xs
xsm
sm
md
lg

พบโปรตีนพิเศษทำพวก "ซาลาแมนเดอร์" ขาขาดงอกใหม่ได้ หวังใช้บ้างในคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเยนซี/ไลฟ์ไซน์ - คนถูกตัดแขนขาดแล้วงอกขึ้นมาใหม่ได้ อาจไม่เป็นเพียงจินตนาการผ่านจอภาพยนตร์แล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบปริศนาว่าทำไมสัตว์เลื้อยคลานจำพวก "ซาลาแมนเดอร์" ที่เมื่อถูกตัดขาแล้วสามารถสร้างอวัยวะใหม่ขึ้นมาแทนที่ขาเดิมได้ ว่าที่แท้พวกเขามี "โปรตีน" พิเศษบางอย่าง

ทีมนักวิจัยของอังกฤษพบ "โปรตีน" ชนิดหนึ่งในตัวนิวท์ (newt) สัตว์จำพวกซาลาแมนเดอร์ (salamander) มีลักษณะคล้ายจิ้งจก อาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างอวัยวะขึ้นมาใหม่ทดแทนของเติมที่ถูกตัดขาดไป โดยหวังว่าจะช่วยชี้ทางการรักษาผู้ป่วยได้ในอนาคต พร้อมกันนี้ได้รายงานผลการวิจัยลงในวารสารไซน์ (Science)

เมื่อตัวนิวท์เกิดการบาดเจ็บจนขาขาด เส้นประสาทบริเวณรอบบาดแผลจะกระตุ้นให้มีการหลั่งโปรตีนที่เรียกว่า "เอ็นเอจี" (nAG) ซึ่งจะไปกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดในบริเวณดังกล่าวให้แบ่งตัว และเจริญเป็นเซลล์ "บลาสทีมา" (blastema) และจะพัฒนาต่อไปเป็นขาและนิ้วใหม่ที่มีลักษณะเหมือนของเดิม

"เชลล์เหล่านั้นจะแบ่งตัวและเจริญไปเป็นโครงสร้างใหม่ ที่เหมือนโครงสร้างแบบเดิมก่อนที่จะถูกตัดขาดออกไป ดังเช่นถ้าคุณตัดข้อมือ เซลล์พวกนั้นก็เจริญไปเป็นมือ ถ้าคุณตัดหัวไหล่ มันก็จะเจริญไปเป็นแขน" เจเรมี บรอคส์ (Jeremy Brockes) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London: UCL) หนึ่งในทีมวิจัยอธิบายให้เห็นภาพ

พวกเขาได้ทดลองศึกษาบทบาทของโปรตีนเอ็นเอจีโดยการตัดแขนข้างหนึ่งของตัวนิวท์ลายจุดสีแดง และตัดเส้นประสาทบริเวณนั้นให้ขาดจากกันด้วย ซึ่งทำให้สูญเสียประสาทที่จะกระตุ้นการสร้างโปรตีนเอ็นเอจี แล้วให้ชิ้นส่วนดีเอ็นเอขนาดเล็กที่มียีนของโปรตีนเอ็นเอจีแก่ตัวนิวท์

จากนั้นประมาณ 30-40 วัน ตัวนิวท์ก็มีขาและนิ้วใหม่งอกขึ้นมา แต่อาจมีขนาดเล็กกว่าของเดิมไปบ้าง ขณะที่ตัวนิวท์ที่ถูกตัดขาและเส้นประสาทเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับยีนของโปรตีนเอ็นเอจี ก็ไม่มีขาใหม่เกิดขึ้น 

ผลการทดลองนี้ยืนยังแน่ชัดว่า โปรตีนเอ็นเอจีมีหน้าที่สำคัญโดยตรงต่อเซลล์บลาสทีมา ที่จะเจริญไปเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใหม่แทนที่ของเดิมที่สูญเสียไป ซึ่งเป็นความหวังให้นักวิจัยค้นคว้าต่อไปในการหาทางรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีที่คล้ายกันนี้

อย่างไรก็ดี เดวิด สโตคัม (David Stocum) นักชีววิทยา มหาวิทยาลัยเพอร์ดิว (Purdue University) มลรัฐอินเดียนา สหรัฐฯ ที่มีผลงานเขียนในวารสารไซน์ แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าว แสดงความเห็นว่า งานวิจัยดังกล่าวนับเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ

แต่การที่จะทำให้คนที่แขนขาขาด แล้วงอกมาใหม่ได้เหมือนตัวนิวท์ นั่นหมายความว่าคนเราต้องมีโปรตีนเอ็นเอจีเพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์บลาสทีมาด้วยเช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น