xs
xsm
sm
md
lg

พบดาวหางใหม่คล้าย "ฮัลเลย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สเปซด็อทคอม - นักดาราศาสตร์รายงานพบดาวหางดวงใหม่ที่พึ่งผ่านโลกไปเมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คาดอีก 4 ปีจะกลับมาอีกครั้ง นับเป็นดาวหางหายากเช่นเดียวกับ "ฮัลเลย์" ดาวหางที่โด่งดังและรู้จักกันดีว่าจะผ่านเข้ามาใกล้โลกทุกๆ 76 ปี

ยานสำรวจอวกาศโซโฮ (Solar and Heliosheric Observatory: SOHO) ยานสำรวจอวกาศที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และองค์การอวกาศยุโรปหรืออีซา (European Space Agency: ESA) ตรวจจับดาวหางที่มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นระยะเวลาที่แน่นอนเป็นครั้งแรก จากจำนวนดาวหางทั้งหมดที่โซโหพบกว่า 1,350 ดวง

เจ้าหน้าที่ของอีซาเปิดเผยว่า ดาวหางดวงใหม่นี้มีชื่อว่า พี/2007 อาร์5 (โซโห) (P/2007 R5 (SOHO)) พบครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2542 และพบอีกครั้งในเดือนเดียวกัน แต่เป็นปี 2546 ซึ่งต่อมาในปี 2548 เซบาสเตียน โฮนิก (Sebastian Hoenig) จากสถาบันดาราศาสตร์วิทยุแมกซ์ พลังก์ (Max-Planck-Institute for Radioastronomy) กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ได้ทำนายไว้ว่าดาวหาง พี/2007 อาร์5 (โซโห) จะเข้าใกล้โลกอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ย.2550 และก็เป็นจริงดังคาด

ดาวหาง พี/2007 อาร์5 (โซโห) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100-200 เมตร เป็นหนึ่งในดาวหางจำนวน 1,350 ดวงที่ยานโซโหตรวจจับได้ แต่เป็นดาวหางดวงแรกที่มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นเวลาแน่นอน สามารถทำนายได้ว่าจะโคจรเข้ามาใกล้โลกในครั้งต่อไปเมื่อไหร่ (periodic comet) ซึ่ง พี/2007 อาร์5 (โซโห) ใช้เวลา 4 ปี จึงโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ โดยดาวหางลักษณะนี้จะพบไม่บ่อยนัก ที่ผ่านมาพบแล้วทั้งสิ้น 190 ดวงจากดาวหางที่พบแล้วหลายพันดวง ที่รู้จักกันดีก็คือ ดาวหางฮัลเลย์ (Halley) ที่จะโคจรเข้ามาใกล้โลกทุกๆ 76 ปี โดยครั้งล่าสุดก็เมื่อปี 2529

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของอีซาให้ข้อมูลว่า ดาวหาง พี/2007 อาร์5 (โซโห) จะต่างจากดาวหางส่วนใหญ่ เพราะปราศจากฝุ่นผงและก๊าซห่อหุ้ม จึงไม่ปรากฏแสงสว่างส่วนหาง (coma) ให้เห็น แต่ดาวหางจะสุกสว่างและอาจสังเกตเห็นได้เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะ 7.9 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดการว่าจะเข้ามาใกล้โลกอีกครั้งในเดือน ก.ย. ปี 2554 หรืออีก 4 ปี ข้างหน้านั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น