด่นในวงการวิทยาศาสตร์ที่ยังหาคำตอบแห่งความลงตัวไม่ได้ ใน 5 เรื่องสำคัญคือ 1.การเตรียมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, 2.การสอบสวนกรณีองครักษ์, 3.จีเอ็มโอ, 4การส่งดาวเทียมธีออส และ 5.การขยายไซน์ปาร์ก
อ่านเพิ่มเติมบทความชุด "หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย"
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" บนทางเลือกแบบไทยๆ
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : องครักษ์ : รอยบากบนทางนิวเคลียร์
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "ธีออส" ดาวเทียมสัญชาติไทยทำไมส่งไม่ได้สักที
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "จีเอ็มโอ" เบิกศักราชใหม่ในไร่นา
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "ไซน์ปาร์ค" คำถามถึงความคุ้มทุน!!?