เอเยนซี - นอกจากกระเป๋าหน้าท้องที่เป็นจุดเด่นของสัตว์ประจำชาติออสเตรเลียแล้ว "จิงโจ้" ยังมีลีลากระโดดที่โดดเด่น แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเมื่อ 25 ล้านปีก่อนสัตว์ที่เลี้ยงลูกในกระเป๋านี้วิ่งควบ 4 เท้า มีเขี้ยวเหมือนสุนัขและอาจปีนต้นไม้ได้ด้วย โดยมีหลักฐานเป็นฟอสซิลบรรพบุรุษของสัตว์ชนิดนี้
"นี่เป็นโคตรของโคตรของโคตรของโคตรของโคตรปู่จิงโจ้ในยุคนี้" เบน เคียร์ (Ben Kear) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยลาโทรบ (La Trobe University) เมลเบิร์น ออสเตรเลีย สมาชิกทีมของออสเตรเลียที่วิเคราะห์ฟอสซิลกระดูกจิงโจ้ซึ่งพบในควีนส์แลนด์เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วกล่าว
ฟอสซิลของจิงโจ้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบนี้มีสภาพเป็นโครงกระดูกที่ค่อนข้างสมบูรณ์และจัดอยู่ในสปีชีส์ใหม่ที่เรียกว่า "นามบารู กิลเลสเปียอี" (nambaroo gillespieae) และจัดอยู่ในกลุ่มจิงโจ้ที่สูญพันธุ์ไปแล้วซึ่งรู้จักกันว่า "บัลบาริเด" (balbaridae) โดยเชื่อกันว่าสัตว์โบราณเหล่านี้สูญพันธุ์จากการเข้ามาแทนที่ของบรรพบุรุษสายตรงของจิงโจ้ปัจจุบัน
เคียร์กล่าวว่าจากการศึกษาพบว่านามบารูซึ่งมีขนาดพอๆ กับสุนัขขนาดเล็กและมีเขี้ยวเหมือนสุนัขนั้นมีกล้ามเนื้อปลายแขนที่ใหญ่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจิงโจ้โบราณนี้วิ่งหรือเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเหมือนตัวพอสซัมหางพวง (brush-tailed possum) และยังมีนิ้วเท้าที่ใหญ่ กับเท้าที่มีความคล่องตัวซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความสามารถในการปีนป่ายเหมือนจิงโจ้ต้นไม้ในปัจจุบัน (tree kangaroo) และอาศัยอยู่ในป่าทึบ กินผลไม้และเห็ดราเป็นอาหาร
"ลองจินตนาการภาพจิงโจ้โบราณปีนป่ายพุ่มไม้เตี้ยๆ และวิ่งไปรอบๆ พื้นป่า กินเห็ดและผลไม้ที่ตกหล่น ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างจากสิ่งที่คุณจะจินตนาการได้จากจิงโจ้ทั่วๆ ไปที่เราเห็นกันทุกวันนี้" เคียร์กล่าว
ทั้งนี้ โครงกระดูกของนามบารู ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ได้เพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ส่งผลกระทบต่อวิวัฒนาการของจิงโจ้มาเป็นเวลานับล้านปีได้อย่างไร โดยเชื่อว่าจิงโจ้มีวิวัฒนาการกลายเป็นสัตว์ใหญ่ที่กระโดดได้และกินหญ้าตามภูมิประเทศที่แห้งแล้งขึ้นและเต็มไปด้วยหญ้าที่ปรากฏขึ้นเมื่อ 10-15 ล้านปีก่อน