xs
xsm
sm
md
lg

ชาติเอเปกถกมาตรฐานไบโอดีเซล เลิกอิงมาตรวัดสหรัฐฯ-ยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมมาตรฐานไบโอดีเซลใน 16 ประเทศเอเปก หวังให้ไบโอดีเซลชาติแถบแปซิฟิกเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ไม่ต้องอิงมาตรฐานสหรัฐฯ-ยุโรป ผู้บริหาร วว. บ่นเสียดายไทยพูดถึงไบโอดีเซลก่อนใครในภูมิภาค แต่กลับมีความก้าวหน้าช้าที่สุด ปล่อยมาเลย์และประเทศอื่นๆ แซงไปหมดแล้ว ด้าน รมต.พลังงาน แย้มแผน 1 เม.ย.ปีหน้าผลักดันใช้บี 2 อย่างกว้างขวาง พร้อมขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่ม เสริมยอดไบโอดีเซลอีก 2.5-3 ล้านลิตร/วัน

“ไบโอดีเซล” คือแหล่งพลังงานทางเลือกที่ทุกภาคส่วนต่างหมายมั่นปั้นมืออย่างไร้ข้อกังขา ยิ่งกับสมัยที่น้ำมันแพงด้วยแล้ว แม้อยากจะใช้เต็มที่ แต่มาตรฐานไบโอดีเซลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ยังกระจัดกระจายเกินไป จนบรรดาค่ายรถยนต์ทั้งจากยุโรปและญี่ปุ่นมิอาจรับรองมาตรฐานไบโอดีเซลใดๆ ที่จะใช้กับเครื่องยนต์ของตัวเองได้

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไต้หวัน จัดประชุมโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนของภูมิภาคเอเซียเปซิฟิกในศตวรรษที่ 21 : การสร้างแนวทางการพัฒนามาตรฐานไบโอดีเซลในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกขึ้น ระหว่างวันที่ 25 –26 ต.ค. ณ โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ เพื่อสร้างแนวทางพัฒนามาตรฐานไบโอดีเซล และยกระดับการค้าไบโอดีเซลในกลุ่มสมาชิกของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก (เอเปก)

น.ส.พิศมัย เจนวนิชปัญจกุล รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว.กล่าวว่า ปัจจุบัน กลุ่มประเทศเอเปกยังไม่มีการจัดทำมาตรฐานไบโอดีเซลร่วมกัน แต่ละประเทศก็จะมีมาตรฐานเป็นของตัวเอง โดยอ้างอิงอยู่กับพืชวัตถุดิบที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยและมาเลเซียจะใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบหลัก ฟิลิปปินส์ใช้น้ำมันมะพร้าว เกาหลีและสหรัฐอเมริกาใช้น้ำมันถั่วเหลือง และแคนาดาใช้น้ำมันคาโนลาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องติดต่อกับเวทีการค้าระดับสากล หรือนำไปใช้กับยานยนต์แล้ว ชาติต่างๆ กลับจะต้องอ้างอิงกับมาตรฐานไบโอดีเซลของสหรัฐอเมริกาและของยุโรป ที่ได้รับการยอมรับจากสากลแล้วเป็นหลัก

ทว่ามาตรฐานนั้นๆ ก็ไม่สามารถปรับใช้กับการสอบเทียบมาตรฐานไบโอดีเซลของกลุ่มประเทศเอเปกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมาตรฐานดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานของพืชวัตถุดิบและสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ชาติสมาชิกเอเปกจึงต้องจัดทำมาตรฐานไบโอดีเซลเป็นของตัวเองขึ้น

กลไกที่ใช้คือ การหารือร่วมกับระหว่างหน่วยราชการ บริษัทน้ำมันปิโตรเลียม ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตไบโอดีเซลจากชาติสมาชิกต่างๆ 16 ชาติ ซึ่งเป็นโครงการระยะ 2 ปี โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสนับสนุนเอเปก 2550 และจะต้องหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ก่อนสิ้นปีหน้า” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว.กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุม ชาติสมาชิกได้ร่วมกันศึกษาข้อมูลเอกสารและการทดลองในกิจกรรมต่างๆ ที่จะนำไปสู่การจัดทำมาตรฐานร่วมกันระดับหนึ่งแล้ว ทั้งเรื่องพืชวัตถุดิบ มาตรฐานไบโอดีเซลของแต่ละประเทศ ผลการใช้งานต่อเครื่องยนต์ และมลพิษที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนการศึกษาสารเติมแต่งและสารป้องกันการเกิดออกซิเดชันที่จำเป็น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะได้นำมาหารือและทบทวนระหว่างการประชุมด้วย

ตอนนี้ น้ำมันไบโอดีเซลบี 5 ที่ใช้งานก็พบว่าไม่มีผลใดๆ ต่อเครื่องยนต์ ก็ถือว่าใช้งานได้ แต่จะให้มากถึงไบโอดีเซลบี 20 ได้หรือไม่ก็ต้องศึกษากันต่อไป ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์แล้วก็จบ แต่เราก็ไม่อยากเห็นว่าเรื่องมาตรฐานนี้จะเป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้า” น.ส.พิศมัย กล่าวและว่ายังรู้สึกเสียดายที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่พูดถึงเรื่องไบโอดีเซลก่อนใคร แต่กลับมีความก้าวหน้าช้าที่สุด ขณะที่มาเลเซียและประเทศอื่นๆ ได้นำหน้าไทยไปหมดแล้ว

สิ่งที่ประเทศไทยทำได้คือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไบโอดีเซลทุกช่องทาง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปสนับสนุนไบโอดีเซลจากวัตถุดิบแต่ละประเภทว่าดีหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะกับพืชวัตถุดิบที่ไทยมีศักยภาพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะใช้ยืนยันกับชาติสมาชิกเอเปกได้ โดยไม่ใช้เพียงความรู้สึกมาตัดสินเท่านั้น

ส่วนนโยบายด้านไบโอดีเซลในประเทศนั้น ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน ประธานเปิดการประชุม เสริมว่า ในวันที่ 1 เม.ย. 51 กระทรวงพลังงานจะผลักดันให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 2 อย่างกว้างขวาง คาดว่าจะทำให้เกิดความต้องการน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 ปริมาณ 1.2 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันไบโอดีเซลบี 3 อีก 1.7 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่มีการใช้งานน้ำมันไบโอดีเซลบี 5 แล้วเฉลี่ยวันละ 2 ล้านลิตร หรือ 4 % ของความต้องการน้ำมันทั้งหมดในประเทศ

แต่การขยายการใช้งานไบโอดีเซลของไทยก็ยังมีปัญหา ที่จะต้องขยายพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตไบโอดีเซลเพิ่ม 2.5 –3 ล้านลิตร/วัน” รมว.พลังงาน ทิ้งท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น