นักวิจัยไทย-เยอรมันร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสเต็มเซลล์ เลขาฯ วช. เผยเมืองเบียร์เด่นเรื่องวัสดุยึดเกาะ ส่วนสเต็มเซลล์ของไทยก็ไม่ด้อย พร้อมร่วมมือกันทำวิจัยมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพองค์ความรู้ และต่อยอดสูการรักษาผู้ป่วยได้จริงในอนาคตโดยการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจากเซลล์อะไหล่
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สภาวิจัยแห่งชาติสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Deutsche Forschungsgemeinschaft, Federal Republic of Germany: DFG) จัดการประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (stem cell) เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมมือกันทำงานวิจัยด้านนี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย.50
ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. เป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมกับบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในประเทศไทย ซึ่ง ศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า งานวิจัยด้านสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาผู้ป่วยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันจะมีการนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้จริงบ้างแล้ว แต่ก็ยังต้องวิจัยกันต่อไปถึงยืนยันความปลอดภัยและผลการรักษาที่แน่ชัด รวมถึงมาตรฐานในการรักษา
“งานวิจัยพื้นฐานของสเต็มเซลล์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราต้องศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีววิทยาของสเต็มเซลล์และกลไกต่างๆ เพื่อที่จะต่อยอดสู่การนำมาใช้จริงทางการแพทย์ ตัวอย่าง การศึกษาในสัตว์บางชนิด เช่น ปลาดาว ฟองน้ำ ตัวนิวท์ และซาลาแมนเดอร์ ที่สามารถสร้างอวัยวะขึ้นมาทดแทนอวัยวะเดิมที่ถูกตัดขาดออกไปได้ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ทำให้เราเข้าใจว่าอวัยวะต่างๆ มีกำเนิดมาจากสเต็มเซลล์ และนำไปสู่รูปแบบของการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดในคนได้” ศ.ดร.อานนท์ กล่าวและเสริมว่าในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการศึกษาในด้านนี้มากนัก ขณะที่ต่างประเทศมีงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้มากมาย
“อย่างไรก็ดี ร่างกายของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่าสัตว์เหล่านั้นมาก สเต็มเซลล์ผ่านการพัฒนาจนกลายเป็นเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ไปแล้ว ขณะที่พวกปลาดาวหรือฟองน้ำมีความซับซ้อนน้อยกว่า เมื่อตัดขาดแล้วสามารถงอกเป็นตัวใหม่ได้ แต่หากเป็นคนก็คงต้องไปเกิดใหม่อย่างเดียวเลย”
เมื่อร่างกายของคนไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้เหมือนสัตว์บางชนิด จึงกลายเป็นที่มาของการพยายามรักษาด้วยสเต็มเซลล์ให้เจริญไปเป็นอวัยวะต่างๆ ในร่างกายที่ชำรุดเสียหาย ซึ่ง ศ.ดร.อานนท์ ก็บอกว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่มีอยู่ขณะนี้เป็นการรักษาที่ยังอยู่ในระดับวิจัย ผลที่ได้ก็น่าพอใจ เช่น การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น ส่วนการรักษาโรคอื่นๆ ก็กำลังวิจัยกันอยู่ และมีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่ก็ต้องเก็บข้อมูลผลการรักษาต่อไปอีก เพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานการรักษาในอนาคต
“ส่วนการสร้างวัสดุเกาะยึดสำหรับสเต็มเซลล์ ก็เป็นงานวิจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ขณะนี้ก็มีหลายสถาบันที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่ ทั้งในเรื่องการออกแบบโครงสร้าง วัสดุที่ใช้ได้โดยที่ไม่เป็นอันตรายกับร่างกาย และสามารถสลายตัวได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม ที่ศึกษากันอยู่ก็มีทั้งเส้นใยธรรมชาติอย่างคอลลาเจน และเส้นใยสังเคราะห์พวกพอลิเมอร์ชนิดต่างๆ” ศ.ดร.อานนท์ อธิบายและเสริมว่างานวิจัยของเยอมนีในด้านนี้ก้าวหน้ามาก และก็เป็นหนึ่งในโครงการที่จะร่วมกันวิจัย เพื่อพัฒนาไปสู่การรักษาแบบวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue engineering)
ศ.ดร.อานนท์ อธิบายว่า วิศวกรรมเนื้อเยื่อเสมือนเป็นอีกขั้นหนึ่งของการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ โดยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กับโครงร่างยึดเกาะเพื่อให้เจริญเป็นอวัยวะต่างๆ ก่อนนำไปผ่าตัดเปลี่ยนให้กับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายในต่างๆ ผิวหนัง หรือแขนขา ก็อาจเป็นไปได้ในอนาคต