xs
xsm
sm
md
lg

ทำเนียบขาวดีใจด้วยนักสู้ "โลกร้อน" รับโนเบลสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กระตุ้นให้ชาวโลกตระหนักเรื่องโลกร้อน
เอเยนซี – สมาชิกทำเนียบขาวยกย่อง “อัล กอร์” ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ สวนทางกับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมร่วมมือกับนานาประเทศในการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปฏิเสธการลงนามในพิธีสารเกียวโตไปเมื่อปี 2540

สถานการณ์โลกร้อนส่งให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ ไอพีซีซี (UN's Intergovernmental Panel on Climate Change) และ อัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครองรางวัลโนเบลร่วมกันตามคาดหมาย ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงการสวนทางกันระหว่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน และอดีตรองประธานาธิบดีคนดังอย่างอัล กอร์ แต่โฆษกทำนียบขาวก็ออกมาแสดงความยินดีด้วยกับอัล กอร์

พวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ และ ไอพีซีซี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” โทนี แฟรตโต (Tony Fratto) โฆษกประจำทำเทียบขาว เผย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2540 รัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดยบุช เคยปฏิเสธความร่วมมือในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) มาแล้ว และสหรัฐฯ ยังถูกประณามว่าเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ อัล กอร์ เคยลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ บุช เมื่อปี 2543 ในนามพรรคเดโมเครต แต่เขาพ่ายแพ้ให้แก่บุชไปอย่างเฉียดฉิว หลังจากนั้นเขาก็หันไปศึกษาเรื่องของภาวะโลกร้อน มีผลงานออกมาทั้งหนังสือและภาพยนตร์สารคดี "An Inconvenient Truth" หรือภาคภาษาไทยในชื่อ "ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" จนกระทั่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลสำคัญจากองค์กรต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ด้วย

กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีความเห็นว่า อัล กอร์ กระตุ้นให้คนทั่วโลกตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ส่วนไอพีซีซีก็มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงของวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่ามันมีผลกระทบกับชีวิตบนโลกอย่างไรบ้าง และยังเป็นผู้นำกระตุ้นให้ทุกประเทศทั่วโลกหันหน้าเข้าหากันในการหาวิธีจัดการกับตัวการทำให้เกิดโลกร้อน

โจเซฟ ซาคูน (Joseph Zacune) นักรณรงค์ด้านภูมิอากาศของกลุ่มเพื่อนโลก (Friends of the Earth) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความอยู่รอดของมนุษย์มากที่สุด ส่วนรางวัลโนเบลจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงวิกฤตการณ์นี้มากขึ้นกว่าเดิม

ด้านเชอลา วัตต์-คลูเทีย (Sheila Watt-Cloutier) ชาวแคนาดาที่เป็นหนึ่งในตัวเก็งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2550 ให้ความเห็นต่อรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพว่า ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขานี้คือดาวเคราะห์ที่เป็นโลกของเรานั่นเอง และสำหรับเธอแล้วมันเป็นสิ่งที่มีค่ามากมายเหลือเกิน

ส่วน บัน คี-มุน (Ban Ki-moon) เลขาธิการสหประชาชาติ ก็เขียนแสดงเป็นข้อความที่มีใจความว่า ต้องขอบคุณไอพีซีซีเป็นการใหญ่ที่ทำให้เข้าใจถึงสถานการณ์โลกร้อนที่เป็นอยู่ว่ามันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็เป็นเรื่องที่คาดเดายาก ซึ่งองค์การสหประชาชาติก็เปรียบเสมือนเวทีกลางที่รวบรวมเอาความคิดเห็นของทุกฝ่ายมาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหา

สเตฟานี ทันมอร์ (Stephanie Tunmore) นักรณรงค์ด้านภูมิอากาศของกรีนพีช กล่าวว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพตกเป็นของอัล กอร์ และไอพีซีซี มันจะต้องมีผลอย่างมากต่อรัฐบาลในการเตรียมตัวเจรจาเพื่อขยายขอบเขตข้อตกลงทางกฎหมายในพิธีสารโตเกียวที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน ธ.ค. นี้ เกี่ยวกับเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะที่ ฮานส์ เวโรลเม (Hans Verolme) ประธานโครงการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก กองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าวว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าจิตสำนึกของประชาชนที่มีต่อการหยุดภาวะโลกร้อนนั้นมีมากขึ้นทุกขณะ รางวัลนี้เพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญการทำงานของไอพีซีซีและความเป็นผู้นำในการรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนของ อัล กอร์

โฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ (Jose Manuel Barroso) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มีความเห็นว่า การทำงานของพวกเขาเป็นการสร้างความตระหนักให้กับนักการเมืองและประชาชนเช่นเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ยังประชุมหารือกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในการลดโลกร้อน ผมบอกให้ผู้ที่มีส่วนร่วมกับเราทุกคนนำเอารางวัลโนเบลนี้มาเป็นเครื่องกระตุ้นให้พวกเราไปถึงเป้าหมายให้เร็วขึ้นและง่ายขึ้นด้วย

ท้ายสุด อาคิม ชไตเนอร์ (Achim Steiner) ประธานโครงการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาติ สรุปผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นศูนย์กลางแห่งสันติภาพและความมั่นคงในศตวรรษที่ 21
จอร์จ ดับเบิลยู บุช
กอร์ดอน บราวน์
บัน คี-มุน
โฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ
กำลังโหลดความคิดเห็น