วันๆ หนึ่งมี 24 ชั่วโมง แบ่งเป็นกลางวันและกลางคืนอย่างละครึ่ง โดยหลังจากเหน็ดหน่อยจากการประกอบหน้าที่การงานมาตลอดทั้งวันแล้ว กลางคืนจึงเป็นเวลาแห่งการพักผ่อน–หลับใหล ทว่าก็เป็นเวลาเดียวกับที่กลุ่มคนรักการดูดาวจะเริ่มทำการด้วย มนต์เสน่ห์ประการใดที่ทำให้พวกเขาสนใจการส่องกล้องดูดาวจึงน่าสนใจใฝ่รู้
“กวี สุขะตุงคะ” อายุ 46 ปี เจ้าหน้าที่กรมอู่ทหารเรือ และกรรมการบริการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ผู้คร่ำหวอดกับการดูดาวอย่างจริงจังมากว่า 25 ปี ย้อนถึงแรงบันดาลใจของเขาในการดูดาวครั้งแรก ที่ดูจะใกล้เคียงกับเหตุผลที่คนทั่วไปจะสนใจและหลงรักการดูดาวอย่างเปิดอก
กวี เผยว่า แรงบันดาลใจของเขานั้นเริ่มต้นจากที่สมัยก่อน “ปู่” ได้พาไปดูดาวที่ท้องฟ้าจำลองตอนอายุ 9 ขวบ เป็นเวลาเดียวกับที่ท้องฟ้าจำลองเพิ่งเปิดทำการใหม่ๆ เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ทำให้ได้เห็นดวงดาวมากมาย ที่แม้จะเป็นเพียงดวงดาวในห้องจำลอง สว่างบ้างไม่สว่างบ้าง เป็นดาวเคราะห์บ้างและดาวฤกษ์บ้าง แต่ก็เพียงพอจะจุดชนวนให้เขาสนใจอยากศึกษา พยายามซื้อหนังสือมาอ่านเองเท่าที่ทำได้
กวี เล่าว่า อีกแรงบันดาลใจหนึ่งเขายังได้แก่การ์ตูนเรื่อง “เซนต์เซย่า” การ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังที่ผู้ใหญ่สมัยนี้คงรู้จักกันดี ที่ทำให้เขาคิดว่าบางทีคนเราก็ไม่ควรไปดูแคลนว่าการ์ตูนเป็นเพียงสิ่งไร้สาระ เพราะมันอาจช่วยเสริมเติมแต่งจินตนาการได้
แล้วสิ่งที่เรียกว่า "จินตนาการ" สำคัญอย่างไร เขาชี้ว่า ในการศึกษาดาราศาสตร์ ถ้าขาดซึ่งจินตนาการแล้วก็จะไม่สามารถเรียนรู้กลุ่มดาวต่างๆ ได้เลย เช่นประสบการณ์ที่ใครหลายคนอาจเคยมียามเด็ก เมื่อชี้นิ้วไปบนท้องฟ้า โยงเส้นจากดาวดวงหนึ่งไปหาดาวอีกดวงหนึ่งประกอบเป็นรูปร่างหน้าตา การ์ตูนจึงเป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้เด็กๆ หรือคนทั่วไปอยากรู้อยากเห็นดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้าตามบ้าง
ส่วนที่บางคนอาจตั้งคำถามว่า เสน่ห์ของการดูดาวมีมากมายเพียงใด คนรักการดูดาวหลายคนจึงคงความสนใจดูดาวได้ต่อเนื่องนานนับปีหรือแม้กระทั่งหลายสิบปี “ไม่มีเบื่อ” อาจารย์ประพีร์ วิราพร อาจารย์ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เฉลยให้ฟังว่า เพราะปรากฏการณ์บนฟากฟ้าไม่เคยหยุดนิ่ง ฟ้าเดิมจึงอาจไม่ใช่ฟ้าเก่าทุกวันไป
“การดูดาวจะมีสิ่งใหม่ๆ ให้เราได้เห็นเรื่อยๆ บางคืนมองเห็นทางช้างเผือกสวยงามมาก หรืออย่างการดูดาวเสาร์ที่ส่องกล้องโทรทรรศน์ดูก็จะรู้ว่าวงแหวนดาวเสาร์จะเอียงไปด้านโน้นด้านนี้ไม่ซ้ำ ดูไม่รู้จบ แถมดูดาวแล้วยังได้ฝึกสมาธิไปในตัว” อาจารย์ประพีร์ ว่า โดยประสบการณ์ที่ทำให้อาจารย์ประพีร์ หลงใหลการดูดาวคือ “สุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2498” ซึ่งอีกหลายคนที่มีเลข 5 นำหน้าอายุ ก็น่าจะมีปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ช่วยจุดประกายความสนใจด้วย
เช่นเดียวกับ พรชัย อมรศรีจิรทร อายุ 33 ปี วิศวกรคอมพิวเตอร์ หนึ่งในกำลังหลักของสมาดาราศาสตร์ไทยที่เป็นขาประจำการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เผยบ้างว่า ตัวเองได้สนใจและชอบดูดาวมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
ทั้งนี้ แม้ว่าเขาจะเกิดไม่ทัน และไม่มีโอกาสเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง พ.ศ.2498 ครั้งนั้น แต่ความสนใจในการดูดาวก็ไม่น้อยหน้าใคร โดยเฉพาะปรากฏการณ์ดาวหางฮัลเลย์ (Halley) เข้าใกล้โลกเมื่อปี พ.ศ.2527 เมื่อเขายังเด็ก ซึ่งถือเป็นเวลาที่ตื่นเต้นมาก แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ประจักษ์ด้วยสายตาตัวเอง
ขณะที่ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ก็เกิดโศกนาฏกรรมยานชาเลนเจอร์ระเบิดอีก พรชัย เล่าว่า ก็ตกใจมากที่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นมาในวงการอวกาศ ทว่าในทางกลับกันแล้ว มันก็ช่วยกระตุ้นให้เขาสนใจดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น
พรชัย บอกด้วยว่า ต่อจากนั้นเขาได้ทดลองทำกล้องดูดาวด้วยตัวเอง เพื่อนำมาส่องดูดวงจันทร์บ้าง ดาวพฤหัสบดีบ้าง และดาวเสาร์บ้าง ซึ่งกว่าจะทำกล้องได้เองก็ลองผิดลองถูกอยู่นานเป็นปีกว่าจะทำสำเร็จ แต่ความชื่นชอบในดวงดาวก็หยั่งรากลึก แม้การเข้าถึงความรู้ดาราศาสตร์ในเวลานั้นจะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนปัจจุบัน แต่เขาก็ไม่ลดละ
“เพราะตอนนั้นยังไม่มีตำราที่เป็นของไทย มีแต่ภาษาอังกฤษ ซึ่งเราก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง และพอทำกล้องเสร็จแล้วก็ยังไม่รู้เลยว่าทำได้ได้ยังไง แต่พอเราเรียนสูงขึ้นถึงได้เข้าใจหลักการและเข้าใจว่าเพราะอะไรเราถึงทำไม่ได้และทำไมเราถึงทำได้” พรชัยว่า โดยเขายังได้วาดฝันถึงวงการดาราศาสตร์และอวกาศในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจด้วย
พรชัย เชื่อว่า ในอีก10 ปีข้างหน้า ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศจะมาแรงมากและค่าใช้จ่ายจะถูกลง เทียบกับตอนนี้คนที่จะออกไปท่องเที่ยวในอวกาศได้จะต้อง “กระเป๋าหนัก” คือรวยมากๆ แถมยังต้องชอบความท้าทายและชอบเสี่ยงด้วย
แต่ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีไปไกลกว่าเดิม ทุกคนจะสามารถโดยสารเครื่องบินไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา โดยการโดยสารเครื่องบินแบบใหม่จากประเทศไทยออกไปสู่อวกาศและกลับเข้ามาในบรรยากาศโลกอีกทีเมื่อถึงที่หมายแล้ว ซึ่งจะใช้เวลานิดเดียว “ไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง”
เพราะในอวกาศไม่มีแรงเสียดทาน ช่วยประหยัดเวลาเดินทางได้มาก และต่อไปการเที่ยวรอบโลกก็จะเป็นเรื่องปกติ มีเงินไม่กี่ล้านบาทก็เที่ยวได้แล้ว จากปัจจุบันที่ต้องมีเงินมากถึง 200 -300 ล้านบาท
ส่วนในอีก 20 -30 ปีนี้ก็น่าจะมีสิ่งก่อสร้างหรืออาณานิคมในอวกาศ เช่นบนดวงจันทร์ที่ต้องมีแน่นอน มนุษย์อาจจะได้ไปเดินเล่นหรือไปตีกอล์ฟบนดวงจันทร์ และบนอวกาศรอบโลกของเรา ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตก็อาจมีที่พักสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวอวกาศมากขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถไปพักผ่อนค้างคืนอยู่บนอวกาศได้ คล้ายกับสถานีอวกาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“ขณะที่ในอีก 50 ปีข้างหน้าที่จะครบรอบ 100 ปียุคสำรวจอวกาศนั้น ผมคิดว่ามนุษย์จะสามารถตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปอยู่ดาวอังคารเลย เพียงแต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ที่นั่นได้" วิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้รักการดูดาวเผยและว่า
นอกจากความใฝ่ฝันในการค้นหาความลับของจักรวาล ยังมีคำถามว่ามนุษย์เกิดมาได้ยังไง มีโลกใบอื่นและมนุษย์ที่อื่นอีกหรือไม่ มนุษย์เราก็จะยังคงเดินหน้าพยายามค้นหาที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงดื่นต่อไปอย่างแน่นอน
เช่นกันกับปราชญ์ –ราชบัณฑิตแห่งการดูดาว “ศ.ดร.ระวี ภาวิไล” ที่เผยอย่างเป็นกันเองว่า แม้การพยากรณ์ความก้าวหน้าในอีก 50 ปีต่อจากนี้จะเป็นเรื่องยากเกินคาดเดา พอๆ กับ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งต้องบอกว่า “มีความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์ อวกาศ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเกินคาดมากแล้ว” แต่หากให้ตั้งความหวัง ศ.ดร.ระวี ก็อยากรู้ถึงคำตอบปริศนาสิ่งมีชีวิตนอกโลกมากที่สุด
“ผมอยากรู้ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตในที่อื่นหรือไม่ และมีแล้วจะมีสติปัญญาหรือเปล่า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีสติปัญญาสูงกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ ก็มีการคิดกันมาก ส่วนการมาเยี่ยมเยียนของยูเอฟโอในเวลานี้ ผมก็ว่ามันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ” ราชบัณฑิตดาราศาสตร์ ย้ำ ซึ่งสถานที่อันมนุษย์เราได้หมายตาถึง “ชีวิตนอกโลก” มากที่สุดในเวลานี้ คงหนีไม่พ้น “ดาวอังคาร” อย่างที่ พรชัย ว่า
เหมือนๆ กับที่เจ้าของนามปากกา “ชัยคุปต์” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผู้พูดอย่างหนักแน่นว่าอยากมีชีวิตอยู่ถึงวันนั้น –วันที่มนุษย์ขึ้นไปเหยียบ “ดาวแดง”
“โดยส่วนตัวผมเองอยากอยู่ให้ถึงวันนั้นนะ อยากเห็นการเดินทางของมนุษย์ไปดาวอังคาร ซึ่งมันจะยิ่งใหญ่มาก เทียบกับการไปดวงจันทร์จะถือว่าไม่เท่าไร คนมีสตางค์ก็พอทำได้แล้ว แต่แม้การเดินทางไปดาวอังคารจะยิ่งใหญ่มากก็จะยังต้องเตรียมการอีกมาก ความพร้อมด้านเทคโนโลยีเชื่อว่าภายใน 10 ปีจะทำได้แล้ว แผนการเดินทางก็มีความสมจริง ค่าใช้จ่ายก็ไม่มาก แต่คงไม่ใช่การเดินทางไปเป็นกลุ่มใหญ่ๆ แต่รับรองว่าจะเป็นข่าวยิ่งใหญ่แน่นอน”
นอกจากนั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังเชื่อด้วยว่า ข่าวสารในอนาคตเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวก็จะยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เช่น ปัจจุบันที่มีโครงการเซติ (Search for Extraterrestrial Intelligence: SETI) ที่ตอนนี้ยังมีทำกันอยู่
แต่แม้ ชัยคุปต์ จะบอกด้วยว่า แท้ที่จริงแล้ว โครงการเซตินั้นถือว่าได้พบสัญญาณอะไรนอกโลกมากมาย ทว่าสิ่งที่พบโดยมาก็มักสอบไม่ผ่านคือไม่สามารถตรวจพบสัญญาณซ้ำได้ ซึ่งเขาชี้ว่า สัญญาณมีอยู่แต่จับซ้ำได้ยากมาก เพราะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายสื่อสารโดยสื่ออะไร สัญญาณแบบไหน แต่ก็เชื่อว่าคงไม่ซับซ้อนอะไรมาก และน่าจะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นกลุ่มใหญ่
“ในอีก 50 ปีข้างหน้าถ้าเขามีจริง เราน่าจะเจอเขาได้มาก” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คาดการณ์
ส่วนเหตุผลที่คนมักมองไปยังการทำให้ “ดาวอังคาร” เป็นจุดหมายหรือเป็นแม้แต่เป็น “บ้านหลังที่สอง” ของมนุษยชาตินั้น กวี ช่วยเสริมว่า เพราะโลกของเราจะไม่เพียงพอรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นอีกต่อไป ซึ่งปัญหานี้จะมาพร้อมๆ กับปัญหาสิ่งแวดล้อม การเสื่อมโทรมและร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ การมาถึงของภาวะโลกร้อน และการเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกรอบหนึ่งในอนาคต
ในอีกด้านหนึ่ง รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) มองว่า นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว การค้นหาดาวเคราะห์ที่มีสภาพคล้ายคลึงโลกนอกระบบสุริยะก็ยังจะเป็นอีกแนวโน้มหนึ่งที่มาแรง ซึ่งเชื่อว่าต่อไปจะพบดาวที่มีลักษณะดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ
"ขณะเดียวกันการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือช่วยสำรวจ เช่นยานแบบไร้คนไปสำรวจสิ่งมีชีวิตนอกโลกอย่างดาวอังคารรวมไปถึงดาวเสาร์ก็จะติดตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทว่าการเดินทางไปนอกระบบสุริยะก็ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ " ผอ.สดร.ว่า โดยอุปสรรคสำคัญของมันคือเวลาการเดินทางที่ยาวนาน เทียบได้กับอายุขัยของมนุษย์ อันเป็นผลมาจากระยะทางอันไกลโพ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อส่องกล้องมองมายังประเทศไทยบ้าง รศ.ดร.บุญรักษา ชี้ว่า วงการดาราศาสตร์ไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลที่นานาชาติให้การยอมรับเช่นกัน โดย สดร.ในฐานะหน่วยวิจัยดาราศาสตร์แห่งแรกของประเทศก็กำลังขยับขยายไปสู่การเป็นองค์การมหาชนที่มีความคล่องตัวในการวิจัยพัฒนาและการเสริมสร้างกำลังคน ในเร็วๆ นี้
นอกจากนั้น ในอนาคต สดร.ยังมีการก่อสร้างหอดูดาวบนยอดอินทนนท์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร อันเป็นกล้องดูดาวขนาดใหญ่ที่สุดตัวที่ 2 ต่อจากกล้องดูดาวของจีนที่ตั้งอยู่ในภาคพื้นเอเชีย ซึ่งประโยชน์ของมันยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิจัยพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของชาติ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนสนใจในดาราศาสตร์มากขึ้นด้วย
ส่วนความใฝ่ฝันที่จะก้าวไกลออกไปของเทคโนโลยีอวกาศบ้านเราจะเป็นอย่างไรนั้น พรชัย เสริมทิ้งท้ายสั้นๆ อย่างน่าสนใจและท้าทายมากว่า เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยอาจจะมีวิศวกรเก่งๆ สามารถสร้างยานอวกาศหรือสถานีอวกาศได้แล้ว ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องสนับสนุนให้เด็กหันมาสนใจในเรื่องดาราศาสตร์มากขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ความใฝ่ฝันของพรชัย เป้าหมายใหญ่ของ รศ.ดร.บุญรักษา และ (หรือ) ของใครอีกหลายๆ คนเกี่ยวกับพัฒนาการดาราศาสตร์ –อวกาศของไทยจะมีโฉมหน้าแบบไหน คงเป็นเรื่องน่าลุ้นในอนาคต...เพื่อว่าวันหนึ่งภารกิจดาราศาสตร์ –อวกาศ อาจเป็นจุดสนใจของไทยต่อนานาชาติ เหมือนอย่างที่ “สหรัฐฯ” มีภารกิจอวกาศของนาซา “เป็นหน้าเป็นตา” ของประเทศอยู่ในเวลานี้ก็เป็นได้
รายงานชุด : กึ่งศตวรรษอวกาศ
- “มนุษย์ต่างดาว” มีจริงหรือไม่
- "เอเลี่ยน" มีกี่ชนิด
- ดาวที่เอื้อต่อ “การมีชีวิต”
- ส่องรอบโลกฉลอง "50 ปีสปุตนิก”
- "สปุตนิก" พลิกโฉมเทคโนโลยีอวกาศ
- เด็กไทยยิงจรวดขวดน้ำพร้อมทั่วโลกฉลอง 50 ปียุคอวกาศ
- เปิดโผ 10 ที่สุดในจักรวาล
- อวกาศในสายตาผู้รู้เห็น หลัง "สปุตนิก" ทะยานฟ้าเมื่อ 50 ปีก่อน
- มองนโยบาย "อวกาศไทย" ส่งธีออส–รุกธุรกิจภาพถ่ายดาวเทียม
- นานาสัตว์ “นักบินอวกาศจำเป็น” ถางทางสู่ดวงดาวของมวลมนุษย์
- 10 สุดยอดไซ-ไฟอวกาศ แนะนำโดย “ชัยคุปต์”
- อวกาศในนิยาย sci-fi ยุคมนุษย์บุกจักรวาล
- สปุตนิก : ปฐมบทแห่งยุคอวกาศ
