xs
xsm
sm
md
lg

"เมืองวิทยาศาสตร์" จินตนาการเด็กสร้างบ้าน-เมืองไร้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โบราณว่า "อย่าคบเด็กสร้างบ้าน" แต่บางทีการคบเด็กสร้างเมืองอาจนำความคิดดีๆ มาสู่ชีวิตคนเราที่มีสารพัดเรื่องรุมเร้าก็ได้ ลองมาดูจินตนาการของเยาวชนในค่าย "เมืองวิทยาศาสตร์" อาจจะโดนใจหลายคนจนอยากจะมีชีวิตอยู่ยาวนานเพื่อรอเมืองในอนาคตก็ได้

ด้วยปัญหารถติดที่เผชิญอยู่ในเมืองหลวง "เชน" หรือ ด.ช.นิพิฐ เจริญงาม นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงวาดภาพเมืองแห่งอนาคต ในจินตนาการของเขาว่า อยากให้มีการเดินทางที่สะดวกโดยไม่ต้องใช้รถส่วนตัวหรือแม้กระทั่งรถประจำทาง แต่ใช้เทคโนโลยีเทเลพอร์ตติง (teleporting) ที่สามารถเคลื่อนย้ายมวลสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) ที่จะเป็นแหล่งพลังงานของเมือง

"เรามีแดดเยอะและแสงอาทิตย์ก็จะเป็นแหล่งพลังงานได้มาก แม้ปัจจุบันประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานจะมีแค่ 15% แต่อนาคตก็น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และผมก็กำลังทำโครงงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ แต่กว่าจะสำเร็จลงได้ก็อาจจะเลยช่วงชีวิตผมไปแล้วก็ได้" เชนกล่าว

ส่วนสาวน้อยช่างฝันอย่าง "เฟิน" หรือ น.ส.พิมพ์พิสุทธิ์ วรขจิต นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แจงว่าอยากให้มี "หุ่นยนต์ผู้พิทักษ์" ที่จะคอยปราบหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์เอไอ ที่คิดนอกลู่นอกทาง เนื่องจากปัจจุบันหุ่นยนต์เริ่มจะคิดเองได้และตอนนี้เรายังควบคุมได้ แต่อนาคตมนุษย์อาจไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งอยากให้หุ่นยนต์ผู้พิทักษ์คอยดูแลมนุษย์และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

"เนื่องจากหุ่นยนต์แต่ละตัวจะมีไมโครชิปฝังอยู่ และไมโครชิปแต่ละตัวสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ซึ่งจะช่วยให้หุ่นยนต์ผุ้พิทักษ์ทราบได้ว่าหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ นั้นคิดอะไรอยู่" เฟินกล่าว พร้อมทั้งเผยว่าอยากเขียนโปรแกรมสร้างระบบปฏิบัติการเล็กๆ ที่เป็นของคนไทย และสามารถใช้งานได้ในองค์กร เพราะส่วนใหญ่คนไทยจะใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซึ่งเป็นของต่างชาติ และอยากพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ภาษาไทยซึ่งคนไทยใช้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศอย่างที่เป็นอยู่

จินตนาการเมืองวิทยาศาสตร์ของเยาวชนยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ "โจ้" หรือ ด.ช.ขวัญชัย ปานสุข นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี เผยถึงเมืองในอนาคตตามความคิดของเขาว่า อยากให้เมืองมีเส้นทางที่แยกเฉพาะสำหรับรถยนต์และคนเดินเท้า โดยทางเดินนั้นก็สามารถเลื่อนได้เองอัตโนมัติ

อีกทั้งอยากให้ทางเฉพาะสำหรบรถด่วนพิเศษเพราะปัจจุบันมีปัญหาที่หลายคนไปทำงานไม่ทัน
ส่วนสายไฟก็อยากฝังลงใต้ดิน นอกจากนี้พลังงานที่ขับเคลื่อนเมืองก็อยากให้เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ร่วมกับพลังงานไฮโดรเจนที่แยกได้จากน้ำ

ขณะที่คนอื่นๆ อาจจะจินตนาการถึงเมืองที่มีความสะดวกสบาย แต่สำหรับ "ต่อ" หรือ ด.ช.ต่อพงศ์ ล้ำเลิศ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนปทุมคงคา กล่าวว่าความสบายจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เพียงแล้วไม่อยากให้มีมากกว่านี้ แต่อยากให้คนสนใจสิ่งแวดล้อมมากกว่า

จินตนาการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเยาวชนที่เข้าค่าย "สร้างเมืองวิทยาศาสตร์ในอนาคต" ของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่จัดขึ้นระหว่าง 30 พ.ย.- 1 ธ.ค.นี้ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 45 คนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งคัดเลือกจาก 3 กลุ่ม คือกลุ่มเยาวชนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (เจเอสทีพี) กลุ่มที่ส่งเรียงความเข้าประกวดและกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากโรงเรียน

ผศ.ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย ที่ปรึกษาฝ่ายส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษของทีเอ็มซีกล่าวว่า ค่ายนี้จัดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษหรือผู้ที่ไม่รู้ตัวว่ามีความสามารถพิเศษ และเป็นการสำรวจ "แวว" ของเด็กที่จะฉายออกมาระหว่างกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออก คิดและแก้ปัญหา จากนั้นจะได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เข้าโครงการพัฒนาเด็กของทีเอ็มซีอย่างเจเอสทีพีและโครงการอื่นๆ โดยจะสอนให้เยาวชนรู้จักการออกแบบแล้วแบ่งกลุ่มเพื่อลงมือประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อใช้ในเมืองวิทยาศาสตร์ตามจินตนาการ

"เป็นความพยายามช้อนเด็กที่หลุดลอดจากการคัดเลือกที่ผ่านมา" ผศ.ดร.ยุทธนากล่าว ทั้งนี้เยาวชนในค่ายได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการออกแบบโดยวิทยากรจากอิสราเอล จากนั้นจะได้ประดิษฐ์ "พัดลม" อย่างง่ายด้วยชุดการเรียนรู้พื้นฐานทางวิศวกรรม K'NEX ที่มีอุปกรณ์พื้นฐานพร้อมให้ประกอบเข้าโดยง่าย ขณะเดียวกันก็สามารถออกแบบให้พัดลมหมุน ส่งเสียงและแสงได้ตามต้องการ ผ่านโปรแกรมสำเร็จที่มีชุดคำสั่งให้ได้ลองเลือกออกแบบพัดลมที่มีคุณสมบัติตามใจ จากนั้นก็เป็นกิจกรรมให้เด็ก ได้เลือกระหว่างออกแบบบ้าน รถยนต์หรือของเล่นที่จะเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับเมืองวิทยาศาสตร์ในจินตนาการของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ 3 กลุ่มที่สร้างผลงานถูกใจกรรมการจะได้รับรางวัลด้วย

สำหรับชุดการเรียนรู้ K'NEX ของอิสราเอลที่นำเข้าโดยบริษัท มัลติเอดูเคชั่น จำกัด ซึ่งเคยมีความร่วมกับทีเอ็มซีในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนผู้มีความพิการทางสายตา ส่วนจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชุดการเรียนรู้ดังกล่าวหรือไม่ ผศ.ดร.ยุทธนากล่าวว่าถือเป็นการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายเพราะใช้เป็นอุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ให้กับเยาวชนได้โดยการกำหนดหลักสูตรขึ้นมาเอง ขณะที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของชุดการเรียนรู้คือสถานศึกษาต่างๆ เนื่องจากทางบริษัทเน้นขายหลักสูตรที่มูลค่าเป็นเงินบาทอยู่ในหลักแสน

อย่างไรก็ดีจินตนาการของเยาวชนเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นความต้องการเมืองที่ปราศจากปัญหาซึ่งประสบในปัจจุบัน และวิธีแก้ปัญหาที่อาจจะเป็นไปได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนจะเป็นจริงได้หรือไม่นั้นคงต้องอยู่ที่ความมุ่งมั่นของเขาเหล่านั้นนั่นเอง





กำลังโหลดความคิดเห็น