xs
xsm
sm
md
lg

หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" บนทางเลือกแบบไทยๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากนี้ไปคำถามเรื่องสร้าง-ไม่สร้าง "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ไม่ใช่เพียงหัวข้อสนทนาใน "สภากาแฟ" อีกต่อไป จากวิกฤติพลังงานที่ลดน้อยและแพงขึ้นมหาศาลผลักดันให้คนไทยต้องมายืนตรงปากทางระหว่าง "เอา" หรือ "ไม่เอา" ฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าจำเป็น ขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองเห็นความน่าสะพรึงที่จะตามมา

การถกเถียงเรื่องนี้ดังขึ้นและชัดเจนขึ้นเมื่อ “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550-2564” (พีดีพี 2007) ของกระทรวงพลังงานผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยแผนดังกล่าวเสนอ 9 ทางเลือกในการหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ของไทยให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4,000 เมกะวัตต์ในปี 2563 อีกทั้ง ครม.ยังเห็นชอบให้ตั้งสำนักงานโครงการไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดิน 1,800 ล้านบาทในการดำเนินงานระหว่างปี 2551-2553 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นับเป็นการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยคนไทยมีเวลา 3 ปีในการรับรู้ข้อมูลทั้งด้านบวกและลบก่อนจะตัดสินใจ "รับ" หรือ "ไม่รับ" อย่างเป็นทางการ

ลดโลกร้อน-ต้นทุนต่ำ-ความมั่นคงพลังงานลงตัวที่ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์"

ทำไมต้องเป็น "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" คงเป็นคำถามที่หลายคนข้องใจซึ่งฝ่ายที่เห็นว่านิวเคลียร์คือคำตอบนั้นได้ชี้แจงว่าเป็นความต้องการความมั่นคงทางพลังงานที่ต้องใช้พลังงานอย่างผสมผสาน (energy mixed) โดยปัจจุบันไทยพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 70% และยังไม่สามารถคาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมที่ราคาถีบสูงขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันแหล่งพลังงานลดลงสวนทางความต้องการใช้พลังงานก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยคาดว่าอยู่ในอัตราเฉลี่ยปีละ 5-6% ซึ่งบังคับให้ต้องเลือกใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเลี่ยงไม่ได้

คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของปี 2550 อยู่ที่ 22,000 เมกะวัตต์และเชื่อว่าต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตามแผนพีดีพีนั้นต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 25,000 เมกะวัตต์ภายในอีก 15 ปี ในปริมาณนั้นเป็นกระแสไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ 4,000 เมกะวัตต์และพลังงานทดแทน 1,700 เมกะวัตต์ แต่ส่วนจะหันไปพึ่งพิงพลังงานทดแทนอย่างเดียวตามที่หลายฝ่ายสนับสนุนมานั้นบุคลากรในกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า พลังงานทางเลือกนั้นไม่สามารถตอบสนองอุตสาหกรรมและธุรกิจบางประเภทที่ต้องการใช้กระแสไฟฟ้าคงที่ อีกทั้งคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกจะไม่เป็นไปตามเป้า 8% ของการใช้ในประเทศในปี 2554 โดยปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ 4-5% ขณะที่ประเทศซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าไทยก็ทำได้เต็มที่เพียง 10%

เรื่องโลกร้อนเป็นอีกจุดขายหนึ่งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าพลังงานอย่างถ่านหิน แต่ก็มีเสียงโต้แย้งมาว่าระหว่างการทำเหมืองยูเรเนียมซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นก็ได้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปกับการเผาไหม้ของเครื่องยนต์กลไกต่างๆ และมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีระหว่างการทำเหมืองด้วย และหลังจากใช้งานในโรงไฟฟ้าก็จะเหลือเป็นกากนิวเคลียร์ที่ไม่สามารถผลิตเชื้อเพลิงได้อีกแต่ยังสามารถแผ่รังสีได้จึงเป็นปัญหาที่ต้องหาแหล่งเก็บให้ปลอดภัย

ต้นทุนต่ำจริงหรือ? หากรวมค่าเสียโอกาส

ราคาของต้นทุนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่คำนวณว่าน่าจะอยู่ที่หน่วยละ 2.08 บาทก็เป็นอีกแรงจูงใจของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายพลังงานจะยอมรับว่าต้นทุนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นสูงกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างกรีนพีซก็ได้ออกโรงโต้พร้อมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะผ่านรายงาน "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์: อย่าปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ" ว่าต้นทุนจริงๆ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ที่ค่าเสียโอกาสเป็นสำคัญ

หากค่าเสียโอกาสอยู่ที่ 5% ต้นทุนกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์จะอยู่ที่หน่วยละ 1.71-2.00 บาท ซึ่งแข่งขันได้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่หากค่าเสียโอกาสเพิ่มขึ้นไปเป็น 10% ต้นทุนจะขึ้นไปเป็นหน่วยละ 2.38-2.84 บาทซึ่งไม่สามารถแข่งขันได้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องงบบานปลายเนื่องจากต้องดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัย ยกตัวอย่างอินเดียที่ต้องลงทุนกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่ม 2-4 เท่า

อีกประเด็นที่น่าสนใจนั่นคือการแสวงหาลูกค้าใหม่ของบริษัทรับจ้างผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ข้ามชาติ สถิติที่มีการพูดถึงคือการชะลอตัวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดใหม่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่บางประเทศอย่งเยอรมนีก็ตั้งเป้าจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในปี 2564 และมือสำรวจรายชื่อประเทศที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ก็ล้วนเป็นประเทศที่ในแถบเอเชีย อาทิ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนามก็ตั้งเป้าสร้างโรงไฟฟ้าในปี 2563 เช่นเดียวกับไทย และกลายเป็นตัวเปรียบหนึ่งในการนำเสนอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เทคโนโลยีที่เน้นความปลอดภัยแต่ยังหนีปัญหารั่วไหวไม่พ้น

ในเรื่องความปลอดภัยของของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับการันตีจากฝ่ายสนับสนุนว่าเทคโนโลยีได้ก้าวหน้ากว่าเมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่รัสเซียระเบิดไปมากโข โดยเรียนรู้ข้อผิดพลาดและอุบัติเหตุในอดีตทำให้ปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พัฒนาสู่ยุค 3 ซึ่งเน้นการรักษาความปลอดภัยในโรงไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ และกำลังจะก้าวไปสู่ยุค 3+ ที่เน้นสร้างกระแสไฟฟ้าและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ทั้งนี้มีโรงไฟฟ้าที่นิยม 3 ประเภทคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบความดันสูง (Pressure Water Reactor: PWR) ที่ใช้กันทั่วโลกประมาณ 66.1% โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำเดือด (Boiling Water Reactor: BWR) ที่ใช้กันทั่วโลกประมาณ 20.0 % และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำมวลหนัก (Pressurized Heavy Water Reactor: PHWR) หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แคนดู (Candu) ที่ใช้กันทั่วโลกประมาณ 6.0%

กรณีอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ผ่านมาทั้งเล็กและใหญ่มักเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของมนุษย์ หากย้อนดูสถิติในช่วงปี 2542-2550 ก็จะพบว่าเกิดอุบัติเหตุกับโลกไฟฟ้านิวเคลียร์เฉลี่ยเกือบทุกปี อาทิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชิกะของญี่ปุ่นที่แท่งควบคุมหล่นระหว่างเตรียมทดสอบทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นทันทีเมื่อปี 2542 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แพกส์ (Paks) ของฮังการีที่เกิดกัมมันตรังสีรั่วไหลในโรงไฟฟ้าเมื่อปี 2546 หรือโรงไฟฟ้าเบรควูดส์ในสหราชอาณาจักรเกิดการปนเปื้อนของตริเตียมในแหล่งน้ำใต้ดินจากเมื่อปลายปี 2549 เป็นต้น

ล่าสุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาชากิของญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เกิดการรั่วไหลของน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวใกล้เตาปฏิกรณ์ ซึ่งกรณีหลังแสดงให้เห็นว่าแม้จะพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองแต่ได้ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาอย่างรัดกุมนั้นจะรองรับอุบัติเหตุได้มากน้อยเพียงใด

แม้ว่าจะไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใดใช้เทคโนโลยีเดียวกับเชอร์โนบิลแล้วแต่อุบัติเหตุเมื่อ 20 กว่าปีได้ทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่า 28 ชีวิตที่จบลงในในเหตุการณ์ครั้งนั้น 14 ประเทศในยุโรปเกิดการปนเปื้อนซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกัมมันตรังสีที่เล็ดลอด ออกมาจากอุบัติเหตุและได้เกิดผลกระทบต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และบางพื้นที่ของการปนเปื้อนยังไม่ปลอดภัยไปอีกหลายร้อยปี องค์การอนามัยโลกประเมินผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเนื่องด้วยอุบัติเหตุดังกล่าวในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจริงๆ 90,000 คน ส่วนกลุ่มกรีนพีซประเมินว่าทั่วยุโรปมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 6.5 ล้านคน สิ่งที่กลัวของโรงไฟฟ้าประเภทจึงไม่เพียงอุบัติเหตุหากแต่เป็นความเสียหายที่ยากแก่การประเมินได้แน่ชัด

คุณภาพ "คน" น่าห่วงกว่าเทคโนโลยี

ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (สทน.) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบการเตรียมกำลังคนสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยกล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1 โรงนั้นต้องใช้กำลังคนราว 4,000-5,000 คน จากนั้นจำนวนกำลังคนในการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าเหลือ 500 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 30-40 คนเป็นผู้ที่ดูแลการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยอาจจะเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์โดยหรืออาจจะเป็นผู้ที่มีความในสายวิทยาศาสตร์อื่นๆ ก็ได้ เช่น ฟิสิกส์ เคมี สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องได้ได้รับการฝึกอบรมก่อนควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนกำลังที่เหลือก็แบ่งเป็น อาทิ เจ้าที่ฝ่ายกฎหมาย ธุรการและฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

"ปัจจุบันเรามีวิศวกรนิวเคลียร์หลายร้อยคน โดยส่วนใหญ่จบปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสาขานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งมีสอนอยู่แห่งเดียวในไทย บางส่วนก็จบจากเมืองนอก ซึ่งวิศวกรเหล่านี้สามารถที่จะเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ เนื่องจากได้ฝึกซ้อมการใช้เครื่องปฏิกรณ์ที่บางเขนอยู่แล้ว เป็นการฝึกคำนวณปริมาณเชื้อเพลิง การเปลี่ยนตำแหน่งเชื้อเพลิงซึ่งวิศวกรนิวเคลียร์จำเป็นต้องทำในโรงไฟฟ้าทุกวัน แม้จะเล็กกว่าแค่ 2 เมกกะวัตต์แต่ก็คล้ายกันเหมือนรถยนต์เครื่องเล็กกับเครื่องใหญ่" ดร.สมพรกล่าว

อย่างไรก็ดีนอกจากกำลังของเครื่องปฏฺกรณ์ที่แตกต่างกันหลายเท่าแล้ว เครื่องปฏิกรณ์ของ สทน.ซึ่งตั้งอยู่ที่บางเขนยังเป็นเครื่องปฏิกรณ์วิจัยที่ต้องการประยุกต์ใช้ประโยชน์รังสีจากปฏิกิริยาที่แกนเครื่องปฏิกรณ์และระบายความร้อนทิ้ง ขณะที่เครื่องปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านั้นเป็นเครื่องปฏิกรณ์กำลังที่ให้ความร้อนเป็นสำคัญ ซึ่งความแตกต่างนี้เคยใช้เป็นข้อเปรียบเทียบเพื่อการยอมรับเครื่องปฏิกรณ์วิจัยของศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ที่อื้อฉาว ดังนั้นประชาชนจะมั่นใจได้แค่กับประสบการณ์ของวิศวกรณ์นิวเคลียร์ที่ฝึกปรือฝีมือบนเทคโนโลยีที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

แม้หลายคนจะยืนยันถึงความปลอดภัยในเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ปัญหาสำคัญของความเชื่อมั่นที่คนไทยมีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พุ่งไปที่ "คน" มากกว่า จากบทเรียนอันเจ็บปวดซ้ำซากแม้จะเป็นคนละเรื่องแต่ก็สะท้อน "วัฒนธรรมแบบไทยๆ" ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกรณี "รันเวย์ร้าว" ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิหรือกรณี "เครื่องปฏิกรณ์" ของศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ที่เป็นเพียงเครื่องปฏิกรณ์วิจัยและมีกำลังแค่ 10 เมกะวัตต์ก็ไม่สามารถสร้างให้แล้วเสร็จได้

การกำจัดกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เป็นอีกเรื่องใหญ่ที่จะติดตามโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาเป็นเงา แม้ฝ่ายสนับสนุนจะชี้แจงว่าปริมาณกากนิวเคลียร์นั้นน้อยนิดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมหาศาล อย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับปัญหากากยูเรเนียม 55,000 ตันที่ต้องนำไปฝังในอุโมงค์ลึกใต้ภูเขาตั้งแต่ปี 2541 แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ และยิ่งเป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับไทยที่เคยประสบเหตุการณ์ "โคบอลต์ 60" อันสะท้อนภาพของความหละหลวมในการกำกับดูแลกากกัมมันตรังสีแม้ในปริมาณน้อยนิด

เวลานี้ปัญหาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สำหรับคนไทยจึงไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยของเทคโนโลยีหากแต่เป็นความปลอดภัยบนพื้นฐานของการบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นกันเองแล้วว่าเรามีความสามารถในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด





=============================
*ทีมข่าว "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ขอนำเสนอรายงานส่งท้ายปี ในชื่อชุด "หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย" โดยนำประเด็นเด่นในวงการวิทยาศาสตร์ที่ยังหาคำตอบแห่งความลงตัวไม่ได้ ใน 5 เรื่องสำคัญคือ 1.การเตรียมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, 2.การสอบสวนกรณีองครักษ์, 3.จีเอ็มโอ, 4การส่งดาวเทียมธีออส และ 5.การขยายไซน์ปาร์ก

อ่านเพิ่มเติมบทความชุด "หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย"
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" บนทางเลือกแบบไทยๆ
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : องครักษ์ : รอยบากบนทางนิวเคลียร์
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "ธีออส" ดาวเทียมสัญชาติไทยทำไมส่งไม่ได้สักที
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "จีเอ็มโอ" เบิกศักราชใหม่ในไร่นา
- หลุมดำวิทยาศาสตร์ไทย : "ไซน์ปาร์ค" คำถามถึงความคุ้มทุน!!?

กำลังโหลดความคิดเห็น