เอพี/เอเยนซี/บีบีซีนิวส์ - นึกไม่ถึงว่าเจ้าแมวน้อย สัตว์เลี้ยงแสนรักของใครหลายคนมีดีเอ็นเอที่คล้ายกับคนเรามากมาย จนกลายเป็นต้นแบบในการศึกษาการเกิดโรคในมนุษย์และวิธีรักษา โดยเฉพาะโรคที่ทำให้ตาบอดและโรคเอดส์
วารสารจีโนมรีเสิร์ช (Genome Research) เผยแพร่งานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ถอดดีเอ็นของแมวเตรียมทำเป็นแผนที่จีโนมครั้งแรก และเป็นแผนที่จีโนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมลำดับที่ 7
การถอดดีเอ็นเอของแมวจะช่วยให้เข้าใจการเจ็บป่วยในแมวกว่า 200 รูปแบบ ซึ่งคล้ายคลึงกับโรคที่เกิดกับมนุษย์ อันนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ตาบอด โรคเอดส์
"ชินนามอน" (Cinnamon) แมวพันธุ์อะบิสซิเนียน (Abyssinian) เพศเมีย วัย 4 ปี จากห้องแล็บของมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) ในเมืองโคลัมเบีย มลรัฐมิสซูรี กลายเป็นแมวตัวแรกของโลกที่มีแผนที่จีโนม และจะเป็นต้นแบบให้นักวิจัยศึกษาการเกิดโรคต่างๆ ในแมวที่คล้ายกับโรคในคน
ที่สำคัญชินนามอนป่วยเป็นโรคเซลล์รับแสงที่จอประสาทตาเสื่อม (retinitis pigmentosa) ซึ่งส่งผลให้สูญเสียประสิทธิภาพในการมองเห็นและตาบอดในที่สุด โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้กว่า 1 ล้านคน ส่วนในสหรัฐฯ พบ 1 ใน 3,500 คน
สดีเฟน โอ’ไบรอัน (Stephen O'Brien) จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) สหรัฐอเมริกา หนึ่งในทีมวิจัย ให้สัมภาษณ์ว่า การศึกษายีนของแมวจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจการเกิดโรคดังกล่าวในคนมากขึ้น รวมไปถึงโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากไวรัสทั้งโรคเอดส์และมะเร็ง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคและวิธีรักษาในอนาคต
ทั้งนี้ เชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus: HIV) เป็นสาเหตุของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ (Aquired immunodeficiency syndrome: AIDS) ในคน ส่วนโรคนี้ที่เกิดในแมวมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอฟไอวี (Feline immunodeficiency virus: FIV) และการค้นพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมวที่เกิดจากเชื้อไวรัส (feline leukemia virus) เมื่อกว่า 40 ปีก่อน ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน
ขณะนี้ทีมวิจัยถอดดีเอ็นเอของชินนามอนไปแล้วราว 2 ใน 3 ของดีเอ็นเอทั้งหมด และคาดว่าจะเสร็จสิ้นเป็นแผนที่จีโนมได้ราวปีหน้า โดยแมวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมลำดับที่ 7 ที่ถูกเลือกมาถอดดีเอ็นทำเป็นแผนที่จีโนมต่อจากมนุษย์, ชิมแปนซี, หนูเม้าส์, หนูแรท, สุนัข และวัว
หลังจากศึกษาดีเอ็นเอของชินนามอน ทีมวิจัยพบว่าจีโนมของแมวก็คล้ายกับสัตว์อื่น ที่ประกอบไปด้วยชิ้นของดีเอ็นประมาณ 3 พันล้านชิ้นมาเรียงต่อกันเป็นจีโนม มียีนอยู่ประมาณ 20,000 กว่ายีน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนยีนของมนุษย์และสัตว์อื่นๆ
ทั้งนี้ คาดว่ายีนของแมวน่าจะมีประมาณ 95% ของยีนทั้งหมดของสัตว์ และยังมีรหัสพันธุกรรมมากมายในดีเอ็นเอไม่ได้เป็นส่วนที่แสดงลักษณะพันธุกรรม แต่ก็มีความสำคัญต่อการศึกษาด้านชีววิทยาและวิวัฒนาการอย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้น จีโนมของแมวมีความคล้ายคลึงกับจีโนมมนุษย์มากกว่าสัตว์อื่นๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น จีโนมเรียงสลับกันไปมามากกว่า จีโนมของแมวจึงเป็นต้นแบบในการศึกษาที่ดีมาก
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังคาดหวังว่าจะค้นพบยีนที่ทำให้แมวมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับคน ยีนที่ทำให้พวกมันเล่นกับเด็กๆ ได้โดยไม่คิดร้ายกับพวกเขา ทั้งที่แมวน่าจะเป็นหนึ่งในสัตว์ผู้ล่าที่ยอดเยี่ยม