xs
xsm
sm
md
lg

จะทำอย่างไร? เมื่อต้องการใช้วัสดุกัมมันตรังสี ปส. มีคำตอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัสดุกัมมันตรังสีไม่ใช่สารเคมีที่ใครนึกจะใช้เมื่อไหร่ก็ใช้ได้ เพราะคุณอนันต์และโทษมหันต์ของกัมมันตภาพรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการขออนุญาตใช้งานสารกัมมันตรังสีทุกชนิดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด

กระแสโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทยขณะนี้ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าการใช้ประโยชน์จากสารกัมมันตรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยมีมาหลายสิบปีแล้ว และผู้ใช้งานต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เสียก่อน ไม่ว่าจะนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง แต่จะมีขั้นตอนการขออนุญาตอย่างไรนั้น ทาง ปส. ได้กำหนดกฎระเบียบต่างๆ ไว้แล้ว ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงถือโอกาสนี้นำมารายงานให้ทราบกัน

พลูโตเนียมและยูเรเนียมเป็นกัมมันตรังสีที่รู้จักกันดี แต่ยังมีกัมมันตรังสีชนิดอื่นๆ อีก เช่น ธอเรียม ซีลีเนียม และโคบอลต์ เป็นต้น หากใครต้องการนำเข้าธาตุกัมมันตรังสีจากต่างประเทศเพื่อมาใช้งานภายในประเทศ ต้องขอรับใบอนุญาตจาก ปส. ก่อน จึงนำเข้ามาได้

การขอรับใบอนุญาต จะต้องระบุรายละเอียดต่างๆ ในคำขออนุญาตว่าใครคือผู้ขอรับใบอนุญาต วัสดุกัมมันตรังสีนั้นผลิตที่ไหน ระยะเวลาที่ขออนุญาต ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำเข้ามา สถานที่เก็บรักษาวัสดุกัมมันตรังสีเมื่อได้นำเข้ามาแล้ว นำเข้ามาใช้งานในลักษณะไหน เช่น ด้านการแพทย์, อุตสาหกรรม หรืออื่นๆ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ลักษณะการขนส่งทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ

ที่สำคัญต้องระบุรายละเอียดต่างๆ ของสารกัมมันตรังสีนั้นด้วย เช่น ธาตุและเลขมวลของต้นกำเนิดรังสี สมบัติทางกายภาพและสูตรเคมี ปริมาณการนำเข้า ค่ากัมมันตภาพรังสี อัตราการใช้งาน สถานที่ใช้งาน และการใช้ประโยชน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาต คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่อยู่ภายใต้เงื่อนไของใบอนุญาตเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐาน ส่วนการใช้งานต้องให้เกิดประโยชน์มากกว่าผลเสีย และต้องใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ขอรับอนุญาตเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ปส. ได้จำแนกประเภทของวัสดุที่ต้องการนำเข้าหรือส่งออกไว้ 4 ประเภท ได้แก่ วัสดุนิวเคลียร์พิเศษ วัสดุพลอยได้ วัสดุต้นกำลัง และเครื่องกำเนิดรังสี ซึ่งการขออนุญาตคล้ายคลึงกัน แต่อาจต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละชนิด

ตามที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติพลังงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 วัสดุนิวเคลียร์พิเศษ หมายถึง พลูโตเนียม ยูเนียมซึ่งมีความเข้มข้นของยูเรเนียม 233 หรือยูเรเนียม 235 สูงกว่าที่มีตามธรรมชาติ และวัสดุที่มีพลูโตเนียม, ยูเรเนียม 233 หรือยูเรเนียม 235 เป็นส่วนผสม

วัสดุพลอยได้ หมายถึง วัสดุกัมมันตรังสีทุกชนิดนอกจากวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ ซึ่งเกิดจากการผลิตหรือการใช้วัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ

วัสดุต้นกำลัง หมายถึง ยูเรเนียม, ธอเรียม, สารประกอบของยูเรเนียมหรือธอเรียม หรือวัสดุอื่นใดที่มีคุณสมบัติเป็นวัสดุต้นกำลังตามที่กำหนดโดยกระทรวง และแร่หรือสินแร่ที่ประกอบด้วยวัสดุดังกล่าว

ส่วนเครื่องกำเนิดรังสี เช่น เครื่องกำเนิดรังสีนิวตรอน ซินโครตรอน เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย เครื่องรังสีรักษาทางการแพทย์ เครื่องกำเนิดรังสีอุตสาหกรรม และเครื่องเอ็กซเรย์ต่างๆ เป็นต้น

สำหรับการจัดการกากกัมมันตรังสี จะต้องอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยของ ปส. โดยก่อนระบายกากกัมมันตรังสีหรือสิ่งปนเปื้อนกากกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ จะต้องตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสี ซึ่งต้องมีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัยจึงจะระบายสู่สิ่งแวดล้อมได้ และต้องรายงานให้ ปส. ทราบพร้อมทั้งผลการตรวจวัด

นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการจัดเก็บวัสดุนิวเคลียร์ต่างๆ เหล่านี้ เพื่อความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมและประชาชน การจัดเก็บจะขึ้นอยู่กับประเภทและสถานภาพของวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งต้องมีการขึ้นทะเบียนเพื่อควบคุม ผู้ครอบครองต้องจัดทำทะเบียนรายการต่างๆ ที่ตรวจสอบได้ ต้องจัดเก็บอย่างปลอดภัยในสถานที่ปลอดภัย ติดฉลากเตือนความปลอดภัย ควบคุมผู้เข้าออกสถานที่นั้นและป้องกันการโจรกรรมได้

หากต้องการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีหรือเคลื่อนย้ายสถานที่จัดเก็บก็ต้องขออนุญาตก่อน หรือหากต้องการส่งกลับออกนอกประเทศก็ต้องขออนุญาตเหมือนกับที่ขออนุญาตนำเข้ามาในประเทศเช่นกัน

ทีนี้หากใครต้องการนำวัสดุกัมมันตรังสีเข้ามาภายในประเทศหรือมีอยู่ในครอบครองก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ และต้องติดต่อโดยตรงกับ ปส. เท่านั้น มิฉะนั้นแล้วจะมีความผิดตามกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น