xs
xsm
sm
md
lg

ใช้พืชจีเอ็มดูดซับมลพิษเร็ว-ประหยัดกว่าต้นไม้ทั่วไป 100 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี/ไซน์เดลี่ – นักวิจัยมะกันร่วมกับผู้ดีทำจีเอ็มโอต้นปอปลาร์กำจัดมลพิษในสิ่งแวดล้อม ได้ผลดีและรวดเร็วกว่าต้นไม้ทั่วไปในธรรมชาติ 100 เท่า แถมต้นทุนถูกกว่า ไม่หวั่นกระแสต้านจีเอ็มโอ หวังใช้จริงในอนาคตอันใกล้

นักวิจัยรายงานผลการทดลองใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมกำจัดมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าและเร็วกว่าพืชทั่วไปในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Science) เป็นการใช้พืชและพลังงานแสงอาทิตย์ในการบำบัดสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องเสียค่าเทคโนโลยีราคาแพง และไม่ก่อให้เกิดมลพิษอื่นตามมา

"การใช้ประโยชน์จากพืชเพื่อกำจัดมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า ไฟโตรีมีดิเอชัน (phytoremediation) อาศัยเพียงพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้นสำหรับแยกสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ และอากาศ" ชารอน โดที (Sharon Doty) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) สหรัฐฯ กล่าว

ทีมวิจัยของโดทีได้ร่วมกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยยอร์ก (University of York) ประเทศอังกฤษ ทดลองตัดต่อยีนของแบคทีเรียใส่ให้กับพันธุกรรมของต้นปอปลาร์ (poplar tree) โดยยีนจากแบคทีเรียดังกล่าวมีหน้าที่ควบคุมการสร้างเอนไซม์ที่สามารถทำลายสารก่อมะเร็งต่างๆได้ ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษก็มักเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็งเหล่านั้น

ผลการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดสารพิษของต้นปอปลาร์จีเอ็มโอในห้องปฏิบัติการ พบว่าพวกมันสามารถดูดเอาโมเลกุลของไตรคลอโรเอธิลีน (trichloroethylene: C2HCl3) จากสารละลายได้มากถึง 91% ขณะที่ต้นไม้ปกติทั่วไปดูดซับได้เพียง 3%

ต้นปอปลาร์จีเอ็มโอสามารถทำลายพันธะในโมเลกุลของไตรคลอโรเอธิลีนให้เกิดเป็นคลอไรด์ไอออน (Cl-) ส่วนคาร์บอนและไฮโดรเจนจะรวมกับออกซิเจนได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และน้ำ (H2O) ซึ่งสารใหม่เหล่านี้ล้วนไม่เป็นอันตรายต่องสิ่งมีชีวิต และกระบวนการนี้ในต้นปอปลาร์จีเอ็มโอเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าพืชทั่วไปในธรรมชาติถึง 100 เท่า

ทั้งนี้ ต้นพืชที่จะนำมาดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในกรณีนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่และสารพิษที่ต้องการกำจัด ส่วนที่นักวิจัยเลือกใช้ต้นปอปลาร์เพราะเจริญเติบโตเร็ว อยู่ได้นานหลายปีกว่าจะออกดอกและพัฒนาเป็นเมล็ด ทำให้ใช้ประโยชน์ได้นาน

แม้ว่าการทดลองนี้ยังเป็นเพียงแค่ช่วงเริ่มต้น แต่ทีมนักวิจัยก็หวังว่าจะมีการนำเอาวิธีนี้ไปใช้จริงในอนาคต ซึ่งเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อกำจัดมลภาวะ ไฟโตรีมีดิเอชันโดยพืชจีเอ็มโอนับว่าเป็นวิธีที่มีศักยภาพกว่า รวดเร็วกว่า ขณะเดียวกันก็เติมความสวยงามให้ธรรมชาติ และที่สำคัญคือราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ดี การทดลองนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากและต้องดำเนินการภายใต้กฏระเบียบที่เข้มงวดของรัฐบาล เนื่องจากขณะนี้พืชจีเอ็มโอกำลังเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้คน 2 ฝ่าย และในหลายๆ ประเทศก็ต้านการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงการค้า เพราะยังไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าพืชจีเอ็มโอปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค 100%

"แน่นอนว่าในธรรมชาติก็มีพืชที่สามารถกำจัดมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้ดี แต่มันช้าเกินไป ส่วนเทคโนโลยีต่างๆ ก็ยุ่งยากและแพงเกินไป วิธีที่สะดวก รวดเร็ว และราคาถูกต่างหากที่จำเป็นสำหรับพวกเรา ดังนั้นเราจะไม่ปฏิเสธวิธีนี้นานจนเกินไป" โดที แสดงความเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น