xs
xsm
sm
md
lg

กูรูมอง IPCC ชักช้าแก้โลกร้อนไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราเชนทรา ปาจาอุรี (Rajendra Pachauri) ประธานไอพีซีซี กล่าวในการประชุมที่เมืองบาเลนเซีย สเปน เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา
เอเอฟพี – ไอพีซีซีจะแถลงรายงานสำคัญว่าด้วยปัญหาโลกร้อนและวิธีหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากปัญหาดังกล่าว ในการประชุมที่เมืองบาเลนเซีย สเปน ทว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลว่ากลไกอันอืดอาดอุ้ยอ้ายของไอพีซีซี ไม่ว่าจะเป็นหลักฉันทามติและการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง อาจส่งผลให้ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ทันการณ์

หลังจากคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ แห่งสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ชุดนี้ซึ่งจัดตั้งโดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประชุมกันที่เมืองบาเลนเซีย ในสเปน เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำรายงานสำคัญที่กล่าวถึงปัญหาโลกร้อนและวิธีแก้ไข ให้เสร็จสมบูรณ์ โดยไอพีซีซีมีกำหนดแถลงรายงานฉบับนี้ในการประชุมที่บาเลนเซีย ในวันเสาร์ที่ 17 พ.ย. นี้

แม้ว่าจะเพิ่งได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมาหมาดๆ แต่ไอพีซีซีก็ถูกตั้งข้อกังขามากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าที่สำคัญ ทั้งนี้ หลายคนซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่ในไอพีซีซี เกรงว่ารายงานฉบับสำคัญนี้จะล้าสมัยก่อนที่จะตีพิมพ์เผยแพร่เสียอีก ขณะที่คนอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์อย่างเงียบๆ ว่าไอพีซีซีหัวเก่าเกินไปในการตระหนักหยั่งรู้ถึงภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน

รายงานที่ไอพีซีซีจะแถลงในวันเสาร์นี้ เป็นการสรุปรายงานประเมินซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ยาว 2,500 หน้า ซึ่งนำออกเผยแพร่ในช่วงต้นปีนี้ ย่อยเนื้อหาลงเป็น“รายงานสังเคราะห์” ซึ่งประกอบด้วยบทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ยาว 25 หน้า และเอกสารเชิงเทคนิค ยาวประมาณ 70 หน้า

ผลวิเคราะห์ชิ้นนี้มีน้ำหนักทางการเมืองอย่างมาก โดยจะเป็นเข็มทิศที่ชี้นำแนวทางในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเริ่มจากการประชุมครั้งสำคัญของยูเอ็นที่จะมีขึ้นที่บาหลี อินโดนีเซีย ในเดือนหน้า

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิตกกังวลว่า กลไกอันอืดอาดอุ้ยอ้ายของไอพีซีซี ซึ่งจัดทำรายงานสรุปฉบับใหม่ได้เพียงในทุกๆ 5 หรือ 6 ปี กำลังล้าหลังอย่างอันตรายยิ่งต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบภูมิอากาศของโลก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ารายงานฉบับใหม่ของไอพีซีซียังไม่ได้รวบรวมหลักฐานใหม่ๆอันน่าตกใจ ซึ่งค้นพบกันในช่วงที่ผ่านมานี้ หลักฐานเหล่านี้รวมถึงภูเขาน้ำแข็งที่กินบริเวณกว้างในแถบขั้วโลกเหนือ ลดขนาดลงเรื่อยๆ ธารน้ำแข็งละลายที่กรีนแลนด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ และหลักฐานชัดเจนที่ชี้ว่าโลกมีความสามารถในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ช้าลง

แหล่งข่าวกล่าวว่าเมื่อนำปรากฏการณ์ข้างต้นมารวมเข้าด้วยกัน จะชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ และอาจจะถึงจุดสูงสุดซึ่งเมื่อเลยจุดนี้ไปแล้ว ความเสียหายก็อาจพุ่งสูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้

เจมส์ แฮนเซน นักวิทยาการด้านภูมิอากาศชั้นนำ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาอวกาศก็อดดาร์ด ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังเช่นการที่แผ่นน้ำแข็งแยกตัว และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นนั้น อาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่ไอพีซีซีคาดการณ์ไว้มาก

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆกล่าวว่าไอพีซีซียังมีจุดอ่อนอีกประการก็คือ มักจะหลีกเลี่ยงไม่แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งที่จะทำให้เกิดการโต้เถียง

จริงๆ แล้ว ยิ่งคณะกรรมาธิการชุดนี้มีข้อสรุปที่เด็ดขาดหนักแน่นเพียงใด ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายให้ใช้มาตรการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งบางมาตรการก็มีผลด้านการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีจากคาร์บอน มาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยบังคับ ไปจนถึงการลงทุนมหาศาลเพื่อแสวงหาพลังงานหมุนเวียน

ทว่า บ่อยครั้งเกินไปที่ในเนื้อหาในร่างรายงานได้เน้นย้ำถึงผลจากปัญหาโลกร้อนที่อาจเกิดขึ้น แต่ในรายงานฉบับสุดท้ายกลับลดน้ำเสียงแสดงความวิตกกังวลต่อปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ เจมส์ เลิฟล็อก นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษยังวิจารณ์ว่า การที่หลักฉันทามติเป็นกลไกควบคุมการดำเนินงานของไอพีซีซี ทำให้ตัวแทนของรัฐบาลเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญพยากรณ์อย่างตรงไปตรงมาแต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่อยากรับรู้

กำลังโหลดความคิดเห็น