xs
xsm
sm
md
lg

"แว่นตานาโน" จับคราบอาชญากรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามปกติสายตาคนเราจะมองไม่เห็นร่องรอยที่คนร้ายทิ้งไว้ แต่หลักฐานเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการค้นหาเท่านั้น เดิมทีนักนิติวิทยาศาสตร์ที่รุดตรวจสอบที่เกิดเหตุต้องใช้แว่นตาถึง 3 สี เพื่อหาคราบต่างๆ ที่หลงเหลือ อาทิ อสุจิ น้ำลาย ลายนิ้วมือหรือเส้นใยเสื้อผ้า แต่ตอนนี้นักวิจัยไทยสามารถพัฒนาแว่นตาที่มองคราบเหล่านั้นได้ด้วยแว่นตาเพียงหนึ่งเดียว

รศ.ดร.จิติ หนูแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัยนาโนคริสตัล สำนักวิจัยนาโนเทคโนโลยีนาโนเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้พัฒนาแว่นตาที่ช่วยในการหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งจะทำให้มองเห็นคราบต่างๆ อาทิ อสุจิ น้ำลาย ลายนิ้วมือหรือแม้แต่เส้นใยผ้าได้เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแหล่งกำเนิดแสงที่ให้ความยาวคลื่นหลายย่าน (Forensic Light Source)

ทั้งนี้ โดยปกติเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุ จะต้องใช้แว่นตาถึง 3 สี คือ แดง ส้มและเหลืองสลับกันเพื่อให้มองเห็นคราบเหล่านั้นได้ชัดที่สุด แต่แว่นตาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมานี้สามารถมองเห็นร่องรอยของสารคัดหลั่งได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนความยาวคลื่นของแหล่งกำเนิดแสงและไม่ต้องเปลี่ยนแว่น

"แว่นตานี้ช่วยกรองแสงได้หลายย่าน โดยการพัฒนาได้ใช้สารเพียงชนิดเดียวแต่ปรับสัดส่วนของออกซิเจนและไนโตรเจนทำให้" รศ.ดร.จิติกล่าวถึงคุณสมบัติของแว่น ทั้งนี้แว่นดังกล่าวใช้ผลึกนาโนของอินเดียมออกซิไนไตรด์ (Indium Oxynitride) ซึ่งเป็นสารประกอบออกซิเจนและไนโตรเจนของอินเดียมที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตรเคลือบลงบนแผ่นกระจกด้วยเทคนิค "รีแอคทีฟ ก๊าซ-ไทมมิง" (Reactive gas-timing) ด้วยเครื่องอาร์เอฟ แมกนิตรอน สปัตเตอริง (RF Magnetron Sputtering) ที่สามารถเคลือบแว่นตาได้ภายในขั้นตอนเดียว นับเป็นกระบวนการเคลือบแว่นตาและสารตัวใหม่ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นและได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วทั้งในไทยและสหรัฐอเมริกา

รศ.ดร.จิติกล่าวว่าแว่นตาที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยกรองแสงในย่านรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีซึ่งเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ใช้ในการกระตุ้นให้สารคัดหลั่งในที่เกิดเหตุเรืองแสง และทำให้มองเห็นร่องรอยของสารโปรตีนที่หลงเหลืออยู่

ทั้งนี้จะได้ประดิษฐ์แว่นตานี้เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์นำไปใช้ปฏิบัติหน้าที่จำนวน 10-20 อัน นอกจากนี้ยังพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเคลือบแว่นตาให้กับอุตสาหกรรมแว่นที่มีเครื่องสปัตเตอริงด้วย แต่เท่าที่ทราบโรงงานผลิตแว่นตาในไทยยังไม่มีเครื่องดังกลาว

พร้อมกันนี้นักวิจัยจากลาดกระบังได้เผยว่าแว่นตาที่นำมาใช้งานนิติวิทยาศาสตร์นี้เป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ โดยยังสามารถประยุกต์ใช้ในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุตรวจจับแสงได้ด้วย

"ตอนนี้ยังผลิตได้อยู่ในระดับห้องปฏิบัติการโดยมีกำลังผลิตอยู่ที่วันละ 10 คู่ (เลนส์แว่นตา) ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมเคลือบเลนส์ที่มีเครืองสปัตเตอริงและสนใจกระบวนการเคลือบนี้ที่ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก เราก็สามารถเข้าไปเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้เลย แต่ในไทยยังไม่มีเครืองดังกล่าว" รศ.ดร.จิติเผย

ทางด้าน พ.ต.ท.สมชาย เฉลิมสุขสันต์ หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เผยว่าได้ทดลองใช้แว่นตาที่ รศ.ดร.จิติพัฒนาขึ้นมาแล้วซึ่งทำให้ไม่เปลี่ยนแว่นตาหลายอันและไม่ต้องปรับความยาวคลื่นของเครื่องกำเนิดแสงเนื่องจากแว่นตาใหม่นี้ช่วยกรองแสงได้ในหลายย่านความถี่ และแว่นตาจำนวน 10 กว่าอันก็เพียงพอสำหรับการใช้งานเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องใช้เมื่อรุดไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ




กำลังโหลดความคิดเห็น