xs
xsm
sm
md
lg

นิทานดาวเรื่องล่าสุด "ลูกกระต่ายอิงอิง" ฝีมือ นร.ม.4 สอนข้างขึ้น-ข้างแรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากคุณเคยประทับใจนิทานดาวตอน "ตำนานดวงอาทิตย์กับกระต่าย" ที่มี "น้องเอิร์ท" และ "คุณตาจันทร์" มาอาสาเล่าเรื่องราวดวงอาทิตย์ ล่าสุดผลการประกวดนิทานตอนใหม่ได้ประกาศผลและมอบรางวัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคร่าวนี้ลูกกระต่ายน้อย "อิงอิง" จะมาสอนเรื่องราวบนท้องฟ้าที่เราอาจจะไม่เคยใส่ใจอย่าง "ข้างขึ้น-ข้างแรม"

"ดวงจันทร์กับแม่ของอิงอิง" เป็นผลงานชนะเลิศการประกวดนิทานดาวที่จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) โดยผู้แต่งนิทานเรื่องดังกล่าวคือ นายถิรเดช เวชพันธุ์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนขามแก่นนคร จ.ขอนแก่น

ในนิทานมีเนื้อหาเกี่ยวกับลูกกระต่ายชื่อ "อิงอิง" ที่ซุกซนและชอบหนีพ่อ-แม่ไปเที่ยว จนวันหนึ่งอิงอิงเห็นดวงจันทร์สว่างสดใสจึงอยากออกไปเที่ยวข้างนอก แต่แม่เข้ามาพอดีและได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับข้างขึ้น-ข้างแรมให้ฟัง พร้อมทั้งเล่าประสบการณ์วัยเด็กที่เคยซุกซนของแม่ซึ่งได้หนีตาและยายของอิงอิงไปเที่ยวนอกบ้านในวันพระจันทร์เต็มดวง

แต่ทันใดนั้นดวงจันทร์ก็มืดลงเรื่อยๆ จนมืดสนิท ทำให้แม่ของอิงอิงตกใจและวิ่งหนีจนหลงป่าแทบเอาตัวไม่รอด โชคดีที่ตาและยายของอิงอิงออกมาตามหาและช่วยเหลือไว้ได้ อิงอิงได้ฟังดังนั้นก็สำนึกขึ้นได้และไม่ดื้อกับพ่อแม่อีก

"แรงบันดาลใจมาจากที่ผมเห็นว่าคนในปัจจุบันนี้ต้องดูปฏิทินจึงจะทราบว่าวันไหนเป็นข้างขึ้น-ข้างแรม ซึ่งตอนผมเด็กๆ แม่เคยสอนให้ดูดวงจันทร์ โดยเสี้ยวสว่างที่หันไปทางทิศตะวันตกเป็นข้างขึ้น ส่วนวันที่เสี้ยวสว่างหันไปทางทิศตะวันออกจะเป็นข้างแรม จึงอยากถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับเด็กๆ และอยากให้เด้กก่อนวัยเรียนได้รู้จักข้างขึ้น-ข้างแรม โดยอิงอิงถือเป็นตัวแทนของเด็กสมัยนี้ที่มักซุกซนและไม่เชื่อฟังพ่อแม่" ถิรเดชกล่าว

สำหรับนิทานของถิรเดชนั้น รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่านับเป็นนิทานดาวเรื่องที่ 3 ที่ทางสถาบันจะจัดทำเป็นแอนนิเมชัน 3 มิติและจัดทำเป็นหนังสือการ์ตูน ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการจัดทำ โดยมีเจ้าหน้าฝ่ายสารสนเทศเป็นผู้ดูแลและอาจจะจ้างเอกชนมาดูแลเรื่องการผลิต
ทั้งนี้นิทานดาว 2 เรื่องที่จัดทำแล้วคือตำนานดวงอาทิตย์กับกระต่ายที่เป็นตำนานของชาวอินเดียนแดง และอีกเรื่องคือ "ดวงอาทิตย์ที่รัก" ซึ่งเป็นงานเขียนของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยขั้นตอนสุดท้ายอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจาก ศ.ดร.ยงยุทธ

"เกณฑ์ในการพิจารณาครั้งนี้เรื่องจากเรื่องที่เหมาะสมกับเด็กก่อนวัยเรียนและมีเนื้อหาตรงตามหลักดาราศาสตร์ มีบางเรื่องที่เขียนดีมากแต่เป็นเนื้อหาที่เหมาะกับผู้ใหญ่จึงไม่ได้รางวัล แต่ก็อาจจะขออนุญาตนำเนื้อเรื่องมาจัดทำเป็นหนังสือการ์ตูน นับว่าการจัดทำแอนนิเมชันครั้งนี้เราให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย"

"ทั้งนี้งบประมาณที่ใช้ในการจัดทำอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นโดยเป็นงบในส่วนของการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ของทางสถาบันเอง สำหรับโครงงานนี้ก็นับเป็นโครงการนำร่องซึ่งอาจจะมีต่อไป" รศ.บุญรักษากล่าว

ส่วนรางวัลอันดับอื่นๆ นั้นได้แก่ "ดาวเคราะห์น้อยยอดนักสืบ" ผลงานของ นางมุกดา ปวงจักรทา อาจารย์โรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ "ความลับของดวงจันทร์" ผลงานของ น.ส.ปริณุต ไชยนิชย์ จาก จ.ปทุมธานี ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ

พร้อมกันนี้ ยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัลคือ "จันทรากับตุ๊กตากระต่าย" ผลงานของนายชิโณรส สุรางครัตน์ นักเรียน ม.ปลายโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และ "นกฮูกน้อยกับดวงจันทร์" ผลงานของ นายสมศักดิ์ สร้อยสนธิ์ อาจารย์โรงเรียนวชิรบารมีพิทยาคม จ.พิจิตร ทั้งนี้มีผู้ส่งนิทานเข้าประกวดทั้งหมด 106 เรื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น