xs
xsm
sm
md
lg

ไร่กฤษณาแห่งแรกในโลก สร้างน้ำมันหอมได้ไม่ทำลายธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพราะกลิ่นหอมของเนื้อไม้เป็นที่นิยมในตลาดโลก ทำให้มีการลักลอบตัดไม้กฤษณา เพื่อนำมากลั่นแยกน้ำมันหอมที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในธรรมชาติส่งขายในตลาดมืด และเมื่อนักวิทยาศาสตร์มีวิสัยทัศน์ตรงกับนักลงนักลงทุน  จึงเกิดเป็นธุรกิจไม้กฤษณาแบบปลูกป่าจัดการแห่งแรกของโลก ที่สร้างมูลค่าจากไม้กฤษณาได้โดยไม่ต้องทำลายธรรมชาติ

ไม้กฤษณา (Agarwood) หรือที่คนท้องถิ่นในประเทศไทยเรียกกันว่า ไม้หอม เป็นไม้พื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความหอมของไม้กฤษณาฟุ้งไกลไปทั่วโลก โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง ทว่าน้ำมันกฤษณาแต่ละหยดที่ถูกกลั่นแยกออกมา เป็นเวลาเดียวกับที่ไม้กฤษณาแต่ละต้นกำลังหายไปจากป่า

ศ.ดร.โรเบิร์ต เอ บลันเชตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาไม้ จากภาควิชาโรคพืช ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ มินเนโซตา และทีมงานได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อหาวิธีอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากทั่วโลกไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือ ไม้กฤษณา ที่เคยมีมากมายในประเทศไทย

ทีมวิจัยสามารถคิดค้นวิธีกระตุ้นให้ไม้กฤษณาสร้างสารที่มีกลิ่นหอม เรียกว่า "ยางเรซิน" ได้ปริมาณมากเป็นผลสำเร็จและได้จดสิทธิบัตรวิธีการดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2544 หลังจากที่ใช้เวลาค้นคว้ามานานถึง 12 ปี

ศ.ดร.บลันเชตต์ เล่าว่า เริ่มแรกของการวิจัยไม้กฤษณา เขาและทีมงานได้เดินทางมาศึกษาชีววิทยาของไม้กฤษณาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย และเก็บตัวอย่างไปศึกษาในห้องแล็บ พบว่ายางเรซินจะเกิดขึ้นบริเวณรอบท่อลำเลียงอาหาร (phloem) และพบจุลินทรีย์บางชนิดอยู่ในเรซินด้วย จึงนำมาผลิตเป็นชุดกระตุ้นให้ไม้กฤษณาสร้างเรซินได้มากขึ้น

โดยธรรมชาติ ไม้กฤษณาจะสร้างยางเรซินขึ้นมารักษาบาดแผลเมื่อต้นไม้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกแมลงและสัตว์ต่างๆ กัดแทะ หรือถูกฟัน เป็นต้น ซึ่งแต่ละต้นก็จะได้รับบาดเจ็บและสร้างเรซินมากน้อยต่างกันไป และหากตลอดช่วงชีวิตของกฤษณาไม่เคยได้รับบาดเจ็บ ก็จะไม่มีการสร้างยางเรซินเลย

วิธีการและชุดกระตุ้นให้ไม้กฤษณาสร้างเรซินที่มาจากการวิจัยของ ศ.ดร.โรเบิร์ต ประกอบด้วย หลอดพลาสติก แคปซูลบรรจุสารชีวภาพ ซึ่ง ศ.ดร.บลันเชตต์ อธิบายหลักการว่า ต้องเจาะรูเข้าไปในเนื้อไม้และใส่หลอดพลาสติกเข้าไปเพื่อไม่ให้บาดแผลปิดสนิทและให้น้ำและออกซิเจนผ่านเข้าไปได้

จากนั้นใส่แคปซูลสารชีวภาพเข้าไปแล้วทำให้แตก ซึ่งสารชีวภาพนี้มีจุลินทรีย์ผสมอยู่ด้วย จะทำให้บาดแผลไม่หาย ส่งผลให้ไม้กฤษณารู้สึกว่าบาดเจ็บอยู่ตลอดเวลา จึงต้องสร้างเรซินเพื่อรักษาแผลตลอดเวลาเช่นกัน

นายกิตติภพ จารุสิงห์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ทัชวู๊ด ฟอร์เรสตรี้ จำกัด ให้ข้อมูลว่า ไม้กฤษณาในธรรมชาติจะสร้างเรซินได้น้อยมาก จะสร้างเรซินขึ้นมาเพื่อรักษาบาดแผล เมื่อบาดแผลหายก็หยุดสร้าง เฉลี่ยแล้วแต่ละต้นมักมีการสร้างเรซินไม่เกิน 5% ของเนื้อไม้ ทำนองเดียวกับหากมีไม้กฤษณาอยู่ 100 ต้น จะได้เรซินแค่ 5 ต้น

“การตอกตะปูเป็นวิธีทั่วไปที่เขาใช้กระตุ้นให้ไม้กฤษณาสร้างเรซินได้มากกว่าปกติ แต่หากตอกมากเกินไปก็อาจทำให้ต้นไม้บาดเจ็บมากจนตายได้เช่นกัน” นายกิตติภพ กล่าว ซึ่งกฤษณาเป็นไม้เนื้ออ่อนและน้ำหนักเบา เนื้อไม้ปกติมีสีขาวนวล แต่เมื่อเกิดบาดแผลและมีการสร้างเรซิน ส่วนที่เป็นเรซินนั้นจะมีสีน้ำตาลหรือดำปรากฏในเนื้อไม้ ความหนาและความเข้มขึ้นอยู่กับปริมาณของเรซิน

นายกิตติภพ อธิบายว่า ทางทัชวู๊ดได้นำเทคนิคของ ศ.ดร.บลันเชตต์ มาใช้กระตุ้นให้ไม้กฤษณาสร้างเรซิน โดยการเจาะรู ใส่หลอดพลาสติก และสารชีวภาพ เมื่อต้นกฤษณาอายุได้ 4 ปี ในลักษณะเวียนเป็นขั้นบันไดตั้งแต่โคนต้นจนถึงกิ่งล่างสุด

จากนั้นอีก 2 ปี จึงตัดต้นกฤษณาเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตยางเรซิน เฉลี่ยแล้ววิธีนี้กฤษณาจะให้เรซินประมาณ 85% โดยใช้เวลาปลูกเพียง 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าที่สุด และเมื่อเทียบกับไม้กฤษณาตามธรรมชาติที่อาจต้องรอถึง 15 ปี กว่าจะได้เรซินเพียง 5%

“ยางเรซินหรือส่วนที่เรียกว่าไม้ดำจะถูกแยกออกจากเนื้อไม้และขายได้เลย ส่วนเนื้อไม้ที่เหลือจะต้องนำไปสกัดแยกเอาน้ำมันกฤษณาที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยเนื้อไม้ 10 กิโลกรัมจะได้น้ำมันกฤษณาประมาณ 1 โตลา หรือ 12.5 ซีซี” นายกิตติภพเผย

ทั้งนี้ ตลาดของผลิตภัณฑ์จากกฤษณาเป็นที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งชาวอิสลามนำไปใช้ในพิธีทางศาสนา และใช้เป็นน้ำหอม โดยกลิ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือกลิ่นที่ได้จากกฤษณาพันธุ์เขาใหญ่ (crassna) ของประเทศไทย ยางเรซินมีราคาขายประมาณกิโลกรัมละ 15,000 บาท ส่วนน้ำมันกฤษณามีราคาประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อ 1 โตลา

อย่างไรก็ดี เรซินและน้ำมันกฤษณาที่ขายอยู่ในขณะนี้ โดยมากมาจากการลักลอบตัดไม้กฤษณาจากป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเหตุให้ไม้กฤษณาในธรรมชาติมีปริมาณลดลงทุกขณะ

ทั้งนี้ เดิมทีทัชวู๊ดเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปลูกป่าจัดการอยู่ในประเทศออสเตรเลียและศรีลังกาตั้งแต่ปี 2542 ได้แก่ มะฮอกกานี วานิลลา จันทร์หอม เป็นต้น เมื่อตัดไม้ต้นเก่าไปก็จะปลูกต้นใหม่ขึ้นมาแทนที่

ส่วนในประเทศไทยเพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2547 โดยเลือกปลูกไม้กฤษณา เพราะเป็นไม้พื้นเมืองที่หายากและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จึงต้องการอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์

ไร่ไม้กฤษณาของทัชวู๊ดอยู่ในเขต จ.ปราจีนบุรี ทั้งหมดมี 4 แปลง รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจและเป็นเจ้าของไม้กฤษณาได้โดยไม่จำเป็นต้องมีที่ดินและเพาะปลูกไม้กฤษณาเอง

ปลายปีนี้ทัชวู๊ดจะเริ่มสร้างโรงกลั่นน้ำมันกฤษณาแห่งแรก และปี 2551 จะเริ่มกระตุ้นไม้กฤษณาชุดแรกให้สร้างเรซินตามเทคนิคของ ศ.ดร.บลันเชตต์นับได้ว่านี่เป็นธุรกิจปลูกป่าจัดการไม้กฤษณาแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก ที่สร้างมูลค่าจากไม้ และได้ป่าเพิ่มมากขึ้น






เจ้าหน้าที่กำลังแซะไม้กฤษณาเพื่อแยกส่วนที่เป็นไม้ดำกับเนื้อไม้สีขาวออกจากกัน โดยไม้ดำหรือเรซินสามารถนำไปเผาไฟเพื่อให้กลิ่นเหมือนกำยาน ส่วนเนื้อไม้สีขาวต้องไปผ่านกระบวนการกลั่นให้ได้น้ำมันกฤษณา (ภาพจาก โอเค แมส)

กำลังโหลดความคิดเห็น