xs
xsm
sm
md
lg

ถึงไทยจะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าอเมริกาและจีน แต่น่ากังวลมากกว่า !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


∞อากาศหนาว "มาไว -ไปไว" เหมือนโกหก ต่างจาก "ไซน์กระซิบ" ที่กลับมาพบกันแต่ละครั้งก็มีแต่ความจริงใจมาฝากกันเหมือนเช่นเคย เพราะจะนำเรื่อง "ซอก" เรื่อง "หลืบ" ในวงการวิทยาศาสตร์ไทยและสากลมาฝาก บ้างเป็นเชิง "หยิก" "จิก" และ "แอบกัด" ไปบ้างก็ต้องขออภัย เพราะโบราณว่าไว้ "ติเพื่อก่อ" ไว้จะดีที่ซู้ด...∞

∞แล้ววันอังคารที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา “พิธีสารเกียวโต” ก็มีอายุครบ 10 ขวบปีแล้ว เรียกได้ว่าเริ่มโตพ้นวัยเด็กไม่ประสีประสาไปเป็นวัยรุ่นเต็มตัว ถ้าเป็นผู้ชาย หนวดเคราก็เริ่มมา น้ำเสียงก็เริ่มแตกพล่าเตรียมเข้าสู่วัยหนุ่ม ล่าสุดในการประชุมใหญ่ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ก็มีมติน่าชื่นใจมาชิ้นหนึ่ง คือ ข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

...จุดประสงค์ก็เพื่อเข้าช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดเงิน เทคโนโลยี และบุคลากรที่จะรับมือกับปัญหา ตอนนี้ก็ตั้งตัวเลขไว้ว่าจะมีการระดมทุนให้ได้ 1,600 ล้านดอลลาร์ก่อนพิธีสารจะสิ้นสุดในปี 2555 อย่างไรก็ดี ที่เห็นจะตกลงกันไม่ได้ก็เป็นเรื่องเดิมๆ ของประเทศ "ร่ำรวย" ที่ไม่ยินยอมจะให้กำหนดไปชัดเจนว่า จะต้องลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 25 -40% ของปีฐาน 2533 ให้ได้ภายในในปี 2573 ท่ามกลางโห่ฮิ้วของชาติกำลังพัฒนาที่ประณามพฤติกรรมนี้∞

∞...ก็ย้ำไป 2 รอบ 3 รอบแล้วไง ว่ายังไง๊...ยังไง น้องไทยก็ไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดของโลก ก็แหมจะไปเทียบรุ่น "อเมริกัน" "อาตี๋" และ "อาบัง" เขาได้อย่างไร ก็พี่ๆ เล่นจองอันดับ 1-2-3 ไปแบบไม่ต้องลุ้นซะนานโขแล้ว แต่ที่ "หนูไซน์ฯ" แอบหนักใจก็เพราะ "อัตราเร่ง" ที่ภาษาปะกิตเขาเรียกว่า Growth rate ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของไทยมันพุ่งกระฉูดซะยิ่งกว่าราคาน้ำมันซะอีก คิดเทียบปี 47 กับปี 33 ห่างกันตั้ง 180% สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ถามจริงๆ เหอะเจ้าค่า ไม่ปวดหมองน่ะ จะไหวเหรอ !!!

...จะมองกันในแง่นักการเมืองเล่นลิ้นเล่นวาจาเหมือน "ขงเบ้งใช้คำหวานไปจกกินไส้จิวยี่" หรือปากกล้าอย่าง "พี่แม้ว" ที่ว่า "ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ" ก็ช่าง แต่สถิติที่น่าใจหายซึ่งกรีนพีซไปหยิบมาจากรายงานของยูเอ็นดีพี -โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จนหลายคนมองว่า "เป็นการหากินกับสถิติอย่างไร้จรรยาบรรณ" ก็เข้าทำนอง "สองคนยลตามช่อง" ย่อมจะมองเห็นได้ต่างๆ กันไป ฟังเขาหน่อยก็จะเห็นโลกชัดเจนขึ้นอีกนิด...ส์

...ในแง่หนึ่งก็จริงที่ว่าหยิบแต่สถิติที่ดูน่ากลัวมาสร้างความแตกตื่น "ชวนขนหัวลุก" แต่ในมุมกลับ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ก็บอกอะไรให้เราได้ทราบกันอย่างหนึ่ง ว่าที่ผ่านๆ มา เราใช้พลังงานมากขึ้นแบบไม่บันยะบันยังจริงๆ เห็นได้จาก 15 ปี เราปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงขึ้นจาก 96 ล้านตันเป็น 268 ล้านตัน สาระตะเป็นตัวเลขคือ 2.8 เท่า!!!

ครั้นรัฐบาลปลุกแนวคิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน -โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มา หลายคนก็ค้านหัวชนฝาว่า "ไม่อ๊าว...ไม่เอา" อีท่าเดียว แต่น้อยคนนักที่จะพยายามลดใช้พลังงานจริงๆ จังๆ เหมือนส่องกระจกแล้วปฏิเสธเงาตัวเอง พูดกันตามตรง...ไอ้เรื่องบีบคอกันจนหายใจกันไม่ออกอย่างนี้ "หนูไซน์ฯ" ไม่เคยเห็นด้วยเลย พับผ่าสิ!∞

∞พอพูดถึงโรงงานนิวเคลียร์ จะว่าไปก็แว่วมาจากกระทรวงพลังงานว่า "สำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์" ได้ตัว "ผอ." มาแบบไม่เป็นทางการแล้ว กระจิบข่าวหยิบมาฝากว่า น่าจะเป็นรองปลัดกระทรวงพลังงานที่ชื่อ "ณอคุณ สิทธิพงศ์ " นั่นไง∞

∞ส่วนเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง วานก่อนในงานจุดพลุเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาของ "พ่อหลวง" หลายคนได้แวะเวียนเข้าไปในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คงเห็นเหมือน "หนูไซน์ฯ" ที่เขามีกิจกรรม "โครงการศูนย์สิริกิติ์ร่วมใจบริจาคน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซลบี 5" ที่ผู้จัดเขามองเป้าหมายใน 4 ประเด็นคือ ด้านพลังงานทดแทน ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ด้านเศรษฐกิจเพื่อลดนำเข้าน้ำมัน และด้านสุขภาพของผู้บริโภคจากพิษภัยของน้ำมันพืชทอดซ้ำ...

...ทางศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ก็ขอเชิญชวนให้ครัวเรือนต่างๆ ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายได้นำน้ำมันพืชใช้แล้วไปบริจาคยังจุดรับบริจาค 3 จุด คือ ทางเข้าโซนซี ทางเข้าโซนดี และทางเข้าด้านเอเตรียม ผู้บริจาคสามารถนำมาบริจาคได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันที่ขุ่นมาก ขุ่นน้อย หรือใสเแจ๋วแหน๋วเพราะผ่านการกรองเศษอาหารมาแล้ว ก็ยินดีรับทั้งหมด โดยอาจบรรจุในขวดน้ำดื่มใช้แล้วจะสะดวกที่สุด และไม่แคร์ว่าจะมากหรือน้อย ครึ่งขวดหรือครึ่งโหล ฝ่ายนี้เขาก็ยินดีรับเต็มที่...เห็นความตั้งใจแล้วก็วานบอกต่อและช่วยๆ กันหน่อยนะเจ้าค่ะ∞

∞เห็นท่าจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย กับการชงเรื่อง "จีเอ็มโอ" เข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อขออนุญาตทดสอบภาคสนามได้ เพราะเห็นตั้งท่าชูธงหมายจะออกรบกันมาพักใหญ่ "หนูไซน์ฯ" ก็เกาะติดตรวจเช็คข่าวทุกวันอังคารหลังประชุม ครม.ก็ไม่ยักเห็นประเด็นจีเอ็มโอเข้าสู่วาระการประชุมสักที สัปดาห์ที่แล้วก็เพราะจัดสรรวาระไม่ลงตัว ส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่รู้เพราะอะไร ไม่เห็นเค้าแม้แต่นิดเดียว ยิ่ง "ดร.ยงยุทธ" ที่นั่งควบ 2 สาย ทั้งวิทยาศาสตร์ฯ และสิ่งแวดล้อมฯ ไปงานประชุมโลกร้อนที่บาหลีพอดิบพอดี ประเด็นร้อนเลยเงียบกริบไปโดยปริยาย

∞แต่ก็อย่างว่าแหละ ประเด็นยังอยู่บนความขัดแย้งที่ไม่กระจ่างชัดทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้าน เพราะสมัยนี้เป็นสังคมแห่งปัญญา จะตัดสินอะไรทีก็ต้องมีตัวเลขมีข้อมูลหลักฐานมาเปรียบเทียบกัน ฝ่ายนึงบอกว่าดีนักดีหนา แต่ก็ใช่จะเชื่อได้ทั้งหมด ส่วนอีกฝ่ายที่ต้านก็ไม่เคยเห็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ชัดๆ แต่ที่แน่ๆ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ทีมนโยบายวิทยาศาสตร์ประชาธิปัตย์บอกมาแล้วว่า "โนเวย์" สำหรับการทดสอบจีเอ็มโอภาคสนาม แม้จะมีมติ ครม.คลอดออกมา หากได้เข้ามานั่งว่าการก็จะทบทวนทันที เพราะไม่มีอะไรที่ควบคุมได้ 100%

ตัวอย่างมะละกอจีเอ็มโอที่ปนเปื้อนก็บอกอยู่แล้ว ที่สำคัญ "คน" นี่แหละเป็นตัวพาหะจีเอ็มโอที่สำคัญ... ต่างจากฝ่ายพรรคพลังประชานิยม เอ้ย...พรรคพลังประชาชนที่มีไอเดียแจ๋วว่า จะศึกษาตัวเลือกที่มีแต่ประโยชน์อย่างเดียว -ไม่มีโทษ ซึ่งมาจากการผสมผสานคุณลักษณะที่มีประโยชน์และไร้พิษภัยของสิ่งมีชีวิตมาไว้ด้วยกัน เช่น อ้อยที่มียีนความทนทานสูงมารวมกับอ้อยที่มียีนให้ผลผลิตมาก “อย่างนี้” ทางพรรครับได้และขอส่งเสริมเพราะถ้าปิดโอกาสไปซะทีเดียว ประเทศไทยจะลำบากเพราะเราเป็นประเทศกสิกรรม...∞

ขณะที่เรื่องที่ 2 พรรคใหญ่เห็นพ้องต้องกัน “เป๊ะ” คือ เรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ “ไม่เอาแน่ๆ” แต่จะส่งเสริมพลังงานทดแทนอื่นๆ แทน โดยเสียงจากผู้บริหารพลังประชาชนบอกว่า เพราะเสียงตอบรับจากประชาชนไม่ดีเอาเลย เลยขอพับไว้ก่อนดีกว่า ส่วนทางพรรคประชาธิปัตย์ของอาเฮีย "มาร์ก" ก็ปฏิเสธเสียงแข็งมาแต่ไหนแต่ไรว่า "โน" เพราะเป็นการยัดเยียดให้ประชาชนต้องเลือก ก็ไม่รู้ว่าไหนจะนโยบายทำจริง ไหนจะเป็นนโยบายขายฝัน คงต้องลุ้นกันหลังเลือกตั้งเจ้าค่า∞

∞แวบมาที่แวดวงอวกาศโลก ใครที่ได้ตามข่าวก็คงอดเสียดายแทนภารกิจกระสวยอวกาศแอตแลนติสไม่ได้ เพราะต้องเลื่อนการปล่อยยานเพื่อติดตั้งห้องปฏิบัติการอวกาศ “โคลัมบัส” ของอีซาบนสถานีอวกาศนานาชาติไปอย่างน้อยๆ ครึ่งเดือน เป็น 2 ม.ค. ปีหน้า เพราะติดปัญหาเซ็นเซอร์ควบคุมถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวนอกยาน แต่ที่อดคิดไม่ได้คือ มุมกล้องของช่างภาพเอเอฟพีที่เหมือนจะสื่อความผิดหวังออกมาเต็มไปหมด หลายต่อหลายภาพบนแผ่นฟิล์มจึงออกแนวประชดประชันจนน่าใจหาย...แต่บางเสียงก็มีเหตุผล เลื่อนไปดีกว่าปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาทีหลัง...∞
(ซ้าย) หนูเจอร์บัว และ (ขวา) สติทช์
∞กลับมาที่แวดวงท้องฟ้าเมืองไทยบ้าง ...ไม่ใช่ด้านอวกาศ แต่เป็นด้านดาราศาสตร์ โดยช่วงนี้ถึงวันที่ 18 ธ.ค.จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteor Showers) ในรัศมีของกลุ่มดาวเจมิไน (Gemini) หรือ “กลุ่มดาวคนคู่” ให้ชมกัน โดยคืนวันที่ 13 -14 ธ.ค.จะมีฝนดาวตกให้ชมมากที่สุด 80 -100 ดวง/ชั่วโมง ผู้สนใจสามารถนอนชมได้ตั้งแต่เวลา 3 ทุ่ม – เที่ยงคืน ใครที่ไม่อยากดูคนเดียวก็สามารถไปดูกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (สดร.) ได้ในวันที่ 14 ธ.ค. ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่∞

∞สุดท้ายนี้ “หนูไซน์ฯ” ขอฝากภาพน่ารักๆ ของ “หนูเจอร์บัว” หรือ "มิกกี้เมาส์แห่งทะเลทราย" ซึ่งอาศัยในทะเลทรายของมองโกเลียและจีนมาฝากกัน ที่แม้ว่ามันจะกระโดดได้ ทว่าก็ไม่ได้เป็นญาติกับหนูกระโดดของออสเตรเลีย หรือหนูจิงโจ้ในอเมริกาเหนือที่ต่างมีวิถีชีวิตและถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงกันแต่อย่างใด แถมผู้อ่านบางท่านยังบอกว่าหน้าตาน่ารัก บ้างว่าน่ากิน ส่วนอีกความเห็นหนึ่งบอกว่า หน้าตาเหมือนตัวการ์ตูนปิกาจูไม่น้อย แต่ "หนูไซน์ฯ" เห็นแวบแรกกลับนึกถึง เจ้าสติทช์ ในการ์ตูน “ลีโล แอนด์ สติทช์” ของวอลท์ ดิสนีย์มากกว่า ^ ^

∞ส่วนใครมีเรื่องอยากเม้าท์หรืออยากเก็บตกวงการวิทย์ไทย –วิทย์เทศ เล่าสู่กันฟังบ้าง ก็ส่งมาได้เลยที่ scigossip@gmail.com แล้วอย่าลืมร่วมโหวต SciCeleb ของหน้าวิทย์ ผู้จัดการ ด้วยนะเจ้าค่า∞
กำลังโหลดความคิดเห็น