xs
xsm
sm
md
lg

สปุตนิก : ปฐมบทแห่งยุคอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อวกาศ” ในสายตาและการรับรู้ของมนุษยชาติเปลี่ยนไป นับจาก “สปุตนิก 1” ของสหภาพโซเวียต ถูกส่งขึ้นฟ้าในวันที่ 4 ต.ค.2500

บี๊บ...บี๊บๆๆๆ
(คลิกฟังเสียง)
ฟังเสียงประกอบจาก Manager Multimedia

สัญญาณวิทยุจากดาวเทียมขนาดลูก “บาสเก็ตบอล” น้ำหนักประมาณ 83 ก.ก.ที่เดินทางออกไปสำรวจพื้นผิวของโลกและชั้นบรรยากาศ ส่งเสียงถึงผู้คนบนผืนโลกในขณะที่มันโคจรผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโคจรเหนือสหรัฐอเมริกาถึง 7 รอบ ตอกย้ำเสียงแห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียต ระหว่างการชิงชัยเป็นเจ้าด้านอวกาศในช่วงสงครามเย็น

วัตถุอวกาศชิ้นแรกที่มนุษย์สร้างและส่งทะลุผ่านชั้นบรรยากาศโลก อยู่ในห้วงอวกาศอันมืดมิดเป็นเวลา 3 เดือน และเผาไหม้ขณะกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2501

สปุตนิก 1 ถูกส่งขึ้นจากฐานปล่อยจรวดไบโคนัวร์ คอสโมโดรม ที่เมืองเตียราตามของอดีตสหภาพโซเวียต (ประเทศคาซัคสถานปัจจุบัน) ส่วนชื่อ “สปุตนิก” นั้น หมายถึง “เพื่อนหรือผู้ร่วมเดินทาง” ซึ่งในเซนส์ของดาราศาสตร์แล้วก็คือ “ดาวเทียม” นั่นเอง

แรงบันดาลใจที่ทำให้ดาวเทียมดวงแรกของโลกเกิดขึ้น มาจากหนังสือ “ดรีม ออฟ เอิร์ธ แอนด์ สกาย” ของคอนสแตนติน เซียลคอฟสกี (Konstantin Tsiolkovsky) นักทฤษฎีอวกาศของรัสเซีย ที่ตีพิมพ์ในปี 2428 อธิบายว่าจะส่งดาวเทียมขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้อย่างไร

ส่วนแรงผลักดันเกิดเมื่อปี 2495 ที่สมาพันธ์วิทยาศาสตร์นานาชาติ ประกาศให้ปี 2500-2501 เป็นปีภูมิฟิสิกส์สากล จึงเกิดแนวคิดส่งดาวเทียมออกไปศึกษาโลก ซึ่งทางทำเนียบขาวชิงประกาศก้องโลกว่าจะสร้างดาวเทียมดังกล่าวขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นผลให้โซเวียตเดินหน้าโครงการทางด้านอวกาศในทันที

หลังจากหมีขาวประสบความสำเร็จในการส่งสปุตนิก 1 ขึ้นไปสำรวจพื้นผิวโลก อีก 1 เดือนถัดมา (3 พ.ย.) จึงส่งดาวเทียมสปุตนิก 2 ตามขึ้นไปอีก โดยได้แนบ “ไลก้า” (Laica) สุนัขฮัสกีเพศเมียขึ้นไปด้วยนับเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้ขึ้นไปสำรวจอวกาศ

โซเวียตอ้างว่าไลก้ามีชีวิตอยู่ในวงโคจรได้เพียง 4-10 วัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า หมาที่เก็บได้จากข้างถนนในกรุงมอสโกวตัวนี้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ หรือไม่ก็ขาดออกซิเจนเพราะแบตเตอรีของระบบอื้อชีวิตหมดลง ส่วนสปุตนิก 2 โคจรรอบโลก 2,370 รอบ และตกกลับไหม้กลางชั้นบรรยากาศโลกด้วยเวลานอกอวกาศนาน 163 วัน

(**ต่อมาบีบีซีนิวส์ รายงาน...โดยอ้างจาที่ประชุมสภาอวกาศโลกในเมืองฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส เผยเมื่อ 3 ปีก่อน ที่ดิมิทริ มาลาเชนคอฟ จากสถาบันปัญหาชีวภาพในมอสโก รัสเซียออกมาเปิดเผยว่า...

ระหว่างการปล่อยจรวด อุปกรณ์ตรวจจับทางการแพทย์ชี้ว่าอัตราชีพจรของไลก้าสูงเป็นสามเท่าของปกติ และเมื่อเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนักอัตราการเต้นของหัวใจไลก้าช้าลงอย่างมาก และมันต้องใช้เวลานานกว่าที่เคยใช้ตอนฝึกกับเครื่องบนโลกนานถึงสามเท่ากว่าหัวใจจะกลับมาเต้นในอัตราเดิม จุดจบของไลก้ามาถึงราว 5-7 ชั่วโมงของการบิน...

...เมื่อภาคพื้นดินไม่พบสัญญาณชีวิตใดๆ ของไลก้าจากเครื่องวัดระยะไกล และเมื่อดาวเทียมโคจรรอบโลกได้สี่รอบก็เป็นที่แน่ชัดว่าไลก้าลาโลกไปแล้วเนื่องจากความร้อนและความเครียด...)


สปุตนิก 2 โคจรเป็นวงรี ขณะอยู่ห่างจากโลกมากที่สุดเป็นระยทาง 1,671 กม. ไกลกว่า สปุตนิก 1 ในตำแหน่งไกลจากโลกที่สุดเกือบสองเท่าตัว

อย่างไรก็ดีในเดือน ธ.ค.ปีเดียวกันนี้สหรัฐฯ ก็พยายามส่งดาวเทียมทดสอบขึ้นฟ้าบ้าง แต่ระเบิดเสียก่อน แล้วก็มาประสบความสำเร็จที่สามารถปล่อย “เอ็กซ์พลอเรอร์ 1” ดาวเทียมดวงแรกของลุงแซมออกนอกโลกได้ในเดือน ก.พ. 2501

(** มีบางแหล่งตั้งข้อสังเกตว่า...จริงๆ แล้วยุคอวกาศอาจเริ่มต้นเร็วกว่า 4 ต.ค.2500 เพราะว่าในวันที่ 3 ต.ค.2485 จรวด เอโฟร์ (A4) ของเยอรมนี ซึ่งเป็นจรวดต้นแบบของจรวด วีทู (V-2) ได้ขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งนั่นคือวัตถุชิ้นแรกที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่งถึงอวกาศได้จริง เพียงแต่ว่าการทดลองครั้งนั้น ดำเนินการเป็นความลับ โยขณะนั้นไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนแต่อย่างใด...

...นอกจากนี้ในช่วงปี 2480-2490 (20 ปีก่อน 2500) ยังมีการจับสัญญาณวัตถุแปลกเหนือฟากฟ้า ที่มาจากทั้งของสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่เชื่อว่าออกไปแตะขอบอวกาศได้ แต่ไม่ถึงวงโคจร นั่นหมายความว่า ใครๆ ก็สามารถส่งวัตถุขึ้นไปลอยอยู่ด้านนอก จากตำแหน่งใดๆ ของโลกก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่จรวดพิสัยไกล ซึ่งทำให้โลกเราตระหนักต่อไปว่า ไม่มีที่ไหนปลอดภัยจากจรวดหรืออาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอน)

ส่วนการบันทึกยุคอวกาศจึงเริ่มต้นที่ วัตถุที่สามารถออกไปแตะวงโคจรต่ำได้

อย่างไรก็ดี ความหมายที่แท้จริงของการส่งสปุตนิกขึ้นสู่อวกาศ นอกเหนือจากชัยชนะของโซเวียต และการเปิดยุคอวกาศแล้ว ก็คือ “การเริ่มต้นยุคของการเดินทางไปยังโลกอื่น”

ทฤษฎีพื้นฐานทั้งหมดที่นำมาใช้ในการออกแบสปุตนิก ได้รับการยืนยันชัดเจนว่า สปุตนิกทั้ง 2 มีความเร็ว ตามแผนการที่กำหนดไว้ และเข้าสู่วงโคจรด้วยความแม่นยำสูงมาก

การออกไปล่องลอยนอกโลกอาจมองดูเหมือนเพ้อฝัน แต่การส่งสปุตนิกของโซเวียตนับเป็นการทอดสะพานที่แข็งแกร่งจากโลกสู่อวกาศ เส้นทางไปยังดวงดาวถูกเปิดออกมาแล้ว แต่มนุษย์ยังต้องใช้เวลาสำหรับการเตรียมตัว เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะใช้เวลายาวนานเท่าใดก็ตาม

จากวันนั้นถึงวันนี้นับ 50 ปีที่ “ยุคอวกาศ” เดินทางมาไกลแค่ไหน ส่วนวงการอวกาศไทยอยู่ตรงไหน และสุดปลายทางที่ทอดยาวจะเป็นดาวดวงใด...ร่วมย้อนอดีต-มองอนาคต “กึ่งศตวรรษยุคมนุษย์บุกอวกาศ” ได้ที่ www.manager.co.th/science/space





รายงานชุด : กึ่งศตวรรษอวกาศ

- “มนุษย์ต่างดาว” มีจริงหรือไม่
- "เอเลี่ยน" มีกี่ชนิด
- ดาวที่เอื้อต่อ “การมีชีวิต”

- ส่องรอบโลกฉลอง "50 ปีสปุตนิก”
- "สปุตนิก" พลิกโฉมเทคโนโลยีอวกาศ
- เด็กไทยยิงจรวดขวดน้ำพร้อมทั่วโลกฉลอง 50 ปียุคอวกาศ
- เปิดโผ 10 ที่สุดในจักรวาล
- อวกาศในสายตาผู้รู้เห็น หลัง "สปุตนิก" ทะยานฟ้าเมื่อ 50 ปีก่อน
- มองนโยบาย "อวกาศไทย" ส่งธีออส–รุกธุรกิจภาพถ่ายดาวเทียม
- นานาสัตว์ “นักบินอวกาศจำเป็น” ถางทางสู่ดวงดาวของมวลมนุษย์
- 10 สุดยอดไซ-ไฟอวกาศ แนะนำโดย “ชัยคุปต์”
- อวกาศในนิยาย sci-fi ยุคมนุษย์บุกจักรวาล
- สปุตนิก : ปฐมบทแห่งยุคอวกาศ


กำลังโหลดความคิดเห็น