xs
xsm
sm
md
lg

มน. พัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเคลือบแบคทีเรียแทนใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยให้พืชเติบโตดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย ม.นเรศวรพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเคลือบแบคทีเรีย ปุ๋ยชีวภาพสูตรผสมแบคทีเรีย ช่วยเกษตรกรลดใช้ปุ๋ยเคมี ให้ผลผลิตดีกว่า ปูทางสู่วิถีเกษตรยั่งยืนและรักษาคุณภาพดินให้ยืนนาน

พืชสามารถนำปุ๋ยเคมีไปใช้ได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น และการใช้ปุ๋ยเคมีบ่อยครั้งยังทำให้คุณภาพของดินต่ำลง ให้ผลผลิตน้อยลง ผศ.ดร.กัญชลี เจติยานนท์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) จึงคิดค้นพัฒนาเมล็ดพันธุ์ชนิดเคลือบแบคทีเรียให้เกษตรกรลดใช้สารเคมี ปลูกง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำกว่า

ผศ.ดร.กัญชลี เปิดเผยว่า เกษตรกรส่วนมากยังพึ่งปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต และเมื่อใช้มากเกินจำเป็นจะทำให้ดินเสื่อมสภาพลง พืชใช้ประโยชน์จากดินได้น้อยลง

นักวิจัยเริ่มศึกษาว่าพืชชนิดใดที่ไม่ใช้สารเคมี แต่ยังเจริญงอกงามและให้ผลผลิตดีอยู่ แล้วขุดดินรอบๆ ต้นพืชนั้นมาศึกษาองค์ประกอบต่างๆ พบจุลชีพที่มีประโยชน์ต่อพืชอาศัยอยู่บริเวณรากพืช จึงได้แยกสายพันธุ์แบคทีเรียที่พบเหล่านั้น และนำไปทดสอบกับพืชชนิดต่างๆ จนกระทั่งพบสายพันธุ์ที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชมากที่สุด คือ ไรโซแบคทีเรีย

"จุลินทรีย์ที่พบนอกจากจะช่วยให้พืชงอกงามดีแล้ว บางชนิดยังช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่ไม่มีประโยชน์ต่อพืช ซึ่งแยกเชื้อที่พบทั้งหมดได้ 106 สายพันธุ์ และนำไปทดสอบกับพืชในท้องถิ่น ในที่สุดก็ได้ไรโซแบคทีเรียที่ให้ผลดีที่สุด" ผศ.ดร.กัญชลี อธิบาย

ทีมวิจัยได้ทดลองผสมเชื้อไรโซแบคทีเรียกับปุ๋ยเคมีอย่างละครึ่งหนึ่ง แล้วนำไปบำรุงพืชต่างๆ เช่น แตงกวา พริกชี้ฟ้า มะเขือเทศ และข้าวโพด พบว่าพืชที่ได้รับทั้งไรโซแบคทีเรียและปุ๋ยเคมีเจริญเติบโตดีกว่ากลุ่มที่ได้รับเฉพาะปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว

จากนั้นนำไรโซแบคทีเรียเคลือบไว้บนเมล็ดพันธุ์โดยใช้พอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ช่วยในการยึดเกาะ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน เมื่อนำไปเพาะปลูก เมล็ดพันธุ์ที่เคลือบไรโซแบคทีเรียมีอัตรางอกสูงกว่า รากยาวกว่า พุ่มใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับเมล็ดพันธุ์ปกติ และเปรียบเทียบเมล็ดพันธุ์เคลือบไรโซแบคทีเรียที่ได้รับปุ๋ยเคมีเพียงครึ่งหนึ่งกับที่ได้รับปุ๋ยเคมีตามปกติให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ผศ.ดร.กัญชลี ได้จดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์เคลือบไรโซแบคทีเรียแล้ว และกำลังเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปใช้ ซึ่งคณะวิจัยต้องอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยมุ่งไปยังเกษตรกรที่พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าปุ๋ยเคมีช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพัฒนาปุ๋ยชีวภาพที่มีส่วนผสมของไรโซแบคทีเรียในรูปเม็ดปุ๋ยที่มีขนาดเท่ากับปุ๋ยเคมีด้วย เมื่อทดลองเบื้องต้นกับแตงกวาและข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 พืชทั้งสองเจริญเติบโตและให้ผลผลิตใกล้เคียงกันเมื่อให้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมีอย่างละครึ่งหนึ่งกับเมื่อให้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว วิธีนี้จึงช่วยลดการใช้สารเคมีได้เป็นอย่างดี และนำไปสู่เกษตรยั่งยืนต่อไปได้




กำลังโหลดความคิดเห็น