รองปลัดกระทรวงพลังงานย้ำ "แผนพีดีพี 2007" ต้องบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้จะช่วยกันประหยัดและผลักดันพลังงานทดแทนอื่นๆ แล้วก็ยังไม่พอ ส่วน บก.อาวุโสผู้จัดการเชื่อมั่นโรงนิวเคลียร์ปลอดภัย “ควรสร้าง” แต่ต้องกวดขัน แม้หวั่นปัญหาคอรัปชั่นเก็บไปกินอีกโครงการ
กระแสโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังมาแรง ทั้งฝ่ายสนับสนุนให้มี และฝ่ายต่อต้าน โดยสำนักงานคลังสมองวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เพื่อสังคม จัดเสวนา “ทัศนะของสื่อมวลชนต่อโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมมีผู้แทนภาครัฐและสื่อมวลชนร่วมแสดงความคิดเห็นราว 30 คน
ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เผยถึงสาเหตุที่ต้องบรรจุการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 4,000 เมกะวัตต์ลงในแผนทั้ง 9 แผนของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550 -2564 (พีดีพี 2007) ซึ่งเป็นที่กังขาของหลายฝ่ายว่า เป็นการยัดเยียดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับคนไทย ในขณะที่ยังไม่พร้อมหรือไม่ ว่าเป็นเพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่ถูกบังคับให้เลือกโดยอัตราการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศในปัจจุบันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตามที่มีการคาดการณ์จากอัตราการเจริญโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เฉลี่ย 5 -6% ต่อปี
ลดใช้พลังงาน-เพิ่มพลังงานทดแทน ยังไม่ใช่ทางออก
รองปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าโดยการกระจายสัดส่วนปัจจัยผลิตกระแสไฟฟ้าให้สมดุลทั้งปัจจัยเรื่องปริมาณและราคานี้ กระทรวงพลังงานได้พยายามหาวิธีอื่นๆ มาก่อนแล้ว ได้แก่ การรณรงค์ประหยัดพลังงานตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ผ่านการออกฉลากผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 การรณรงค์ใช้หลอดผอมและหลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ การรณรงค์ลดการใช้ลิฟต์ การกรณรงค์ประหยัดไฟในบ้านเรือนและสถานที่ราชการ ฯลฯ จนกล่าวกันว่าช่วยให้ประเทศไทยลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปแล้วถึง 2 โรง
ขณะที่การพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ของชุมชนและเอกชนต่างๆ อาทิ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ซึ่งเป็นการกระจายศูนย์การผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ให้รวมศูนย์เพียงส่วนกลางเท่านั้น กระทรวงพลังงานก็ได้ผลักดันแล้วเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุดก็ว่าได้
กลไกที่ชัดเจนเช่น การออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่รับซื้อกระแสไฟฟ้าในราคาแพงขึ้นกว่าปกติเพื่อจูงใจให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากหน่วยผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) และเล็กมาก (วีเอสพีพี) เพิ่มขึ้น อย่างการรับซื้อกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 บาท/หน่วยเป็นเวลา 10 ปี การเพิ่มแรงจูงใจสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากของเหลือทิ้งทางการเกษตรจูงใจอีก 30 สตางค์/หน่วยเป็นเวลา 7 ปี เพิ่มแรงจูงใจให้อีก 3.50 บาท/หน่วยเป็นเวลา 10 ปีสำหรับพลังงานลม และพลังงานไฟฟ้าจากขยะที่เพิ่มแรงจูงใจอีก 2.50 บาท/หน่วย
ส่วนสถานการณ์พลังงานทดแทนในปัจจุบัน ดร.คุรุจิต กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยไม่รวมพลังงานน้ำแล้ว 4-5% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8% ในปี 2554 ขณะที่ประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดด้านพลังงานทดแทนของยุโรปยังสามารถทำได้ดีที่สุดเพียง 10% เท่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่า การพึ่งพิงแหล่งพลังงานทางเลือกเพียงอย่างเดียวไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของประเทศได้
นอกจากนั้น อุปสรรคอีกข้อหนึ่งของพลังงานทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้าคือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่มีราคาแพงและมีข้อจำกัดมาก ตัวอย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าพลังงานลมซึ่งพื้นที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคเดียวที่เหมาะสมที่สุด และยังต้องอาศัยทุนการผลิตถึง 5.7 ล้านบาท/เมกะวัตต์ หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้าใช้ตามบ้านเรือนก็ยังจำกัดในกลุ่มผู้มีฐานะดีเท่านั้น เนื่องจากต้องมีการลงทุนนับล้านบาททีเดียว จึงไม่ใช่แหล่งพลังงานที่ประชาชนทุกระดับจะเข้าถึงได้
"นิวเคลียร์" ไม่ใช่ระเบิดปรมาณู ถ้ามีทางออกดีกว่าก็ถอดออกได้
อีกทั้งจากตัวแปรหลักของการจัดทำแผนคือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ ตลอดจนความพยายามลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตกระแสไฟฟ้าตามกระแสด้านสิ่งแวดล้อมที่นานาชาติให้ความสำคัญ ดังนั้นหากจะผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีที่บรรลุผลได้ทั้งหมด จึงต้องมีการพิจารณาพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย
“สำหรับแผนพีดีพีนี้จะมีการทบทวนกันทุกๆ 3 ปี หากมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้มากพอถึง 8,000 ล้านลบ.ฟุต/วัน ขณะที่เราผลิตได้จริง 2,000 ล้านลบ.ฟุต/วัน ก็ถอดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปได้"
"เหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนในสมัยคุณเกษม จาติกวณิช (อดีต รมว.อุตสาหกรรม และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนแรก) ที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อ่าวไผ่ แต่เมื่อมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติก็ถอดเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป ซึ่งเรื่องนี้เราต้องดูความจริงของโลกด้วย ทั้งเรื่องพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนดีพีดี 2007 นี้จึงไม่ใช่การยัดเยียดให้ประชาชนแต่อย่างใด” รองปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุ
อย่างไรก็ดี รองปลัดกระทรวงพลังงาน ย้ำด้วยว่า หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยจริงตามแผนพีดีพี 2007 ประชาชนจะสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้แน่นอน เพราะทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างเข้มงวด และมีการเตรียมการถึง 13 ปีก่อนการก่อสร้างโรงแรกในปี 2563 ซึ่งจะมีการพัฒนากำลังคน 2 ชุด คือ คนเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (โอเปอเรเตอร์) และผู้กำกับดูแลที่มีความอิสระจากผู้ใด (โมดูเลเตอร์)
ขณะเดียวกันยังมีการออกกฎหมายกำกับความปลอดภัยของโรงงานที่เทียบได้กับของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) และจะมีสำนักพัฒนาโครงสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) เป็นหน่วยงานอิสระอีกแห่งหนึ่งที่จะตั้งขึ้นใหม่ เพื่อทำงานร่วมกันกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญและจำเป็นต่อเศรษฐกิจของประเทศที่จะต้องเติบโตไปข้างหน้าและเพื่อคนรุ่นหลัง พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่มีราคาถูกที่เราต้องพิจารณา เป็นพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในยุคของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช้ระเบิดปรมาณู มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าเดิมมาก รุ่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลของสหภาพโซเวียตเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว รุ่นใหม่ๆ จะมีความปลอดภัยสูง และเราก็มีการกระทำตามกฎกติกาจากไอเออีเออย่างเคร่งครัด”
“เรามีความจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงของแหล่งเชื้อเพลิง เพราะเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป และถ้าเราจริงใจต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนก็ต้องกระจายแหล่งเชื้อเพลิงและใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่กระทรวงพลังงานกระทรวงเดียว แต่ยังมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงศึกษาธิการร่วมศึกษาด้วย เพื่อหวังให้คนรุ่นหลังได้มีพลังงานใช้ได้อย่างมีความมั่นคง เพียงพอและในราคาที่เหมาะสมต่อไป” รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว
ตัวแทนสื่อเห็นด้วยกับ “นิวเคลียร์” แต่ต้องทำให้ปลอดภัย
ส่วนเสียงจากตัวแทนสื่อมวลชนที่มีโอกาสชมงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ณ ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และฟินแลนด์ตามคำเชิญของกระทรวงพลังงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์เมื่อเร็วๆ นี้ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แสดงความคิดเห็น โดยเห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ว่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นจริง เพื่อลดการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติและต้นทุนพลังงานที่ถูกลง โดยเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ดังที่เห็นตัวอย่างมาจากต่างประเทศ
แต่มีข้อแม้บางประการคือ หากมีการก่อสร้างจริงจะต้องมีความเข้มงวดด้านการกำกับรักษาความปลอดภัยอย่างจริงจัง มีการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนจากปัจจุบันที่ยังมีอยู่น้อยเกินไป เช่น จะต้องมีการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน ผู้นำประเทศจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อการพัฒนาประเทศ มีแผนพัฒนาพลังงานที่ชัดเจน ไม่หวังผลระยะสั้นระหว่างดำรงตำแหน่ง แต่ต้องมองไปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่โหมทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ปล่อยให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมนอกประเทศของประเทศที่ผลักดันอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษออกนอกประเทศเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่ควรอาศัยข้อดีที่มีอยู่ในประเทศมากำหนดยุทธศาสตร์ เช่น การชูเรื่องการท่องเที่ยวและการเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกมากำหนดตำแหน่งของประเทศ
“เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อแก้ปัญหาการผลิตไฟฟ้า เท่าที่อยู่ในวงการข่าว มันมีมานานแล้ว เทคโนโลยีก็ก้าวหน้าเรื่อยๆ และก็มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก แต่ชะงักลงเพราะมีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ทำให้มีคนตาย 40 คน แต่จำนวนคนตาย 40 คนนี้ก็เป็นจำนวนที่ไม่มากอะไร อุบัติเหตุในโรงอย่างอื่นทั่วโลกยังมากกว่า” ตัวแทนสื่อกล่าว และย้ำว่า หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ปลอดภัยจริง ประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ย่อมไม่อยู่เฉย แต่จะโวยวายออกมาแล้ว
นอกจากนี้ นายตุลย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากต่อไปจะมีการเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริง ไม่ว่าประเทศไทยจะมีเป็นของตัวเองหรือไม่ก็ย่อมหนีไม่พ้นกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในอากาศลอยข้ามประเทศมาแน่นอน เพราะประเทศเพื่อนบ้านไทยทุกประเทศจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นของตัวเองแล้ว เช่น จีน และเวียดนาม ทว่าก็ยอมรับว่ารู้สึกหวั่นๆ กับเรื่องของการคอรัปชั่นในแวดวงราชการที่อาจส่งผลกระทบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศไทยได้