นิวไซเอนติสท์ – นักวิจัยพบความต่างของจุดดับบนดวงอาทิตย์ ระหว่างตำแหน่งจริงกับตำแหน่งที่สังเกตได้ และเมื่อคำนวณเส้นรัศมีพบว่าดวงอาทิตย์เล็กลงกว่าที่เคยเห็นถึง 300 ก.ม.
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากศูนย์รังสีโลก (World Radiation Centre: WRC) เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เลียนแบบการส่องแสงผ่านชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ เพื่อคำนวณหาตำแหน่งของจุดดับบนดวงอาทิตย์ โดยอาศัยหลักการเฮลิโอไซสโมโลจี (helioseismology)
พวกเขาพบว่าจุดอับแสงที่ผู้สังเกตมองเห็นในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ ผิดไปจากตำแหน่งของจุดดับบนดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกิดคลื่นความโน้มถ่วงชนิดที่เรียกว่า “เอฟ โหมด” (f-mode) ราว 0.04% คำนวณได้ระยะ 333 ก.ม.
การค้นพบนี้ทำให้ทีมวิจัยคาดคะเนว่าแท้จริงแล้วขนาดของดวงอาทิตย์อาจเล็กกว่าที่เคยเข้าใจกันถึง 300 ก.ม. ปัจจุบันรัศมีของดวงอาทิตย์ระบุไว้ที่ความยาว 695,990 ก.ม. ใหญ่กว่าโลกถึง 109 เท่า ซึ่งคำนวณจากการสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ และวัดระยะห่างจากจุดศูนย์กลางถึงขอบที่ปรากฏ แต่ความยาวของรัศมีใหม่ที่ทีมจากศูนย์รังสีโลกวัดได้นั้นคือ 695,700 ก.ม.
ทั้งนี้ ทีมวิจัยกล่าวว่า การศึกษาทำความเข้าใจกับขนาดที่แท้จริงของดวงอาทิตย์จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจการเกิดสนามแม่เหล็กอันทำให้เกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์ ช่วยให้คำนวณสภาพภายในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น และอาจเป็นกุญแจไขปริศนาของระบบสุริยะได้