xs
xsm
sm
md
lg

“Bug” เป็นอะไรที่มากกว่า “แค่แมลง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Bug ในความหมายของคนอเมริกันไม่ได้หมายความแค่แมลงเท่านั้น (ภาพจากภาพยนตร์ A Bug’s Life)
หลายคนอาจยอมรับแบบไม่ขวยเขิน ว่าแสนจะสับสนทุกทีเมื่อต้องชี้ว่า “แมลง -แมง” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ยิ่งกับ “bug” (บัก) ที่ได้ยินจนชินหู และแอบเผลอใจคิดไปว่ามีความหมายเดียวกับ “แมลง –แมง” ด้วยแล้ว พอเห็นฝรั่งเรียก "บัก" ที่เป็นทั้งแมงวัน แมงป่อง กิ้งกือ แม้กระทั่งกุ้ง ปูก็รวมไปด้วยจึงพาลสับสนกันไปใหญ่

จากข่าว ตะลึง!! ฟอสซิล “แมงป่องทะเลยักษ์” ใหญ่กว่าคน  ที่ทีมงาน “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” นำมาเสนอ เห็นสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่าสิ่งที่พบนั้นเป็น Bug (แมลง) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแมงป่องกลายเป็น "แมลง" ไปได้อย่างไร !!!

ทางทีมงานจึงสอบถามไปยัง รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์มด และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ซึ่งเขาได้คลายความสงสัยว่า คำว่า “bug” นั้น เป็นศัพท์ของชาวอเมริกัน มีความหมายมากกว่าคำว่าแมลง (insect ตามภาษาอังกฤษ–อังกฤษ) อย่างที่หลายคนทั่วไปเข้าใจกัน
 
"บัก" ที่ฝรั่งเรียกกันนั้นยังหมายรวมถึงสัตว์ที่มีลำตัวหรือขาเป็นปล้อง ซึ่งอยู่ในไฟลัมอาร์โทโพดา (Phylum Arthropoda) ของอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Metazoa/Animalia) ด้วย

bug ตามคำเรียกนั้นจึงกินความสัตว์ใน 6 คลาส (Class) ของไฟลัมอาร์โทโพดาทีเดียว คือ 1.อินเซ็คตา (Insecta) หรือแมลง เช่น ผึ้ง ครั่ง แมลงสาบ ผีเสื้อ และหมัด 2.ครัสเตเซีย (Crustacea) เช่น กุ้ง กั้ง ปู ไรน้ำ (ไรแดง) เพรียงหิน และตัวกะปิ 3.อะแรชนิดา (Arachnida) เช่น แมงมุม แมงป่อง เห็บ ไร 4.เมอโรสโตมา (Merstoma) เช่น แมงดาทะเล 5.ชิโลโพดา (Chilopoda) เช่น ตะขาบ และ 6.ไดโพลโพดา (Diplopoda) เช่น กิ้งกือ ซึ่งหากนำนิยามว่า “สัตว์ที่มีลำตัวหรือขาเป็นปล้องๆ” ก็จะครอบคุลมได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เดชา ชี้แจงเพิ่มว่า แต่ “bug” ก็เป็นคำที่มีความหมายกว้างมากเกินไป จึงไม่ใช้กันในหมู่นักกีฏวิทยา ซึ่งตามตำรับตำราด้านกีฏวิทยาก็จะนิยามความหมายของ “bug” ไว้แคบ และหมายถึงสัตว์จำพวก Hemiptera หรือตัวมวนชนิดต่างๆ อาทิ แมงดานา มวนเขียว และมวนลำไย เท่านั้น โดยในตำราต่างประเทศเองก็จะไม่ให้ความหมายของ bug แทนความหมายของแมลงเลย

เมื่อหลายปีก่อนมีภาพยนตร์แอนิเมชันของอเมริกาเรื่อง อะบักส์ไลฟ์ (A Bug’s Life) เข้ามาฉาย ได้ไปดูยังงงเลยว่าไม่เห็นจะมีตัวมวนสักตัว พอตอนหลังมาเช็คๆ ดูจึงรู้ว่าคนอเมริกันเขาไม่ได้นิยามให้ bug ว่าหมายถึงแมลงมวนอย่างเดียว” ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์มด มก. กล่าว

รศ.ดร.เดชา เสริมด้วยว่า หากนักกีฏวิทยาหรือแม้แต่การเรียนการสอนในปัจจุบันจะเรียกสื่อความหมายของสัตว์เหล่านี้อย่างถูกต้องจริงๆ ก็จะระบุคลาสของสัตว์ชนิดนั้นไปอย่างชัดเจนเลยว่าอยู่ในคลาสใด ซึ่งจะทำให้สื่อสารกันได้ถูกต้องมากที่สุด

ทั้งนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ.2542 ให้นิยามของ “แมง” หมายถึง ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่มีร่างกายแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัวกับอกรวมเป็นส่วนเดียวกัน และมีส่วนท้องอีกส่วนหนึ่ง มีขา 8 หรือ 10 ขา ไม่มีหนวด ไม่มีปีก เช่น แมงมุม แมงดาทะเล แมงป่อง

ส่วน “แมลง” นิยามว่าหมายถึง ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เมื่อร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มี 6 ขา เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพวกเดียวที่มีปีก ซึ่งอาจมี 1 หรือ 2 คู่ แต่อาจพบพวกที่ไม่มีปีกก็ได้ เป็นสัตว์ที่มีมากชนิดที่สุดในโลก ซึ่งทั้ง 2 คำนี้มักมีการนำไปใช้สับกันอยู่เสมอๆ

ขณะที่ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์และอุทยานแมลง 60 ปี มก. ชี้ลงไปว่า “แมลง” คือสัตว์ในไฟลัมอาร์โทโพดา ในคลาสอินเซ็คตา ต่างจากสัตว์บางตัวที่เรียกภาษาไทยว่า "แมง" ซึ่งจัดอยู่ในคลาสอะแรชนิดา

ภาพร่างจากคอมพิวเตอร์ แสดงถึงสิ่งที่นักบรรพชีวินมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ เชื่อว่า เป็น Bug ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
มวนชนิดต่างๆ ที่เป็นความหมายจริงๆ ตามภาษาวิชาการของนักกีฏวิทยา (ภาพจาก eduarea.bkk2ict.net)
กำลังโหลดความคิดเห็น