xs
xsm
sm
md
lg

"ระพี สาคริก" ชี้ปัญหาโลกร้อนเกิดเพราะไทยลืมกำพืดเกษตรกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ระพี สาคริก" เผยปัญหาทุกวันนี้เกิดเพราะไทยลืมกำพืดการเป็นชาติเกษตร หันไปพึ่งวัตถุนิยมและภาคอุตสาหกรรมทำให้ประเทศมีแต่เรื่องเงินและอำนาจ ด้านรายงานยูเอ็นดีพีระบุความแตกต่างการรับมือปัญหาโลกร้อน โดยชาติพัฒนาแล้วใช้เงินสร้างความมั่นคง ส่วนประเทศยากจนใช้การปรับพฤติกรรมเข้าช่วย

สำนักงานพัฒนาโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เผยรายงานการพัฒนามนุษย์ฉบับล่าสุดหัวข้อ "ต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : น้ำหนึ่งใจเดียวของมนุษย์ในโลกที่แตกเป็นฝักฝ่าย" เมื่อวานนี้ (29 พ.ย.) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์พืชได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดตัวรายงานของยูเอ็นดีพีด้วย

"ปัญหาทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะคนไทยลืมกำพืด ลืมรากฐานของตนเองที่มาจากภาคเกษตรกรรม แต่พึ่งพาวัตถุนิยมและมุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป ทำให้ประเทศมีแต่เรื่องเงิน อำนาจ ไม่มีน้ำใจและคุณความดีต่อกัน ยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ มีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน และไม่ใช่ทางออกที่ดีของเมืองไทย ทั้งนี้เชื่อว่าจะเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น และไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดๆ ก็ตามผู้ที่ เดือดร้อนก็คือเกษตรกร" ศ.ระพีกล่าว

สำหรับเนื้อหาในรายงานดังกล่าวชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นคุกคาม และกัดกร่อนเสรีภาพและจำกัดทางเลือก ซึ่งท้าทายต่อหลักการที่ว่า ความก้าวหน้าของมนุษย์จะเป็นการสร้างอนาคตให้สดใสกว่าอดีต ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงการรับมือกับภัยพิบัติก็ที่แตกต่างกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและกับประเทศกำลังพัฒนา

อย่างชาวเนเธอร์แลนด์ลงทุนสร้างบ้านที่ลอยน้ำได้ ขณะที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงชาวบ้านปลูกป่าชายเลนเพื่อกันพายุซัด และสอนให้ผู้หญิงและเด็กหัดว่ายน้ำ ส่วนที่เขตแหลมแอฟริกาผู้หญิงและเด็กต้องปรับตัวโดยการเดินไกลขึ้นเพื่อไปตักน้ำบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ

รายงานการพัฒนามนุษย์ยังได้เสนอว่าประเทศที่กำลังพัฒนาควรกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 20% ภายในปี 2593 ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วควรตั้งเป้าคาร์บอนให้ได้ 80% โดยในปี 2563 ต้องลดได้แล้ว 20-30% อย่างไรก็ดีในความเห็นของ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าไทยจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้เพียง 10%

นอกจากนี้ ดร.อานนท์ยังได้เผยข้อมูลจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ในคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยซึ่งอิงข้อมูลจากแบบจำลองของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในอีกกว่าครึ่งศตวรรษประเทศไทยจะมีวันร้อนที่ยาวนานขึ้น ขณะที่วันเย็นลดลงจนแทบไม่เหลือพื้นที่ซึ่งมีวันเย็นอยู่เลย

ขณะเดียวกันก็ยังเผชิญปัญหาปริมาณฝนจากมรสุมประจำฤดูกาลที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนทั่วทั้งประเทศ ซึ่งในการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร การจัดน้ำ รวมถึงการพัฒนามนุษย์นั้นควรนำภาพจากคาดการณ์เหล่านี้เข้าไปประกอบในแผนพัฒนาระยะยาวด้วย

อย่างไรก็ดี ดร.อานนท์ได้ย้ำว่าจากการคาดการณ์เพียงหนึ่งเดียวนั้นไม่ถูกต้องนัก ควรจะมีภาพจากคาดการณ์ที่หลากหลายมากกว่านี้ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเชื่อว่า 1 ปีหลังจากนี้จะมีคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น 4-5 การคาดการณ์
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ (ขวา) ร่วมในการเปิดตัวรายงานพัฒนามนุษย์ โดยมีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น