xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรหากพบ “ฟอสซิล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟอสซิลไดโนเสาร์ ที -เร็กซ์ ซู ฉากหลังของการบรรยายพิเศษ ซึ่งมาจากสหรัฐอเมริกา โดยได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการขุดค้นมาในโลก และเวลานี้ได้ขยายเวลาจัดแสดงที่ อพวช.ไปถึงวันเด็กแห่งชาติ 13 ม.ค.2551 แล้ว
ไม่ง่ายเลยที่ใครจะบังเอิญไปพบ “ซากฟอสซิล” เข้า แต่ประเทศไทยของเราก็ใช่ว่าจะหายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางถิ่นอีสานและภาคเหนือ หากเจอะเจอกับซากดึกดำบรรพ์เข้าจริงๆ จะทำอย่างไร? ผู้เชี่ยวชาญมีคำตอบ!!

"ในประเทศไทยมีการขุดพบซากฟอสซิลอยู่มากมายเช่นกัน ไม่แพ้การค้นพบในต่างประเทศเลยทีเดียว" คำบอกเล่าของ ดร.วราวุธ สุธีธร ผอ.สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ย้ำถึงโอกาสค้นพบซากโบราณใน โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

ขณะที่ที่ราบลุ่มภาคกลางจะเป็นแผ่นดินเกิดใหม่ที่เคยเป็นทะเลมาก่อน จึงไม่มีทางค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ซึ่งมีอายุอยู่ในยุคมีโสโซอิกเมื่อ 225 -65 ล้านปีก่อนอย่างแน่นอน

ตัวอย่างไดโนเสาร์ที่ค้นพบในประเทศไทย เช่น ไดโนเสาร์ซอโรพอด ภูเวียงโกซอรัส สิริธรเน่ ไดโนเสาร์กินเนื้อ สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส ซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดของไทรันโนซอรัส –เร็กซ์จากอเมริกา และไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ

ส่วนการค้นพบอื่นๆ เช่น ไดโนเสาร์ซอโรพอดที่เก่าแก่ที่สุด อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี การค้นพบแหล่งฟอสซิลปลาโบราณ เลปิโดเทส พุทธบุตรเอนซิส ชนิดใหม่จำนวนกว่า 300 ตัวอย่างที่แหล่งภูน้ำจั้น และการค้นพบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดในภาคใต้และภาคเหนือ ฯลฯ

“แต่หากมีใครบังเอิญไปพบซากฟอสซิลเข้าล่ะจะทำอย่างไรได้บ้าง?” เสียงจากผู้ฟังการบรรยายเอ่ยถาม

ดร.วราวุธ จึงหันไปตอบอย่างอารมณ์ดีว่า แน่นอนว่าควรจะต้องติดต่อไปยังกรมทรัพยากรธรณี หน่วยงานหลักซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาจัดการตามหลักวิธีอย่างถูกต้องจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

แต่ก่อนที่จะยกหูโทรศัพท์ต่อสายไปยังกรมทรัพยากรธรณีนั้น ผู้พบซากโบราณเองก็ต้องมั่นใจระดับหนึ่งก่อนว่า สิ่งที่ค้นพบนั้นๆ จะมีโอกาสเป็นซากดึกดำบรรพ์จริง

สำหรับเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่าซากที่พบเป็นซากฟอสซิลจริงหรือไม่? ดร.วราวุธ เผยว่า ขั้นแรกให้ดูที่จุดที่ค้นพบก่อนว่าเป็นจุดใดของประเทศ หากเป็นการค้นพบในภาคกลางก็ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างที่กล่าวถึงข้างต้น ดังนั้นหากขุดพบซากกระดูกขนาดใหญ่ก็บอกได้เลยว่ากว่า 60% จะเป็นกระดูกของช้างหรือแม้กระทั่งกระดูกของวาฬ
 
แต่ถ้าเป็นการค้นพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือก็ย่อมจะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งจากเกณฑ์ข้อนี้ก็ทำให้พิจารณาได้ว่าเป็นซากฟอสซิลจริงหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ไปศึกษาด้วยตัวเองเลย

ขณะที่ชนิดของหินที่คาดว่าจะมีซากฟอสซิลฝังอยู่ก็เป็นเกณฑ์การพิจารณาง่ายๆ ได้เช่นกัน ซึ่งซากฟอสซิลส่วนมากในประเทศไทยจะกลายเป็นหินไปทั้งหมด โดยหินที่มีซากฟอสซิลซุกซ่อนอยู่จะเป็นหินตะกอนเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ยังเก็บรักษาซากโบราณไว้ได้
 
ส่วนหินชนิดอื่นๆ อย่างหินอัคนีที่มีกำเนิดมาจากลาวาจะไม่มีทางเก็บรักษาซากโบราณไว้ได้ เพราะอุณหภูมิที่สูงมากจนหลอมละลายเหล็กกล้าได้ หรือแม้แต่เถ้าฝุ่นภูเขาไฟก็ยังมีอุณหภูมินับร้อยองศาเซลเซียส ซากสิ่งมีชีวิตจึงไม่อาจหลงเหลืออยู่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในขั้นต่อมา ผู้ค้นพบจำเป็นต้องมีความรู้จากการศึกษาเรื่องรูปร่างและลักษณะของกระดูกไว้บ้างระดับหนึ่งก่อนจึงจะพอทราบได้ว่าค้นพบจริงหรือไม่ ซึ่งกระดูกของสัตว์แต่ละชนิดจะมีรูปร่างเฉพาะของมัน ที่แม้แต่การแตกลายงาก็จะมีแบบฉบับเฉพาะของตัวเอง

ทั้งนี้ เมื่อค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าซากที่ค้นพบเป็นซากฟอสซิลจริง จึงควรติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่มีความชำนาญในการขุดซากโบราณตามหลักวิธีที่ไม่ควรขุดซากโบราณเอง รวมถึงการเก็บรวบรวมชิ้นส่วนที่ค้นพบอย่างพิถีพิถัน ที่ต้องเก็บข้อมูลให้ได้ว่า พบชิ้นส่วนชิ้นใด ณ ที่ใดหรือส่วนไหนของชั้นหิน หรือการเชื่อมโยงกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้เป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่ขึ้นได้หรือไม่

แต่ก็ใช่ว่าเมื่อขุดพบแล้ว ซากฟอสซิลจะเป็นสมบัติของผู้ขุดพบ ดร.วราวุธ อธิบายเพิ่มว่า กติกาข้อหนึ่งที่ผู้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในประเทศจำเป็นต้องรู้ และตัวเองก็มักจะบอกแก่ทีมขุดค้นที่ทำงานด้วยเสมอๆ คือ ซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบถือเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ไม่ใช่ของผู้พบเจอ และผู้ค้นพบต้องไม่เก็บไว้เป็นการส่วนตัว และควรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

นอกจากนั้น ภายในรัฐบาลสมัยนี้ยังน่าจะมีการประกาศกฎหมายคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์นี้ออกใช้ เพื่อประโยชน์ในการขุดค้นและเก็บรักษาซากฟอสซิลที่สำคัญและหายากของประเทศต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ดร.วราวุธ ได้ให้ข้อมูลเหล่านี้ ระหว่างการบรรยายพิเศษในโครงการนำร่องกิจกรรมยามค่ำสำหรับครอบครัวเป็นครั้งแรก ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายและอบอุ่นในวันหยุดของครอบครัว ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา
ดร.วราวุธ สุธีธร ปรมาจารย์ด้านการขุดค้นซากฟอสซิลของไทย
หลากครอบครัวที่มาเยี่ยมชมองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ ร่วมฟังบรรยายอย่างสนอกสนใจ แม้เวลาจะค่อนข้างค่ำ
ซุ้มกิจกรรมสารพัดเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ทีเร็กซ์ -ซู จากสหรัฐอเมริกา และไดโนเสาร์ไทย ให้ความรู้เจ้าตัวเล็กอย่างน่าสนุกสนาน
หัวกะโหลกจำลองของ ที -เร็กซ์ ซู
วิทยากรพิเศษ เล่าเรื่องราวอย่างมีความสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น