xs
xsm
sm
md
lg

เป็นครอบครัวโนเบลได้ปีเดียว "คอร์นเบิร์ก" ผู้พ่อเสียชีวิตแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเยนซี - "อาร์เธอร์ คอร์นเบิร์ก" นักวิทย์โนเบลระดับตำนาน ผู้ค้นพบวิธีการสังเคราะห์ดีเอ็นเอในหลอดทดลอง และวางรากฐานงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมลาโลกแล้ว ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในวัย 89 ปี คล้อยหลังลูกชายที่เพิ่งได้รับโนเบลตามรอยเพียงปีเดียว แถมยังทิ้ง "เจิร์มสตอรีส์" หนังสือสำหรับเด็กวางขายกลางเดือนนี้

วงการวิทยาศาสตร์โลกสูญเสียอัจฉริยะบุคคลไปอีก 1 ราย กับการจากไปของ "ดร.อาร์เธอร์ คอร์นเบิร์ก" (Dr.Arthur Kornberg) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ประจำปี 2502 จากการค้นพบกระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ สารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และยังเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาด้านพันธุวิศวกรรมอันนำไปสู่การค้นพบยาและวิธีรักษาโรคต่างๆ มากมายในเวลาต่อมา

คอร์นเบิร์กเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยวัย 89 ปี ขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University Hospital) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ

"ดร.คอร์นเบิร์ก นับว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ของวงการแพทย์อเมริกันเลยทีเดียว สิ่งที่เขาศึกษาค้นคว้าและค้นพบนั้นก็ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดในงานวิจัยเรื่อยมาจนกระทั่งเขาอำลาโลกนี้ไปอย่างสงบ" ดร.ฟิลิป ปิซโซ (Dr.Philip Pizzo) คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แสตนฟอร์ด (Stanford University School of Medicine) กล่าวถึงศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีผู้ล่วงลับอย่างเลื่อมใส

"คอร์นเบิร์ก" เกิดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2461 ที่เมืองบรูคลิน นิวยอร์กซิตี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเคมีและชีววิทยาจากซิตีคอลเลจออฟนิวยอร์ก (City College of New York) ในปี 2480 และในปี 2484 สำเร็จการศึกษาสาขาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ (University of Rochester)

หลังจากนั้นคอร์นเบิร์กก็ทำงานวิจัยและงานด้านสาธารณสุขเรื่อยมา กระทั่งปี 2502 จึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ จากการค้นพบวิธีการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต โดยรับรางวัลร่วมกับ ดร.เซเบโร โอโชอา (Dr. Severo Ochoa) นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ เชื้อสายสเปน ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้วเมื่อปี 2536 ซึ่งได้รางวัลจากการค้นพบวิธีการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอ (RNA)

ทั้งนี้ นักวิทย์ทั้ง 2 คน ยังค้นพบเอนไซม์ "ดีเอ็นเอพอลิเมอเรส" (DNA polymerase) ที่มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมในเซลล์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านพันธุวิศวกรรมในเวลาต่อมาอย่างยิ่ง ส่งผลให้เกิดการค้นพบยามากมายที่ใช้รักษามะเร็งและโรคที่เกิดจากไวรัส

นอกจากนี้ คอร์นเบิร์กยังมีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดีเอ็นเอและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงหนังสือเด็กอย่าง "เจิร์มสตอรีส์" (Germ Stories) ซึ่งเป็นผลงานเล่มสุดท้ายของเขาที่กำลังจะวางจำหน่ายวันที่ 15 พ.ย. ที่จะถึงนี้

ที่สำคัญ สายเลือดนักวิทย์ศาสตร์อันเข้มข้นของคอร์นเบิร์กยังถ่ายทอดมาสู่ลูกชายของเขา โรเจอร์ คอร์นเบิร์ก (Roger Kornberg) ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปี 2549 จากการศึกษาโมเลกุลพื้นฐานในการถอดแบบของยูเคริโอต (eukaryotic transcription) ทำให้เข้าใจกระบวนการเก็บข้อมูลและคัดลอกข้อมูลพันธุกรรมอย่างชัดเจน

น่าเสียดายที่คอร์นเบิร์กผู้พ่อ อยู่ชื่นชมลูกชาย และร่วมเป็นคู่พ่อลูกแห่งโนเบลได้เพียงปีเดียว ก็ต้องจากโลกไปเสียแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น