xs
xsm
sm
md
lg

ปส.ทำโพลกว่าครึ่ง"ไม่กลัว" โรงนิวเคลียร์ อีก 40% ลังเลเพราะขาดข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปส.เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กว่า 40 % เผยยังขาดข้อมูลในการตัดสินใจ
สำนักงานปรมาณูฯ คลอดโพลความคิดเห็นคนไทยทั่วประเทศต่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เกือบ 40% ตอบยังลังเล เพราะไร้ข้อมูล ส่วนอีก 30% เผยอยากให้มีจะได้ก้าวทันเทคโนโลยี ส่วน 1 ใน 3 ระบุไม่แน่ใจว่าจะผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน ขณะที่มากกว่าครึ่งตอบ "เฉยๆ -ไม่กลัวแล้ว"

หลังจากมีกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเป็นระยะๆ โดยต้นเดือนที่ผ่านมา โพลของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่เผยให้เห็นว่า คนไทยใน 14 จังหวัดภาคใต้เกือบร้อยละ 80 ปฏิเสธการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ตนเอง ล่าสุด สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้คลอดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกชุด

นางเก็จวรงค์ นุกูลกิจ เจ้าหน้าที่บริหารงานเผยแพร่ 7 ปส. เผยว่า จากการสุ่มสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศที่มีต่อ "พลังงานนิวเคลียร์" จำนวน 6,117 คน ใน 15 จังหวัด พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.81 ตอบว่ายังไม่แน่ใจว่าต้องการให้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าเพราะยังไม่ทราบรายละเอียด ขาดข้อมูลที่ชัดเจน ไม่รู้ว่ามีประโยชน์และโทษอย่างไร ต้องดูความพร้อมของหน่วยงานที่เข้ามาดูแล และรอดูกระแสของคนส่วนใหญ่

รองลงมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.98 ตอบว่า ต้องการให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะจะได้เห็นถึงวิวัฒนาการความทันสมัยทางเทคโนโลยี เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตไฟฟ้า ประชาชนมีไฟฟ้าใช้มากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศ ส่วนอีกร้อยละ 26.12 เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้เหตุผลว่ามีข้อเสียมากกว่า เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เป็นสิ่งที่น่ากลัว และอาจมีผลต่อภาวะโลกร้อน

นอกจากนั้น ต่อข้อถามให้เปรียบเทียบผลดีและผลเสียของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.79 ตอบว่ายังไม่แน่ใจ รองลงมาคือพอๆ กันร้อยละ 26.34 มีผลเสียมากกว่าร้อยละ 24.82 และมีผลดีมากกว่าผลเสียร้อยละ 13.34 โดยสิ่งที่ทำให้รู้สึกกังวลหรือเป็นห่วงมากที่สุด คืออันตรายจากนิวเคลียร์ที่มีค่าเฉลี่ยของคะแนน 8.50 รองลงมาคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่าเฉลี่ย 8.26 และผลกระทบต่อประชาชนหรือคนในชุมชนค่าเฉลี่ย 7.55

ขณะที่สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างเผยว่าอยากรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุดคือ อันตรายที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร้อยละ 12.00 รองลงมาคือผลดีและผลเสียของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร้อยละ 11.89 และอยากรู้ถึงวิธีป้องกันรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามลำดับ

กลุ่มตัวอย่างยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชนิดนี้ให้ประชาชนได้ทราบมากขึ้น เช่น ความจำเป็นที่ต้องมี และสิ่งที่ส่วนรวมจะได้รับ ในเวลาเดียวกันยังต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่น และยอมรับในระบบการทำงาน รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย และควรมีการพิจารณาให้รอบคอบ และการศึกษาอย่างถ่องแท้ก่อน

ทั้งนี้ ในการสำรวจคราวเดียวกัน ซึ่งระบุว่าภาพรวมของการรับรู้เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ที่ถูกต้องร้อยละ 78.33 กลุ่มตัวอย่างมากที่สุดร้อยละ 26.68 แสดงความคิดเห็นเมื่อพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ด้วยว่า ทำให้นึกถึงระเบิดนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์ และจรวดนิวเคลียร์มากที่สุด รองลงมาร้อยละ 12.79 นึกถึงความหายนะ การทำลายล้างโลก และอานุภาพที่ร้ายแรง และอีกร้อยละ 10.93 เผยว่านึกถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.14 ยอมรับว่ารู้สึกกลัว ร้อยละ 43.03 เผยว่ารู้สึกเฉยๆ และร้อยละ 12.83 ปฏิเสธว่าไม่รู้สึกกลัวแต่อย่างใด ส่วนคำถามข้อต่อมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.59 ตอบว่าพลังงานนิวเคลียร์มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาก ร้อยละ 34.67 ตอบว่าสำคัญปานกลาง และร้อยละ 10.69 ตอบว่าสำคัญมากที่สุด โดยในรอบปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.83 ตอบว่า ไม่ได้มีความรู้เรื่องนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2549 เลย

นางเก็จวรงค์ เผยว่า สำหรับการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้จัดทำโดยสวนดุสิตโพลเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระจายสำรวจใน 15 จังหวัดที่เป็นตัวแทนของทุกภาค อาทิ กรุงเทพฯ ลำปาง นครราชสีมา นครนายก โดยมีจังหวัดภาคใต้ 2 จังหวัดคือ สงขลา และนครศรีธรรมราช กับกลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 21 -50 ปี

ในจำนวนนี้ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 7.77 ระดับปริญญาตรีร้อยละ 44.97 และต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 43.17 เป็นพนักงานบริษัท ลูกจ้าง และรับจ้างมากที่สุด ร้อยละ 26.47 รองลงมาคือข้าราชการร้อยละ 25.98 และนักเรียน -นักศึกษาร้อยละ 18.10
กำลังโหลดความคิดเห็น