ผู้จัดการออนไลน์/เนเจอร์นิวส์/อินเดียนิวส์- โค้งสุดท้ายรายงานฉบับ 4 "ไอพีซีซี" เตรียมเสนอผู้มีอำนาจในกำหนดนโยบายแต่ละประเทศ ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับยูเอ็นที่บาหลี พร้อมเสียงเรียกร้องปรับปรุงองค์กรจากเป็นฝ่ายเสนอภาพภาวะโลกร้อนอย่างเดียวสู่องค์กรที่พร้อมให้ข้อมูลแก้ปัญหาจากความต้องการของรัฐบาล
การประชุมระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีกำหนดเริ่มขึ้นระหว่าง 3-14 ธ.ค.นี้ ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้นำในระดับรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศจากนานาชาติเข้าร่วมประชุม โดยวาระสำคัญคือการกำหนดทิศทางอนาคตของโลก รวมทั้งวาระการต่อ "พิธีสารเกียวโต" (Kyoto Protocol) ที่กำลังจะหมดอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) รับหน้าที่สำคัญที่จะรายงานบทสังเคราะห์ของ "รายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" (Assessment Report) ซึ่งเป็นรายงานใหญ่ขององค์กรที่ เพื่อให้ตัวแทนแต่ละประเทศนำไปกำหนดเป็นนโยบายของชาติ ทั้งนี้หน้าที่ดังกล่าวเป็นบทบาทสำคัญส่งท้ายของคณะทำงานในรายงานฉบับที่ 4
"ไอพีซีซี" เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ค้นหาความจริงเกี่ยวกับโลกร้อน บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2533 ด้วยความร่วมมือในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกกว่า 1,000 คน โดยมีจุดยืนให้รัฐบาลนำข้อมูลวิชาการไปใช้ ในการวางนโยบายของแต่ละประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยจะเสนอรายงานใหญ่ทุกๆ 5-6 ปี โดยในรายงานแต่ละฉบับจะมีประธานและคณะทำงานเฉพาะ
สำหรับคณะทำงานรายงานใหญ่ในปัจจุบันมีนายราเชนทรา ปาจาอุรี (Rajendra Pachauri) จากอินเดียประธานไอพีซีซีรับเป็นประธานคณะทำงาน
ในปี 2550 นี้ไอพีซีซีก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับอัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีบทบาทต่อการจุดกระแสสังคมให้หันมาสนใจต่อภาวะโลกร้อน
การทำงานของไอพีซีซีแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มซึ่งมี 3 คณะทำงาน (Working Group) ได้แก่ กลุ่มทำงานที่ 1 (WG I) ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มทำงานที่ 2 (WG II) ศึกษาผลกระทบ ความอ่อนไหวและการรับมือภาวะโลกร้อน กลุ่มทำงานที่ 3 (WG III) ศึกษาความสามารถการลดก๊าซเรือนกระจก
และกลุ่มสุดท้ายคือ ทีมทำคู่มือการคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจก (Task Force Group) ซึ่งจะเสนอรายงานประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นรายงานใหญ่ทุกๆ 5-6 ปี โดยระหว่างรอรายงานใหญ่ก็มีรายงานฉบับพิเศษที่สรุปและสังเคราะห์รายงานออกมานำเสนอในระยะเวลาที่ถี่กว่า
ทั้งนี้ในรายงานฉบับล่าสุดของไอพีซีซีมีนักวิทยาศาสตร์ไทยหลายคนที่เข้าร่วมในการทำรายงานใหญ่ด้วยได้แก่
- ผศ.ดร.กัณฑรีย์ บุญประกอบ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตรวจสอบผลงานวิเคราะห์ในคณะทำงานที่ 1
- ผศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม อยู่ในคณะทำงานกลุ่มที่ 1 โดยทำหน้าที่วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของก๊าซมีเทนในบรรยากาศทั่วโลก
- ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานกลุ่มที่ 2
- รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้คณะทำงานที่ 3
ผศ.ดร.กัณฑรีย์ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารด้านวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ทางภูมิอากาศในคณะทำงานชุดที่ 1 กล่าวว่าในการทำรายงานใหญ่ฉบับที่ 4 นี้ ประธานได้ย้ายมาอยู่ใมนประเทศกำลังพัฒนาคืออินเดีย โดยก่อนหน้ามีประธานเป็นชาวสวีเดนและสหรัฐฯ ส่วนคณธทำงานยังคงมาจากทั่วโลกเช่นเดิม ทั้งนี้รายงานของไอพีจะนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ (The Conference of the Parties: COP) เพื่อให้ภาคีได้ใช้ประโยชน์จากรายงานอย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้ข้อมูลอย่างเต็มที่นัก
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.กัณฑรีย์ได้ชี้แจงว่าข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไอพีซีซี จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและงานวิจัยที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ พร้อมระบุว่าจะแปรลสรุปบทสังเคราะห์ของรายงานฉบับที่ 4 และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.ru.ac.th/climate-change ในเร็วๆ นี้
ในปีนี้ไอพีซีซีใกล้บรรลุขั้นสุดยอดในรายงานสรุปที่จะนำเสนอตำตอบที่หนักแน่นว่ามนุษย์จะรับมือกับภาวะโลกร้อนได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอให้ไอพีซีซีได้ปรับเปลี่ยนการทำงาน โดยก้าวแรกไอพีซีซีได้แสดงภาพให้เห็นว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นประเด็นสำคัญและเกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ และก้าวต่อไปแทนที่จะเพียงอธิบายถึงปัญหาให้เห็นอย่างแจ่มชัดก็ควรที่จะพุ่งตรงไปยังวิธีแก้ปัญหาด้วย
"เราไม่สามารถรอถึง 5 ปี 7 ปีสำหรับรายงานใหญ่ได้อีก เราจำเป็นต้องลงมือแล้ว" คำประกาศก้องของแฟรงก์ ราส์ (Frank Raes) นักวิทยาศาสตร์ทางภูมิอากาศจากสถาบันด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Institute for Environment and Sustainability) ของคณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) ในเมืองอิสปรา อิตาลี โดยเขาและรอบ สวาร์ต (Rob Swart) จากศูนย์อากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งยุโรป (European Topic Centre on Air and Climate Change) ในเนเธอร์แลนด์ เห็นตรงกันว่านอกจากโครงการการทำงานที่เป็นวิทยาศาสตร์โดยไม่เกี่ยวกับการเมืองที่ต้องดำรงอยู่แต่ก็ควรขยับไปสู่ฐานะที่จะสามารถให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงโดยการผลักดันจากปัญหาเชิงนโยบายด้วย
อย่างไรก็ดีในความเห็นส่วนตัวของปาจาอุรีกล่าวว่า ไม่จำเป็นที่ไอพีซีซีจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะรายงานใหญ่ที่นำเสนอทุกๆ 5-6 ปียังคงมีประโยชน์ โดยที่ไอพีซีซีสามารถตอบสนองความต้องการจากผู้กำหนดนโยบายได้ด้วยรายงานพิเศษตามคำร้องขอ แต่เขาก็พร้อมที่จะได้รับข้อชี้แนะจากสิ่งที่รัฐบาลต้องการ
ทั้งนี้อนาคตของไอพีซีซีนั้นสามารถที่จะถกกันได้อีกในการประชุมของคณะกรรมการที่จะมีขึ้นในเดือน เม.ย.2551 และในเดือน ก.ย.ถัดประธานคนใหม่ก็มีอำนาจตัดสินอย่างเต็มที่