เอเอฟพี - เสือโคร่งแดนมังกรใกล้สูญพันธุ์ ต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งหญ้าแอฟริกาอย่างยากลำบาก ล่าสุดให้กำเนิดลูกเสือตัวน้อยน่ารักนอกประเทศถิ่นกำเนิดเป็นครั้งแรก ภายใต้การดูแลของสาวชาวจีนนักอนุรักษ์ที่ทิ้งชีวิตเริดหรูในเมืองเพื่อดูแลเพื่อนร่วมโลกให้สืบสายพันธุ์ หวังอีก 15 ปี จะส่งลูกเสือรุ่นใหม่กลับไปเป็นเจ้าป่าในมาตุภูมิ
"เราต้องพยายามทำสิ่งที่ไม่เคยทำ แม้ว่ามันอาจจะไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้พยายามแล้ว" คำพูดของหลี่เฉวียน (Li Quan) สาวชาวจีนที่เคยทำงานในวงการแฟชั่น แต่เลือกหันเหชีวิตจากเมืองใหญ่ มุ่งหน้าสู่ทุ่งหญ้าแอฟริกาพร้อมกับสามี อุทิศเวลาที่เหลือทั้งชีวิตให้กับลูกๆ ของเสือโคร่งจีนใต้ที่ใกล้สูญพันธุ์ หวังว่าสักวันหนึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเธอจะเพาะพันธุ์ลูกเสือและเลี้ยงดูให้พวกเขาพร้อมกลับไปประกาศศักดาในป่าแดนมังกรได้อีกครั้ง
เสือโคร่งเซาท์ไชน่า (South Chinese tiger) หรือเสือโคร่งจีนใต้ เป็นเสือโคร่งชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและสืบสายพันธุ์อยู่ในแดนมังกรมานานกว่า 2 ล้านปี แต่พบในป่าครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2507 ปัจจุบันคาดว่าเหลือรอดอยู่ในธรรมชาติเพียงไม่กี่สิบตัว และอีกเพียง 60 ตัว ที่อยู่ในสวนสัตว์ประเทศจีน
ทว่าเมื่อปลายเดือนที่แล้วก็มีเรื่องให้น่ายินดีไม่น้อย เมื่อเสือโคร่งจากแดนมังกรที่ผจญชีวิตอยู่ในแอฟริกาให้กำเนิดลูกเสือตัวน้อยเพศผู้นอกกำแพงเมืองจีนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา จากแม่เสือและพ่อเสือนามว่าคาเธย์ (Cathay) และไทเกอร์วูด (Tiger Wood)
หลี่เฉวียน บอกว่า เสือโคร่งจีนใต้ชอบน้ำมาก ยามที่ฝนตกจะทำให้พวกเขาสดชื่นและสนุกสนาน แต่ที่ดินแดนแอฟริกาใต้นี้มีสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและแห้งแล้งมาก การเพาะเลี้ยงเสือจีนในแอฟริกาจึงเป็นเรื่องยากและโครงการของเธอก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่เธอเห็นว่านี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วก็ได้ที่จะช่วยไม่ให้พวกเขาสูญพันธุ์ ซึ่งไม่แน่ว่าจะสำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุดเธอก็ได้พยายามแล้ว
โครงการอนุรักษ์เสือโคร่งจีนใต้ในทุ่งหญ้าแอฟริกาใต้ของมูลนิธิอนุรักษ์เสือแห่งประเทศจีน (Founder of the Save China's Tiger organisation) เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 บนพื้นที่ 330 ตารางกิโลเมตรของเหลาหู่วัลเลย์รีเสิร์ฟ (Laohu Valley Reserve) ในฟรีสเตท (Free State) ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเคยเป็นฟาร์มเลี้ยงแกะมาก่อน และเสือโคร่ง 4 ตัวที่หลี่เฉวียนนำมาจากสวนสัตว์ในจีนได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบนักล่าที่นี่
"นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศจีนด้วย" หลี่เฉวียน กล่าว ซึ่งเสือเป็น 1 ใน 12 นักษัตร ในการทางโหราศาสตร์ของจีน
เหตุที่หลี่เฉวียนต้องนำเสือจากเมืองจีนมาเพาะพันธุ์ในแอฟริกาก็เพราะว่าพื้นที่ป่าในจีนลดน้อยลงทุกขณะ และต้องการค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ราว 3 เท่า ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา สัตว์ป่าในประเทศจีนกว่า 40,000 ชนิด เข้าข่ายเสี่ยงสูงพันธุ์ โดยการเกิดสงครามเป็นสาเหตุในช่วง 50 ปีแรก แต่ 50 ปีหลังจำนวนสัตว์ป่าลดลงเพราะสังคมเมืองที่แผ่ขยายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เสือจีนใต้พวกนี้ต้องการพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการตำรงชีวิตมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ซึ่งหลี่เฉวียนก็กำลังดำเนินการหาเงินทุนมาอุดหนุนโครงการอยู่เรื่อยมา โดยหวังว่าอีก 15 ปีข้างหน้าเธอจะได้ลูกเสือรุ่นใหม่ๆ ที่มีจำนวนมากขึ้นและแข็งแรงพอที่จะกลับไปใช้ชีวิตในป่าเมืองจีนอีกครั้ง เพราะอันที่จริงแล้วเสือโคร่งจีนใต้น่าจะได้รับการอนุรักษ์ไว้ในดินแดนถิ่นกำเนิด ดังเช่นสิงโต เสือดาว ช้างแอฟริกา ควายป่า และแรด หรือห้าผู้ยิ่งใหญ่ (Big Five) แห่งป่าแอฟริกา