xs
xsm
sm
md
lg

นักชีววิทยาไทยยันนานาชาติ “กูปรี” ไม่ใช่ลูกผสมของวัวแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่กังขากันมานานของเหล่านักอนุรักษ์สัตว์ป่าเมื่อพูดถึง “กูปรี” (Kouprey) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “โคไพร” ที่มีหลายสมมติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมันว่า แท้ที่จริงแล้วมันคือสัตว์ประเภทหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมายาวนานในธรรมชาติ หรือจะเป็นเพียงลูกผสมระหว่างวัวแดงและวัวพื้นเมืองเท่านั้น?

งานวิจัยล่าสุด ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังจะส่งไปถึงราชบัณฑิตสมาคมในกรุงลอนดอนเร็วๆ นี้ ของ 2 นักชีววิวัฒนาการชาวฝรั่งเศส คือ “อะเล็กซังเดร ฮัสซานิน” (Alexandre Hassanin) และ “อานน์ โฮปิเกต์” (Anne Ropiquet) โดยเทคนิคการพิสูจน์ดีเอ็นเอกูปรีเทียบกับดีเอ็นเอของวัวแดง ก็ออกมายืนยันอีกครั้งว่า “กูปรี และวัวแดง” ไม่ได้เกี่ยวโยงกันแน่นอน แต่กูปรีเป็นสัตว์สายพันธุ์เฉพาะที่มีวิวัฒนาการมาในธรรมชาติอย่างยาวนานแล้วมากกว่า

งานวิจัยของพวกเขายังอ้างด้วยว่า แม้จะตรวจพบว่า ทั้งกูปรีและวัวแดงต่างมีไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอ (Mitocondrial DNA: MtDNA) เหมือนกันจริง ซึ่งไปสอดรับกับสมมติฐานที่ว่า “หากทั้งคู่ต่างมีไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งถ่ายกันเฉพาะจากแม่สู่ลูกแล้ว ก็น่าจะเป็นหลักฐานเพียงพอว่า กูปรีเป็นลูกผสมระหว่างวัวแดงและวัวพื้นบ้านจริง”

อย่างไรก็ตาม ทั้งฮัสซานิน และโฮปิเกต์ เชื่อว่าสมมติฐานนี้อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ เพราะในอีกสมมติฐานหนึ่งที่อาจเป็นไปได้เช่นกัน คือ จากหลักฐานฟอสซิลกะโหลกศีรษะกูปรี เชื่อว่ามันน่าจะมีมาตั้งแต่ยุคเพลสโตซีน (Pleistocene) หรือยุคต้นๆ ของยุคโฮโลซีน (Holocene) ระหว่าง 1250,000 -5,000 ปีก่อน
 
"ในระหว่างยุคนั้นเอง กูปรีเพศเมียตัวใดตัวหนึ่งหรือหลายตัวน่าจะเคยผสมพันธุ์กับบรรพบุรุษของวัวแดงตอนนี้ จนทำให้ไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอตามติดมายังลูกหลานของพวกมันในปัจจุบันด้วยก็ได้"

ทั้งนี้ “แกรี กาลเบรธ” (Gary Galbreath) นักชีววิวัฒนาการอีกรายจากมหาวิทยาลัยนอร์เวสเทอร์น มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ก็เป็นอีกหนึ่งนักวิจัยที่เห็นสอดคล้องกับนักวิจัยเลือดน้ำหอมทั้ง 2 ข้างต้น แม้ก่อนหน้าเขาจะเป็นผู้ค้นพบว่า กูปรีและวัวแดงต่างมีไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอเหมือนกัน และสรุปว่ากูปรีน่าจะเป็นลูกผสมจริง
 
แต่จากการศึกษางานวิจัยของ 2 นักวิจัยไทย คือ "ผศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์" ภาควิชาชีววิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ "ดร.ชวลิต วิทยานนท์" ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย ก็ทำให้เขาเปลี่ยนความเชื่อของเขาเสียใหม่

มันคงจะไม่มีกะโหลกกูปรีที่มีอายุยาวนานถึงขนาดนั้น ถ้าหากสัตว์ชนิดนี้เป็นเพียงแค่สัตว์ลูกผสมที่ปรากฏตัวขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น” กาลเบรธ กล่าวในรายงานล่าสุด

ขณะที่หลังจากที่มีรายงานข่าวดังกล่าวแล้ว ผศ.ดร.นริศ ให้ความคิดเห็นโดยยืนยันว่า กูปรีไม่ได้เป็นลูกผสมของวัวแดงแน่นอน ซึ่งมีหลายหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น
 
ทั้งหลักฐานดีเอ็นเอที่คณะวนศาสตร์ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พิสูจน์เมื่อปลายปี 2549 ที่ผ่านมากับซากหัวกูปรีที่ได้จากเทือกเขาพนมดงรัก โดยการสกัดดีเอ็นเอจากเขากูปรีตัวผู้ 2 ตัวและตัวเมียอีก 1 ตัว พบว่า เมื่อเทียบกับดีเอ็นเอของวัวแดงแล้ว กูปรีและวัวแดงไม่ได้มีลักษณะความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมใดๆ ทั้งสิ้น

อีกทั้งหลักฐานด้านภูมิศาสตร์ของประเทศกัมพูชาตลอดจนประเทศไทย ที่พบว่า สภาพภูมิประเทศดังกล่าวยังเอื้อต่อการทำปศุสัตว์จำพวกวัวของคนในแถบนี้เพียงเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนเท่านั้น ขณะที่ซากฟอสซิลกูปรีที่ค้นพบสามารถตรวจย้อนหลังไปได้ถึง 300,000 - 80,000 ปีที่แล้ว
 
ดังนั้นจึงแปลได้ว่า กูปรีเป็นสัตว์ที่กระจายตัวในพื้นที่แถบนี้มายาวนานกว่าที่มนุษย์จะเข้ามาตั้งรกรากเมื่อ 60,000 ปีก่อน และเริ่มทำปศุสัตว์วัวได้เมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว จึงพลอยเป็นไปไม่ได้ไปด้วยที่กูปรีจะเกิดขึ้นจากการผสมของวัวพื้นบ้านที่มนุษย์เลี้ยงและวัวแดงจากป่า

นอกจากนั้น ผศ.ดร.นริศ ยังบอกอีกว่า สมมติฐานที่ว่ากูปรีเป็นลูกผสมของวัวแดงนั้น ยังขัดกับหลักธรรมชาติด้วย ซึ่งจะไม่ต้องการให้ลูกผสมมีจำนวนมากเกินไปในสภาพแวดล้อม และต้องมีเหตุให้ลูกผสมเหล่านี้ต้องสูญหายไปทั้งหมด จึงต่างกันสิ้นเชิงกับจำนวนกูปรีที่มีจำนวนมากในอดีต
 
ดังที่เคยมีการทำสารคดีของชาวตะวันตกในประเทศกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ.2492 ซึ่งพบว่ากูปรีอยู่รวมกันเป็นฝูงที่ใหญ่มาก หรือแม้แต่การขัดกับข้อมูลของพิพิธภัณฑ์เขาสัตว์ จ.นนทบุรี ที่มีการเก็บรักษาเขากูปรีไว้มากมายเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ผศ.ดร.นริศ เสริมว่า ยังมีหลักฐานอีกมากที่ยืนยันได้ว่ากูปรีและวัวแดงไม่ได้เกี่ยวพันกัน และกูปรีไม่ได้เป็นลูกผสมของวัวแดงแน่นอน เช่น หลักสรีรวิทยาที่พบว่ากูปรีมีสรีระคล้ายกับวัวป่าโบราณที่พบในเอเชียและยุโรป ซึ่งสูญพันธุ์ไปนานแล้ว

ผมและ ดร.ชวลิต ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกูปรีร่วมกัน และได้ร่วมกันตีพิมพ์รายงาน เช่น การพิสูจน์ยืนยันชิ้นส่วนกูปรีที่พบที่แม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา และที่แม่น้ำเชิน จ.ขอนแก่น ว่าเป็นของจริงหรือไม่" ผศ.ดร.นริศ กล่าว และว่า
 
ปลายปีที่ผ่านมา ทั้งคู่ยังได้พบและแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงผลพิสูจน์เหล่านี้ร่วมกันกับนายกาลเบรธ ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยด้วย โดยงานวิจัยของกาลเบรธ ทำโดยการเปรียบเทียบดีเอ็นเอจากวัวแดง 2 ตัวกับดีเอ็นเอของกูปรีจากยีนแบงก์แล้วสรุปผลการวิจัยว่ากูปรีน่าจะเป็นลูกผสมของวัวแดง แต่ทั้งสองก็ได้เสนอข้อมูลหักล้างและอธิบายจนนายกาลเบรธ ยอมรับในที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น