อดีต ผอ.สำนักงานอวกาศฯ เผยสังคมไทยยังมองเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว ทำได้แต่เป็นผู้ใช้งาน แถมยังไม่มีหน่วยงานพัฒนา –เชื่อมโยงพันธกิจด้านอวกาศอย่างจริงจัง วอนผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ จัดแจงรวมกำลังพล ยกอินเดียเป็นตัวอย่าง “รัฐพัฒนา –เอกชนนำไปใช้”
เมื่อช่วงสายวันที่ 20 ต.ค. ในรายการ “ทันโลกวิทยาศาสตร์” ทางคลื่นสถานีวิทยุจุฬาฯ เอฟเอ็ม 101.5 เมกะเฮิร์ซ ดำเนินรายการโดย ผศ.มานิต รุจิวโรดม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการสัมภาษณ์พิเศษ ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ อดีต ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. และผู้แปลหนังสือ “ปีกแห่งไฟ” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
ในการสัมภาษณ์ตอนหนึ่ง ดร.สุวิทย์ ได้ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย ซึ่ง ดร.สุวิทย์ ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร สทอภ.ตอบว่า ในประเทศไทย เทคโนโลยีอวกาศยังเป็นเรื่องที่คนทั่วไปมองว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัว แพง และยากอยู่
ทว่าจริงๆ แล้วกลับเป็นเรื่องเล็กๆ ที่มีความโดดเด่นในตัว (niche technology) ที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาให้มีขึ้นได้หากมีความตั้งใจจริง ซึ่งไทยเองได้ใช้เทคโนโลยีอวกาศมานานกว่า 30 ปีแล้ว เช่น การใช้รีโมตเซ็นซิง และภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ และการจัดการน้ำธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายมากที่ประเทศไทยมักอยู่ในฐานะผู้ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศเพียงด้านเดียว โดยไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของตัวเอง เป็นจุดที่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอย่างเกาหลีและมาเลเซียที่มีความก้าวหน้าล้ำหน้าไทยไปแล้ว
โดยเฉพาะการตั้งหน่วยงานด้านอวกาศมาทำหน้าที่โดยเฉพาะ ซึ่งแม้ไทยจะมี สทอภ.แต่ก็เป็นหน่วยงานใช้ประโยชน์มากกว่าที่จะมีการวิจัยพัฒนา อีกทั้งยังขาดแผนที่ปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน อย่างการพัฒนาดาวเทียมตลอดจนซอฟต์แวร์ของตัวเองที่ยังไม่มีการริเริ่มทำใดๆ เลย
“วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศจึงสำคัญที่จะส่องสว่างให้เรา ที่จริงเรามีนักวิทยาศาสตร์พร้อมแล้วที่จะเดินตาม แต่ยังขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์จึงยังรวมผลไม่ได้ หากทำได้แล้ว ประเทศไทยของเราก็จะก้าวหน้ามาก เพราะมันจะมีอุตสาหกรรมที่แตกย่อยออกมาจากตรงนี้ด้วย” อดีต ผอ.สทอภ.กล่าว และยกตัวอย่างอินเดียว่า มีองค์การวิจัยอวกาศอินเดียที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาล ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีกำลังคนนับหมื่นคนทำงานร่วมกัน และมีสำนักงานอยู่หลายแห่งเช่น ที่เมืองบังกาลอร์ เชนไน และไฮเดอราบัด
ที่สำคัญ สิ่งที่องค์การวิจัยอวกาศอินเดียพัฒนาขึ้น ยังมีการถ่ายทอดไปสู่บริษัทเอกชนเพื่อให้นำไปใช้ต่อไปด้วย ทำให้เอกชนอินเดียสามารถนำความรู้ที่ได้ไปผลิตเทคโนโลยีออกจำหน่าย เช่น การผลิตเชื้อเพลิงหรืออุปกรณ์อวกาศต่างๆ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเป็นผู้เริ่มทำก่อนเป็นแห่งแรก โดยเฉพาะการเป็นผู้ลงทุนเริ่มต้น เนื่องจากเป็นจุดที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าเอกชนจะได้รับภาระเองได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผลพลอยได้ที่ตามมาก็จะกลับมาในรูปของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอย่างสินค้านาโนหรือผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาซึ่งถือว่ามีคุณค่ามาก
สำหรับ “ปีกแห่งไฟ” เป็นอัตชีวประวัติของ ดร.เอพีเจอับดุล กาลัม ประธานาธิบดีคนที่ 11 แห่งสาธารณรัฐอินเดีย ผู้เติบโตจากอาชีพนักวิทยาศาสตร์มาสู่การเป็นผู้บริหารประเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งจรวดและขีปนาวุธ" และ "นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่" ของอินเดีย โดย “ปีกแห่งไฟ” ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2542 และตีพิมพ์เป็นภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศลำดับที่ 3 ต่อจาก จีน และเกาหลี
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดให้มีการเสวนา เรื่อง “ปีกแห่งไฟ : แสงแห่งปรัชญาตะวันออก” โดย ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ และ ผศ.มานิต รุจิวโรดม ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 ต.ค.เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องมีตติ้งรูม 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 12 ผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย