"ก๋วยเตี๋ยว" อาหารจานด่วนที่กินอิ่ม ได้คุณค่าครบถ้วน กับน้ำอัดลมเย็นๆ ชื่นใจ แต่กว่าจะมาเป็นก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม และน้ำอัดลม 1 ขวดต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร แล้วทำไมเราต้องคำนึงถึง
หลังจากที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ที่จัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ลดโลกร้อน...ด้วยวิถีพอเพียง" เมื่อเดือนก่อนเพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่บรรดาตัวแทนครูอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปขยายผลในโรงเรียนและชุมชนต่อไป พร้อมทั้งได้เอกสารประกอบการประชุมกลับมาเป็นของแถม ซึ่งเนื้อหาหลักในเอกสารเน้นให้ผู้อ่านรู้จัก "การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์" (Life Cycle Assessment: LCA) ที่กว่าจะได้สิ่งของแต่ละอย่างมาให้พวกเรากินหรือใช้ในชีวิตประจำวัน ต้องมีเส้นทางใช้พลังงานไม่น้อย
อย่าง"ก๋วยเตี๋ยว" ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองจีนแต่รสชาติเป็นที่ถูกปากคนไทยนักหนา และมีร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่มากมายจนเกือบจะกลายเป็นอาหารประจำชาติไทยไปแล้ว
ก่อนจะเริ่มโซ้ยก๋วยเตี๋ยวชามโปรด ลองพิจารณาดูว่ามีอะไรอยู่ในชามก๋วยเตี๋ยวนั้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นผักบุ้ง ถั่วงอก น้ำซุป เนื้อสด หมูเปื่อย ลูกชิ้นปลา นานาเครื่องปรุงรส ทุกอย่างมีที่มาต่างๆ กัน แต่ต้องใช้พลังงานเหมือนกัน
ที่ขาดไม่ได้เห็นจะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว อาจจะเป็นเส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นหมี่ บะหมี่ หรือเส้นก๋วยจั๊บ ตามความชอบของแต่ละคน แล้วรู้หรือไม่ว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวนั้นได้แต่ใดมา? และกำเนิดเส้นก๋วยเตี๋ยว จะเกี่ยวข้องกับพลังงานและสิ่งแวดล้อมตรงไหน?
จากปลายข้าวสู่ก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ในชาม ต้องผ่านการล้างน้ำ โม่ กรอง นึ่งไอน้ำ ทำให้แห้ง ตัดเป็นเส้น ตากหรืออบ บรรจุหีบห่อ ขนส่งเพื่อจำหน่ายให้ร้านก๋วยเตี๋ยวนำไปลวกใส่ชามเป็นก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด ต้องใช้ทั้งทรัพยากรน้ำ พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิง บรรจุภัณฑ์ และภาชนะ ขณะเดี๋ยวกันก็ปล่อยความร้อน น้ำเสีย ก๊าซ ฝุ่น เศษแป้ง เศษเส้น และวัสดุเหลือทิ้งต่างๆ สู่ธรรมชาติ
เครื่องปรุงต่างๆที่ช่วยเพิ่มรสชาติให้ก๋วยเตี๋ยวก็มีที่มาไม่ต่างกันมาก และเมื่อกินก๋วยเตี๋ยวหมดชามแล้วแต่ยังมีเศษก๋วยเตี๋ยวเหลือทิ้งอยู่บ้างไม่มากก็น้อยที่จะถูกล้างทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป
"น้ำอัดลม" เครื่องดื่มยอดฮิตที่คู่กับก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด น้ำ น้ำตาลทราย ผงถ่าน สารช่วยกรอง คาร์บอนไดออกไซด์ และพลังงาน ได้มาเป็นน้ำอัดลมพร้อมบรรจุขวด และกว่าจะได้ขวดมาใส่น้ำอัดลมก็ต้องใช้น้ำ โซดาไฟ และพลังงาน ในการทำความสะอาดขวดแก้ว และปล่อยน้ำเสีย สารเคมี ก๊าซพิษ และขยะต่างๆ สู่ดิน น้ำ และอากาศ
แม้แต่ดินสอ 1 แท่ง ยังผ่านกระบวนการมากมายตั้งแต่ตัดต้นไม้ ใช้เครื่องจักรกลึงให้เป็นรูปดินสอ เผาไม้ให้เป็นถ่านเพื่อทำไส้ดินสอ ติดยางลบไว้ที่ปลาย หุ้มด้วยอลูมิเนียม เวลาใช้ก็ทำให้เกิดขยะ และฝุ่นผงคาร์บอน
เสื้อผ้าที่เราสวมใส่เริ่มจากเส้นใย นำมาทำความสะอาด ปั่นด้าย ทำเกลียวและลงแป้ง ทอผ้า ลอกแป้ง เมอร์เซอร์ไรซ์ (กระบวนการเพิ่มความมันเงา) ย้อมและพิมพ์ ตกแต่งสำเร็จ ทำให้แห้ง และเข้าสู่กระบวนการตัดเย็บ
พลังงาน แป้ง เอนไซม์ สารเคมี และสีย้อม คือสิ่งจำเป็นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนความร้อน เศษแป้ง และสารเคมีต่างๆ ก็คือของเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ ทีนี้ก่อนจะบริโภคอะไรสักอย่างก็อย่าลืมคิดหน้าว่าก่อนจะมาเป็นสินค้าให้เราเลือกซื้อ ผ่านกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และคิดหลังว่าใช้สิ่งนั้นแล้วจะมีอะไรเหลือทิ้งบ้าง มีวิธีการกำจัดเหล่านั้นอย่างไร
คราวหน้าไปซื้อน้ำในร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ลองประเมินวัฏจักรชีวิตของน้ำบรรจุขวดพลาสติกกับน้ำบรรจุกระป๋อง แล้วตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับธรรมชาติและตัวเรา
สุดท้ายผู้จัดการวิทยาศาสตร์ของฝากคำขวัญจากเอกสารประกอบการประชุมถึงท่านผู้อ่านว่า "เมื่อจะข้ามถนน ต้องมองซ้าย มองขวา เพื่อให้มีพลังงานไว้ใช้ภายหน้า ก่อนบริโภค ต้องคิดหน้า-คิดหลัง"