บีบีซีนิวส์/ดิอินดิเพนเดนท์ - ยอดนักปั่น "แลนซ์ อาร์มสตรอง" บันดาลใจนักวิทย์มะกันทดลองสร้างหนูอึด "ซูเปอร์เมาส์" ร่างกายฟิตปั๋ง ให้วิ่งได้ไกลและนาน ทั้งยังอายุยืนกว่าหนูทั่วไป หวังปูทางพัฒนายารักษาผู้ป่วย และกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อนักกีฬาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
"แลนซ์ อาร์มสตรอง" (Lance Armstrong) ยอดนักปั่นจักรยานที่โลกต้องทึ่งในความสามารถ และความอึดของเขา จนคว้าแชมป์รายการตูร์ เดอ ฟรองซ์ (Tour de France ) 7 สมัยซ้อน (2542-2548) ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างฉงนในความอึดของร่างกายเขา จึงเป็นที่มาของการสร้าง "ซูเปอร์เมาส์" (supermouse) หนูอึดสุดๆ วิ่งติดต่อกัน 6 ชั่วโมงได้โดยไม่มีหยุดพัก แถมกินจุกว่าเป็น 2 เท่า แต่หุ่นยังฟิตปั๋ง
ศาสตราจารย์ริชาร์ด แฮนสัน (Richard Hanson) นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเซิร์ฟ (Case Western Reserve University) เมืองคลีฟแลนด์ (Cleveland) มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ รายงานลงในเจอร์นัลออฟไบโอโลจิคอลเคมิสทรี (Journal of Biological Chemistry: JBC) ว่า เขาและทีมงานได้สร้างหนูดัดแปลงพันธุกรรม เรียกว่า "ซูเปอร์เมาส์" ที่สามารถวิ่งได้ 6 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 20 เมตรต่อนาที เป็นเวลา 6 ชั่วโมงติดต่อกัน หรืออาจมากกว่านั้นได้โดยไม่หยุดพักเลยสักนิด
"การเผาผลาญพลังงานในเซลล์ของพวกมันเปรียบได้กับแลนซ์ อาร์มสตรอง ขณะปั่นจักรยานขึ้นเทือกเขาพีเรนีส (Pyrenees) โดยไม่หยุดพักเลยก็ว่าได้" ศ.แฮนสัน กล่าว
ทั้งนี้ เขาอธิบายว่า ซูเปอร์เมาส์ที่สร้างขึ้นนั้น ใช้กรดไขมัน (fatty acid) เป็นแหล่งพลังงาน ขณะเดียวกันพวกมันก็ไม่ต้องทรมานกับอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ อันเป็นผลมาจากกรดแลคติค (lactic acid) เพราะมีการสร้างสารนี้ออกมาเพียงน้อยนิดเท่านั้น
นอกจากนี้ บรรดาหนูที่ผ่านการดัดแปลงยีนทั้งสิ้นรวม 500 ตัว ต่างก็กินจุกว่าหนูปกติมากถึง 2 เท่า แต่พวกมันกลับไม่อ้วนพุงย้วย แค่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง ทั้งยังอายุยืนกว่าหนูปกติ โดยมีอายุราว 3 ปี ซึ่งหากเทียบกับคนก็ราว 80 ปี
โดยรวมแล้วพวกซูเปอร์เมาส์นี้แข็งแรงและแข็งขันกว่าหนูปกติถึง 10 เท่า รวมถึงมีการสืบพันธุ์ที่มากกว่าปกติด้วย
เหตุที่ซูเปอร์เมาส์แอ็กทีฟกว่าหนูทั่วไปก็เพราะว่า ศ.แฮนสันและทีมงาน ได้ดัดแปลงพันธุกรรมของหนูเหล่านี้ ด้วยการฉีดยีนควบคุมการสร้างเอนไซม์ "ฟอสโฟอีนอลไพรูเวต คาร์บอกซีไคเนส" (phosphoenolpyruvate carboxykinase: PEPCK-C) เข้าไปในตัวอ่อนของหนูเหล่านั้น ส่งผลให้มันเจริญเติบโตเป็น "ซูเปอร์เมาส์" ที่มีเอนไซม์ดังกล่าวในเซลล์กล้ามเนื้อมากกว่าปกติถึง 100 เท่า
ทั้งนี้ เอนไซม์ฟอสโฟอีนอลไพรูเวต คาร์บอกซีไคเนส เป็นเอนไซม์ที่มีอยู่ทั่วไปในร่างกาย แต่มีมากในตับ มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคส
อย่างไรก็ดี ศ.แฮนสัน กล่าวว่า แม้ในคนจะมีเอนไซม์นี้อยู่ด้วย แต่การทดลองนี้ก็ไม่ได้มีขึ้นเพื่อเปิดทางสู่การฉีดยีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณด้วย
หากแต่การทดลองดังกล่าวมีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกับบทบาทหน้าที่ของเอนไซม์ฟอสโฟอีนอลไพรูเวต คาร์บอกซีไคเนส ให้มากขึ้น เพื่อเป็นหนทางในการพัฒนายารักษาโรค ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเนื่องจากมีเสมหะเหนียวแห้ง (cystic fibrosis : CF) ตลอดจนช่วยส่งเสริมกล้ามเนื้อของนักกีฬาได้ในทำนองเดียวกัน